‘ประสิทธิภาพ’ ของผู้นำ กับ ‘ประสิทธิผล’ ของวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

           คนไทยกำลังรอวัคซีน...แต่ไม่รู้ว่าชุดแรกจะมาจากไหนและมาถึงเมื่อไหร่...อีกทั้งไม่แน่ใจว่าจะแจกจ่ายอย่างไร และใครจะได้ฉีดก่อนฉีดหลัง

            เป็นการทดสอบความสามารถในด้านการบริหารของรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องใหม่และมีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง

            อีกทั้งกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลไทยยังต้องมีการบูรณาการให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ผ่านมา

            ภาษาอังกฤษมีสองคำที่เกี่ยวกับ "ประสิทธิภาพ" ในกรณีนี้

            คำแรกคือ Efficacy แปลว่าประสิทธิผล

            คำที่สองคือ Efficiency แปลว่าประสิทธิภาพ

            ความหมายคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน

            คำแรก (Efficacy) ใช้กับประสิทธิผลของวัคซีนว่าจะมีผลช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดได้มากน้อยเพียงใด

            ที่ออกมาเป็นตัวเลขตั้งแต่ 50% ถึง 90% แล้วแต่จะทดลองถึงขั้นตอนไหน ทดลองกับประชากรหมู่ใด และใช้วิธีการประเมินอย่างไร

            คำที่สอง (Efficiency) หมายถึง "ประสิทธิภาพ" ของคนที่จะต้องบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

            เป็นการระบุถึงความสามารถของมนุษย์ ในการจัดการให้วัคซีนเข้าถึงคนที่ต้องการได้เร็วที่สุดและได้ประสิทธิภาพสูงสุด

            ในความเป็นจริง ประสิทธิภาพตัวที่สองนี้สำคัญกว่าประสิทธิผลตัวแรกด้วยซ้ำ

            เพราะแม้ว่าตัววัคซีนจะมี Efficacy สูงเพียงใด แต่ถ้า  Efficiency ของคนที่บริหารจัดการต่ำ ไม่สามารถจะให้คนที่ควรจะได้รับการฉีดมีจำนวนมากพอในช่วงเวลาที่เหมาะควร ก็จะไร้ประโยชน์

            แม้จะได้วัคซีนอย่างดีมา ส่งมาตรงเวลา แต่หากการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ดีพอ ผลที่ออกมาก็จะไม่ได้ตามเป้าหมายอยู่ดี

            เช่น เดิมมีการออกข่าวว่าคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโดสแรกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ แต่ผ่านไปสองสามวันก็ออกข่าวว่ามีปัญหาการรับวัคซีนจาก  AstraZeneca เพราะเขามีปัญหากับสหภาพยุโรป

            ไปๆ มาๆ ก็ไม่รู้ว่าวัคซีน AstraZeneca จะมาถึงไทยชุดแรกเมื่อไหร่

            และหาก Sinovac ของจีนมาถึงก่อน แต่ยังไม่แน่ใจในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย (เพราะยังไม่ผ่าน อย.ของไทย) ก็ไม่แน่เช่นกันว่าจะฉีดวัคซีนจากจีนก่อนหรือไม่อย่างไร

            อีกทั้งยังมีคำถามว่านอกจาก AstraZeneca แล้ว ทางการไทยมีช่องทางอื่นที่จะได้วัคซีนมาเสริมหรือไม่อย่างไร

            ไม่ว่าจะเป็น Pfizer หรือ Moderna หรือแม้แต่ของ  Johnson & Johnson ที่เพิ่งมีข่าวคราวออกมาว่ากำลังอยู่ในกระบวนการทดลองที่ได้ผลดีในระดับหนึ่ง

            อีกทั้งก็ยังไม่มีตารางเวลาที่แน่นอนสำหรับการผลิตโดยบริษัท Siam Bioscience ของไทยเราที่มีข้อตกลงกับ  AstraZeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ที่จะเป็นศูนย์การผลิตเพื่อใช้กับคนไทยและแจกจำหน่ายไปยังเพื่อนบ้าน

            การเผยแพร่ข้อมูลของประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต่อประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา และฟังความคิดเห็นของผู้คนในกลุ่มต่างๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

            เพราะในภาวะของโรคระบาดเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าวัคซีนคือ "ความมั่นใจ" และ "ความเชื่อถือ" ในข้อมูลของทางการที่จะต้องชัดเจนและสามารถสกัดข่าวปลอมข่าวปล่อยและข่าวลือต่างๆ ที่ออกมามากมายหลายแหล่ง

            ยิ่งเมื่อเพื่อนบ้านเราเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังรอโดยไม่รู้กำหนดเวลาที่แน่นอน ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันมาที่รัฐบาลหนักยิ่งขึ้น

            ภาพของผู้นำสิงคโปร์และอินโดนีเซียฉีดวัคซีนออกทีวีให้ได้เห็นกันชัดๆ ทำให้ไทยถูกมองได้ว่าเรายังช้ากว่าเพื่อนบ้าน

            สองประเทศนี้มีความต่างกันตรงภูมิศาสตร์และจำนวนประชากรอย่างมาก...แต่ทั้งสองผู้นำก็สื่อสารให้ประชาชนของตนได้รับรู้ตลอดเวลา

            เป็นการทดสอบ "ประสิทธิภาพ" ของผู้นำ...มากกว่า  "ประสิทธิผล" ของวัคซีนแล้ว!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"