จังหวะขยับ 'พรรคตั้งใหม่'


เพิ่มเพื่อน    

 

หากโรดแมปเลือกตั้ง ก.พ.62 ไม่ขยับเลื่อนไปเสียก่อน ก็เหลือเวลาร่วม 9 เดือนถึงจะมีเลือกตั้ง แต่พรรคการเมือง-นักการเมือง ที่จะลงสนาม ก็ต้องเตรียมพร้อมกันแต่เนิ่นๆ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พ.ค. มีผลสำรวจที่น่าสนใจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ที่เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปฯ ซึ่งสำรวจจาก 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยผลสำรวจให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.52 ระบุว่า อยากให้พรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองเก่า

ขณะที่ร้อยละ 37.36 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีประสบการณ์เคยเห็นผลงานมาแล้ว และร้อยละ 5.12 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เป็นผลสำรวจที่น่าจะทำให้พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ ตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2560 คึกคัก-พอมีความหวังขึ้นมาบ้าง ทั้งพรรคที่เปิดตัว-เปิดหน้าอย่างเป็นทางการมาแล้ว หรือบางพรรคที่ยื่นเรื่องต่อ กกต.แล้ว ได้ชื่อมาแล้ว แต่ยังไม่เปิดตัว แกนนำ-คีย์แมนที่อยู่เบื้องหลังพรรคอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะที่หลายคนจับตาคือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีคนมองกันว่าจะเป็น พรรคเครือข่าย คสช.-พรรคทหาร ที่หนุนหลังบิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อันคาดว่าพรรคดังกล่าวน่าจะเปิดตัวเมื่อมีความพร้อมมากกว่านี้ โดยเฉพาะหลัง คสช.ปลดล็อกพรรคการเมือง

ยิ่งในผลสำรวจนิด้าโพลข้างต้น มีการระบุถึงเสียงสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐไว้ด้วย เพราะเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลพบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.16 ระบุว่า เป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 25.12 ระบุว่า เป็นพรรคพลังประชารัฐ และอันดับ 3 ร้อยละ 19.20 ระบุว่า เป็นพรรคประชาธิปัตย์

มันก็น่าจะทำให้ พรรคทหาร-พลังประชารัฐ มีแรงฮึดเดินหน้าเอาจริงแน่นอน แต่จะถึงขึ้นเพิ่ม Level พลังดูด มากขึ้นหรือไม่ อันนี้ยากจะวิเคราะห์

กวาดไปสำรวจความพร้อม-จังหวะขยับของแต่ละพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่กันบ้างว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร โดยเฉพาะการจัดประชุมใหญ่พรรค หลัง กกต.รับรองการจดแจ้งใช้ชื่อพรรค

อาทิเช่น พรรคพลังธรรมใหม่ พบว่า ได้มีการจัดประชุมใหญ่พรรคไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยก็เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อมีการเลือก นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงยังได้ นาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส.-อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา มาเป็นประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลพรรค ที่มีหน้าที่ป้องกันและตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองของคนในพรรค

ด้าน พรรคอนาคตใหม่ ที่เปิดตัวอย่างเปรี้ยงปร้าง กับการลงมาเล่นการเมืองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ หลานชายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่ก็พบว่าระยะหลัง กระแสการถูกพูดถึงของพรรคอนาคตใหม่ในแวดวงต่างๆ แม้แต่สังคมโซเชียลมีเดียก็เริ่มลดลง ไม่สดเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนในพรรคก็ไม่สามารถชูนโยบาย-จุดขายที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ จนทำให้หลายคนชักเริ่มสงสัยว่าหากยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ กระแสหนุน คนรุ่นใหม่-อนาคตใหม่ อาจไม่ยืนระยะไปจนถึงเดือน ก.พ.ปีหน้าได้ ถ้าพรรคไม่ปรับแท็กติกการหาเสียง

โดยพรรคอนาคตใหม่จะมีการประชุมใหญ่พรรคนัดแรกในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ค.ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตฯ

หลังช่วงที่ผ่านมา ธนาธร-ปิยะบุตร ได้พยายามพรีเซนต์ตัวเองในฐานะ คนรุ่นใหม่-ความหวังใหม่ และใช้วิธีการหาคะแนนนิยมด้วยวิธีการแบบใหม่ๆ โดยเน้นสื่อโซเชียลฯ เป็นหลัก เช่น การทำแคมเปญ ร่วมสร้างอนาคตใหม่ กับเวทีฟังเสียงอนาคต ที่มีการลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน-รับฟังปัญหาประชาชนในกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ จัดไปแล้ว 3 ครั้ง คือ ที่เชียงใหม่-อยุธยา และกระบี่ ซึ่งทุกครั้งจะมีการถ่ายทอดทาง Facebook Live ในเพจของพรรค - The Future We Want และเพจของธนาธร

                ขณะเดียวกันก็มีการจัดรายการ Facebook Live ผ่านทางเพจทุกคืนวันศุกร์ ในชื่อ คืนวันศุกร์ให้ประชาชน ที่ธนาธร-ปิยบุตร จะมาสรุปกิจกรรมของพรรคในรอบสัปดาห์ รวมถึงพูดคุยเรื่องการเมือง-เรื่องทั่วๆ ไปในรอบสัปดาห์ เป็นต้น

        ส่วนพรรคตั้งใหม่อื่นๆ ก็ขยับกันไปแล้วหลายพรรค อาทิ พลังชาติไทย ที่เดิมถูกมองว่าจะเป็นพรรคทหาร หลังมีชื่อ พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์ อดีตทีมงาน คสช. เป็นแกนนำตั้งพรรค แต่ถึงตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าคงไม่ใช่ เพราะชื่อชั้นยังห่างไกลมาก โดยพลังชาติไทยก็ประชุมกันไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเลือก พล.ต.ทรงกลดเป็นหัวหน้าพรรค ตามคาด

                พรรคตั้งใหม่ พรรคไหนจะได้ไปต่อ เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง เป็นเรื่องต้องรอดู แต่ก็ไม่แน่ อาจไม่ต้องรอถึงหลังเลือกตั้งก็ได้ เพราะที่ไปยื่นขอตั้งพรรคกันหลายสิบพรรค ถึงเวลาเลือกตั้งจริงๆ อาจลงแข่งไม่ได้ เพราะไม่พร้อม ทั้งเรื่องเงินที่ใช้หาเสียง-ตัวผู้สมัคร-การหาสมาชิกพรรค-การทำไพรมารีโหวต ที่เป็นด่านหินสำหรับพรรคตั้งใหม่พอสมควร หากพรรคไหนไม่ใช่ของจริง มีสิทธิ์อดลงแข่งชัวร์ๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"