2 ก.พ.64 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้ข้อมูล สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ของโลก หลังมีการฉีดวัคซีน ว่า ภาพรวมสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโลก โดยประเทศที่ฉีดไปเยอะแล้ว คือสหรัฐอเมริกา 28 ล้านเข็ม ในประชากร 23 ล้านคน หรือ 6.97%, จากประชากร 328 ล้านคน สหราชอาณาจักรประมาณ 9 ล้านเข็ม ในประชากร 8.38 ล้านคน หรือ 12.57% จากประชากร 66.65 ล้านคน และอิสราเอล แม้จะเป็นประเทศไม่ใหญ่มากนัก แต่มีการฉีดวัคซีนต่อประชากร 100 คน สูงที่สุดในเวลานี้ โดยฉีดไปแล้วประมาณ 4.6 ล้านเข็ม ในประชากรเกือบ 3 ล้านคน หรือ 33.44% จากประชากร 8.88 ล้านคน เท่ากับ 1ใน 3 ของประชากร รวมทั่วโลกมีการฉีกวัคซีนประมาณ 90 ล้านเข็ม ในประชากรประมาณ 45 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 30/1/2021) และข้อมูลล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้มีการฉีดทะลุ 100 ล้านเข็ม
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขจำนวนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังกล่าว ได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและภาวะแทรกซ้อน โดยส่วนใหญ่มีอาการข้างเคียงไม่รุนแรง ประกอบด้วย อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ปวดข้อ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต พบน้อยมาก สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการนำไปฉีดมากที่สุด คือ วัคซีน Pfizer ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA ซึ่งต้องฉีด 2 เข็ม จากการฉีดเข็มแรก ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น 3 สัปดาห์ต่อมาก็จะฉีดเข็มที่ 2 แต่กว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นเต็มที่ต้องรออีก 1 สัปดาห์ จึงอยากจะยืนยันว่าข้อมูลการฉีดวัคซีนทั้งหลายค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงไม่รุนแรง
“จากการเฝ้าติดตามตัวเลขประชากรที่ฉีดวัคซีนในต่างประเทศ อย่างในสหรัฐอเมริกามีการเริ่มฉีดครั้งแรกวันที่ 14/12/2020 ตั้งแต่วันที่ 6-17/1/2021 มีผู้ติดเชื้อ 2-3 แสนราย/วัน แต่ในวันที่ 25-31/1/2021ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงชัดเจน โดยมีผู้ติดเชื้อไปถึง 2 แสนราย/วัน ในส่วนของสหราชอาณาจักร ที่มีการเริ่มฉีดครั้งแรก 8/12/2020 ตั้งแต่วันที่ 6-17/1/2021 มีผู้ติดเชื้อ 5-6 หมื่นราย/วัน และในเช้าวัน 2/2/2021 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 2 หมื่นราย/วันแล้ว โดยทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่อัตราการเสียชีวิตจะค่อยๆลดลง ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะเห็นผลการฉีดวัคซีนทันที อย่างประเทศเยอรมันนี ฝรั่งเศส ที่มีการฉีดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งยังมีการฉีดวัคซีนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ จึงจะต้องมีการติดตาม” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ เสริมอีกว่า ในสหรัฐอเมริกาได้มีผลการสำรวจการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยหน่วยงาน KFF COVID-19 Vaccine Monitor ที่เฝ้าติดตามสอบถามความเห็นเรื่องการฉีดวัคซีน จากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเมื่อ 30/11-8/12/2020 ปรากฎว่ามี 15% ไม่ฉีดแน่นอน 9% ฉีดได้ ถ้าจำเป็น 39% รอดูผลว่าปลอดภัยหรือไม่ และ34% พร้อมฉีดทันที และในเดือนมกราคมปีนี้ มีคนตอบรับการฉีดวัคซีนทันทีถึง 41% และมีประชากรที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 6%
สำหรับประเทศไทย นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากมีการตั้งเป้าหมายดำเนินการฉีดวัคซีนครบทุกคน ผลคือการหาวัคซีนให้ครบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั่วโลกก็ต้องการวัคซีน ดังนั้นเป้าหมายการฉีดวัคซีนในประชากรอาจจะต้องเป็นไปตามความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงว่ามีโอกาสจะได้วัคซีนจากที่ไหนบ้าง ซึ่งไทยเองก็กำลังเร่งหาวัคซีน เพื่อให้ได้วัคซีนครบไม่เกินปลายปีนี้ ทั้งนี้ในส่วนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ได้ตกลงร่วม แอสตร้าเซนเนก้า ในการผลิตวัคซีน 26 ล้านโดส ยังคงเป็นไปตามข้อตกลง และหลังจากผลิตเสร็จก็ต้องตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพจาก อย.ด้วย และแอสตร้าเซนเนก้า ก็มีการตกลงที่จะผลิตในยุโรป 400 ล้านโดส แน่นอนว่าจะต้องมีการเร่งการผลิต
เมื่อดูแนวทางเกี่ยวกับการบริหารจัดการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่มักใช้วัคซีนมากกว่า 1 ประเภท / แบรนด์ (เช่นอังกฤษใช้ของ Pfizer, Moderna, AstraZeneca โดยไม่มีการเลือกใช้), จุดประสงค์หลักการฉีดวัคซีนไม่ได้เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ แต่เพื่อลดอัตราการระบาดของเชื้อลดความรุนแรงและการเสียชีวิต, ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติจากการติดเชื้อ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าในการติดเชื้อแล้วผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการมีอาการน้อยมีอาการมากหรือเสียชีวิต สิ่งที่รู้คือปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตการประเมินผลภายหลังการฉีดวัคซีนว่าจะป้องกันโรคได้หรือไม่ต้องใช้เวลา Post marketing Surveillance) ดังนั้นการใส่หน้ากากรักษาระยะห่างหมั่นความสะอาดมือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหน้าแน่นยังจำเป็น
“ดังนั้นการจัดหาวัคซีนหรือการเลือกวัคซีนไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้ 100% แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50% วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปีทั่วไปมีประสิทธิภาพประมาณ 50% ดังนั้นผู้ที่ได้รับการฉีดยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่จะไม่รุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต ปัจจัยสำคัญในการเลือกวัคซีนคือความปลอดภัยการบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่ยังมีคุณภาพเป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาที่สำคัญในการเลือก” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |