2 ก.พ.64 - จากกรณีกลุ่มการ์ดวีโว่ร่วมชุมนุมต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ที่หน้าสถานทูตเมียนมาในประเทศไทย จนมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นายจากการถูกทำร้ายร่างกายทั้งขว้างปาก้อนหินและใช้ท่อนเหล็กตี รวมทั้งใช้สิ่งของต่างๆเป็นอาวุธ จนทำให้ถูกตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดีผู้ต้องหา 3 ราย ทั้งนี้เนื่องจาก ผกก.สน.ยานนาวา ได้แจ้งกลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นให้เลิกตามเวลาที่กำหนดแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหากับกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ยอมเลิกการชุมนุมในเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงได้ทำการกระชับพื้นที่ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการใช้กำลังประทุษร้ายจนเกิดความวุ่นวาย ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และ ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2)
ล่าสุด นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ต้องขอศาลก่อน แม้ว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จะกำหนดว่า การจัดชุมนุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (มาตรา 10) โดยหากไม่แจ้งก่อนจะถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 14)
แต่การดำเนินการต่อการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะต้องมีการประกาศให้เลิกชุมนุมก่อน (มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1)) หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ก็จะต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม โดยศาลที่ต้องไปขอคือศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด (มาตรา 22) ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งให้เลิกชุมนุม แล้วผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจ “ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม” โดยประกาศพื้นที่ตรงนั้นให้เป็น “พื้นที่ควบคุม” และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ในเวลาที่กำหนด (มาตรา 23) เมื่อเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ถึงจะไปจับกุม และดำเนินการอื่นๆ ให้เลิกชุมนุมได้ (มาตรา 24)
แล้วสำหรับ การชุมนุมที่หน้าสถานทูต จริงๆ แล้วพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่กำหนดว่า “ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่” (มาตรา 8(4)) และหากมีการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ก็ต้อง “ประกาศให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด” ก่อน (มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(2)) หากผู้ชุมนุมไม่แก้ไข ถ้าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไปก็ต้องไปขออำนาจศาลก่อนเช่นกัน
ว่าง่ายๆ คืออยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมเลยไม่ได้ แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่แจ้งก่อน หรือเป็นการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายคือ 1 ต้องมีคำสั่งให้เลิกชุมนุมก่อน 2 ต้องไปขอศาลให้มีคำสั่งให้เลิกชุมนุม ต่อเมื่อศาลสั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก จึงจะ 3 ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม โดย 4 ต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมและกำหนดเวลาให้ออกจากพื้นที่ก่อน เมื่อเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ ถึงจะไปจับกุมได้ครับ
เพราะตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คือ ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นก่อน โดยการสลายการชุมนุมต้องเป็นวิธีท้ายที่สุด และดังนั้นจึงต้องยากที่สุด คือต้องไปขอศาลก่อน จนบางท่านสงสัยว่ามัวแต่ต้องไปขอศาลก่อนจะไปทันเวลาได้อย่างไร ก็สงสัยไม่ผิดหรอกครับ เพราะการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ หรือไม่ค้างคืน ไม่ยืดเยื้อ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะไม่ต้องการให้ไปสลายครับ เพราะเค้าไม่ได้ยืดเยื้อและเลิกกันเองอยู่แล้ว การสลายการชุมนุมจึงใช้เฉพาะการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ไม่ยอมเลิกเท่านั้นครับ
แล้วถ้าจะบอกว่าสถานการณ์ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ต้องใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อันนี้ก็ไม่ถูกครับ เพราะการชุมนุมที่ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เป็นแค่ประเด็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การควบคุมหรือสลายก็ต้องทำตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะอยู่ดีครับ และถ้าหากจะอ้าง พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ผมก็ขอให้เจ้าหน้าที่ดูมาตรา 17 ของ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินด้วยครับ คือการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้อง “ไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น” ครับ
เจ้าหน้าที่รัฐมักจะเรียกร้องให้ประชาชนทำตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามกฎหมายด้วยเช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และรวมถึงในวันนี้ที่มีการสลายการชุมนุมและจับกุมโดยไม่ไปผ่านศาลและทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายก่อน ผมเห็นว่า #เจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดกฎหมาย และสำหรับตามภาพนี้ผมเห็นว่า #ทำเกินกว่าเหตุด้วยครับ
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก กปปส.ลุมพินี ได้โพสต์รูปประจานกลุ่มการ์ดวีโว่ใช้ก้อนหินและสิ่งของขว้างปาเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมระบุว่า "สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |