"ประธานวิปรัฐบาล" เผยเปิดซักฟอก 16-19 ก.พ. วางกรอบอภิปรายข้ามคืนไม่เกินตีสอง พร้อมตั้งวอร์รูมพรรคร่วมรัฐบาลไว้โต้ฝ่ายค้าน "แรมโบ้อีสาน" ซัดแหลก การอภิปรายครั้งนี้เป็นญัตติที่อัปยศอดสูมากที่สุด มีการใช้ภาษาไม่สุภาพ หยาบคาย จาบจ้วงสถาบัน เตือนหนังม้วนเก่าย้อนยุค คสช. มี ส.ส.ไว้ทำไม "จตุพร" สงสัยจะไม่มีการอภิปรายตามกำหนดเพราะมีแปลกๆ หลายเรื่อง
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านว่า ในวันที่ 2 ก.พ.จะได้รับคำตอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะพร้อมมาชี้แจงในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อใด เมื่อทราบแล้วจะได้หารือร่วมกับนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่ 1 ที่ดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งฝ่ายค้านด้วย ดังนั้นจึงต้องรอผลการประชุมว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคร่าวๆ คือวันที่ 16-19 ก.พ.
ประธานวิปรัฐบาลเผยว่า การอภิปรายในแต่ละวันจะข้ามเที่ยงคืนไปแล้วอาจจะถึงเวลา 02.00 น.สองวัน เพื่อจะให้ระยะเวลาชั่วโมงใกล้เคียงกัน ส่วนวันสุดท้ายจะต้องเผื่อเวลาไว้ โดยจะหยุดการอภิปรายประมาณเวลา 21.00 น. โดยฝ่ายค้านจะต้องสรุปให้เสร็จและฝ่ายรัฐบาลต้องตอบให้เสร็จ อาจจะเลยไปเล็กน้อยถึง 22.00 น.ก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องไม่เกินเวลา 24.00 น.เพื่อลงมติในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้พยายามให้ฝ่ายค้านอภิปรายให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องตกลงร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงวอร์รูมรัฐบาลจะมีการตั้งเป็นพรรคร่วมหรือของแต่ละพรรค นายวิรัชชี้แจงว่าคงจะต้องรวมกัน เพราะต้องใช้เวลาที่ต้องอยู่ในกรอบ ฉะนั้นรัฐมนตรีคนใดที่ถูกอภิปรายก็จะรู้ว่ามีกรอบในการตอบโดยใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ เช่นหากรัฐมนตรีคนหนึ่งถูกอภิปราย 2 ชั่วโมง แล้วจะตอบเสร็จหรือไม่ภายใน 1 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงขึ้น และต้องคุยกับฝ่ายค้านด้วยว่าในการอภิปรายจะต้องเสร็จเป็นคนๆ ไป ไม่ใช่อภิปรายย้อนกลับมาอีก อย่างนี้ไม่ได้ เพราะตัวรัฐมนตรีก็ต้องเตรียมการตอบโดยตอบทีเดียวให้ชัดเจน ซึ่งการตอบแต่ละครั้งของรัฐมนตรีถือว่ามีเวลาเพียงพอในการอธิบายข้อสงสัยให้รับทราบ
ขณะที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือ สสอ. ครั้งที่ 1/2564 ว่า ในนามคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีเห็นตรงกันว่า การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องทำหน้าที่ในมติการเมือง ต้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสนับสนุน เพื่อให้เห็นว่าผู้ช่วยรัฐมนตรีมาจากทุกพรรค ร่วมกันรับผิดชอบ แต่ไม่ได้เป็นการสั่งการจากนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
เขากล่าวว่า คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีชุดนี้จะทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้รัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปราย และมองว่าสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง แต่ในฐานะทีมวอร์รูมนอกสภากังวลว่า ญัตติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นการกล่าวเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริง และเสียงประชาชนไม่เห็นด้วยที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีการเรียกร้องให้แก้ไขญัตติดังกล่าว และมองว่าบางพรรคมีจุดประสงค์บิดเบือนให้ร้ายสถาบัน จึงมีการตั้งทีมกฎหมายนำโดยนายทศพล เพ็งส้ม ฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ หากมีการอภิปรายพาดพิงสถาบันในทางเสียหาย จะให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบและดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตามมตรา 112 กับผู้อภิปรายทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อภิปรายคนต่อไปทำผิดซ้ำ
"ตั้งแต่ผมทำงานการเมืองมา การอภิปรายครั้งนี้เป็นญัตติที่อัปยศอดสูมากที่สุด เป็นการใช้ภาษาไม่สุภาพ หยาบคาย จาบจ้วงสถาบัน กล่าวหาเป็นเท็จ ขออย่าได้อภิปรายก้าวล่วงสถาบัน และอย่าอภิปรายย้อนอดีตให้มาก เพราะเป็นการเมืองไม่สร้างสรรค์ อย่างการย้อนไปในยุค คสช. เหมือนการฉายหนังม้วนเก่า จะมี ส.ส.ประท้วง เสียเวลา ประชาชนไม่อยากเห็นบรรยากาศเช่นนั้น"
เจ้าของฉายาแรมโบ้อีสานกล่าวว่า ในกรณีมีการพาดพิงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายดูว่ามีหลักฐานอันเป็นเท็จต่อรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง ก่อนมอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายไปร้องทุกข์ พร้อมย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อข่มขู่ แต่ต้องการเห็นบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ต้องการให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับการอภิปรายสไตล์เดิมของนักการเมืองน้ำเน่าในอดีต และอาจมีเวทีแถลงข่าวตอบโต้การบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือการใส่ร้ายป้ายสี
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของคณะทำงานไม่ได้มีเพียงการเฝ้าระวังการอภิปรายจาบจ้วงสถาบันเท่านั้น แต่รวมถึงการเก็งข้อสอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องเเม่นยำ โดยไม่ได้แยกเป็นพรรค แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกพรรค และยกระดับมาตรฐานการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนจะตั้งวอร์รูมที่ใดนั้นยังอยู่ระหว่างการหารือ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านว่า ต้องอภิปรายตามข้อกล่าวหาให้เต็มที่เพราะประชาชนจะตัดสิน เนื่องจากเสียงในสภาไม่มีความหมาย แต่มีข้อสงสัยว่าการไม่อภิปราย รมว.พลังงาน ที่มีผลประโยชน์เอื้อทุนผูกขาด ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลแล้ว ย่อมมองเห็นตัวละครชื่อเล่น ก.มีบทบาทสำคัญต่อการประสานประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ยังมีความกังขาว่าฝ่ายค้านจะได้อภิปรายหรือไม่ ตนไม่แน่ใจลึกๆ ว่าจะไม่ได้อภิปรายตามกำหนดแล้วหมดสมัยประชุม เพราะมีสิ่งที่แปลกๆ อยู่หลายเรื่อง การเขียนญัตติที่อีกฝ่ายรับลูกต้องตีความ ตนอยู่ในมิติการเมืองในเรื่องร้ายๆ มาตลอดชีวิต เจอการหลอกลวงมามากมาย จึงว่าในทางการเมืองมีความแปลกๆ เข้าข่ายน่าสงสัยว่ามีความผิดปกติกันเยอะ
วันเดียวกันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้ส่งจดหมาย EMS ขอให้ ป.ป.ช. สอบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สืบเนื่องจากนายชวน ในฐานะประธานรัฐสภา ออกประกาศตั้ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นกรรมการสมานฉันท์ ตามประกาศรัฐสภา ลงวันที่ 11 ม.ค.64 ซึ่งเป็นประกาศของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น จะเป็นการใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เนื่องจากตามประกาศดังกล่าวอ้างว่าอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ แต่เมื่อไปพิจารณาเนื้อหาที่บัญญัติในมาตราดังกล่าว ไม่มีข้อความใดที่ให้อำนาจไว้โดยตรงเพื่อตั้งกรรมการแต่อย่างใด
นายเรืองไกรกล่าวว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญไว้ด้วย การตั้งกรรมการใดๆ จะมีแต่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งให้อำนาจประธานตั้งกรรมการได้ตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น พล.อ.ชัยชาญไม่ใช่ ส.ส. และตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2551 เคยวางบรรทัดฐานไว้แล้วในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ห้าม ส.ส.ไปเป็นกรรมการในฝ่ายบริหาร ตามหลักการดังกล่าว รัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส.ก็ต้องไม่ไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย การที่นายชวนตั้งรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส.ให้มาเป็นกรรมการในฝ่ายนิติบัญญัติ จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ดังนั้นการอ้างมาตรา 80 วรรคสี่ จึงอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ซึ่งอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.
นายเรืองไกรยังกล่าวว่า เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่ว่า กรรมการสมานฉันท์ได้ประชุมไปแล้วสองครั้งเมื่อวันที่ 18 และ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าวคงมีการจ่ายเบี้ยประชุมด้วย ซึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน หากไม่ชอบก็ต้องมีการเอาผิดตามกฎหมายและเรียกคืนเงินที่รับไปแล้ว ซึ่งถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ด้วยเหตุนี้ตนจึงมีเหตุผลที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตราที่เกี่ยวข้องดังกล่าวหรือไม่
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า นายชวนแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ทุกประการ ไม่มีอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะมาตรา 184 ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภา หรือเป็นกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
"นายเรืองไกรควรแยกให้ออกคำว่าประโยชน์ของส่วนรวมกับประโยชน์ของส่วนตน หากการใช้ตำแหน่งไปในทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแสวงหาประโยชน์ นั่นคือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่กรรมการสมานฉันท์เป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของประเทศ พล.อ.ชัยชาญเข้าทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศ ต่างจากนายเรืองไกรที่ร้องดังกล่าวก็จะถือว่าเป็นการร้องที่ขัดต่อประโยชน์ของประเทศหรือไม่ ประชาชนดูออกและตัดสินได้" เลขานุการประธานรัฐสภากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |