รัฐประหารเมียนมา กองทัพประกาศฉุกเฉิน1ปี/3นิ้วบุกสถานทูตปะทะตร.เจ็บนับสิบ


เพิ่มเพื่อน    

  กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารควบคุมตัว "อองซาน ซูจี" ตั้งแต่เช้ามืด อ้างการทุจริตเลือกตั้ง และประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปีพร้อมคำมั่นจัดเลือกตั้งใหม่ หลังจากนั้นทั่วโลกรุมประณาม-จี้ทหารเคารพผลเลือกตั้ง "เอ็นแอลดี" เผยแพร่แถลงการณ์ที่ซูจีเตรียมไว้ล่วงหน้าเรียกร้องประชาชนออกมาประท้วงต่อต้าน ขณะที่ "ก๊วน 3 นิ้ว" เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่รับรองรัฐประหารพร้อมปล่อยตัว  "อองซาน" "โตโต้-เพนกวิน-รุ้ง" นำม็อบบุกสถานทูต  "เจี๊ยบ-ธนาธร-ช่อ" ผสมโรงด้วย เกิดปะทะกับ ตร.มีเสียงระเบิดดัง ตร.เจ็บ 10 นาย รวบผู้ชุมนุม 4 รายไปสอบปากคำหลังสลายม็อบ

    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างคำกล่าวของมโย  ญุน โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ว่า ทหารเมียนมาได้เข้าควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี  มนตรีแห่งรัฐวัย 75 ปี ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา และประธานาธิบดีวิน มยิน ที่กรุงเนปยีดอ ตั้งแต่เช้ามืดของวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่รัฐสภาเมียนมาจะเปิดการประชุมนัดแรก
     การจับกุมนางซูจีรวมไปถึงสมาชิกพรรคและนักเคลื่อนไหวอีกหลายรายในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการคาดเดาว่ากองทัพเมียนมาตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน หลังจากมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ นับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่พรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนสนับสนุนมากกว่า 80% แต่กองทัพไม่ยอมรับโดยอ้างว่าพบความผิดปกติจำนวนมากของรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่า 10 ล้านคน
    บรรยากาศภายในเมืองหลวงของเมียนมา กองทัพวางกำลังทหาร รถบรรทุกทหาร และยานลำเลียงพลหุ้มเกราะปิดกั้นถนนสายต่างๆ รอบกรุงเนปยีดอ เฮลิคอปเตอร์ทหารหลายลำบินไปทั่ว สัญญาณโทรศัพท์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและนครย่างกุ้งถูกรบกวน  สถานีโทรทัศน์ของทางการหยุดการแพร่ภาพ ส่วนที่นครย่างกุ้งประชาชนแห่กันไปตลาดเพื่อซื้อสินค้ากักตุนและต่อแถวถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม โดยธนาคารต่างระงับบริการเนื่องจากปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มีรายงานว่าทหารได้เข้าควบคุมศาลากลาง
     ต่อมากองทัพเมียนมาประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์เมียวดีของกองทัพ ยืนยันว่ากองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาลพลเรือน พร้อมกับประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี และได้แต่งตั้งพลเอกมยิน ซเว รองประธานาธิบดี รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี ตลอดเวลาการแถลงของกองทัพนั้นได้ให้เหตุผลของการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศเนื่องจากการทุจริตเลือกตั้ง
     แถลงการณ์ที่ลงนามโดยพลเอกมยิน ซเว กล่าวว่า  คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ยูอีซี) ล้มเหลวในการแก้ไขความผิดปกติครั้งใหญ่ของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคการเมืองที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8  พฤศจิกายน 2563
     "เนื่องจากสถานการณ์ต้องได้รับการแก้ไขตามกฎหมาย จึงต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน" คำแถลงกล่าวและว่า ความรับผิดชอบด้าน "นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ"  ถูกส่งมอบให้แก่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
     คำแถลงที่เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของกองทัพเมียนมากล่าวด้วยว่า กองทัพจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายหลังพ้นระยะภาวะฉุกเฉินแล้ว "เราจะดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง ด้วยความสมดุลและเป็นธรรมอย่างเต็มที่" กองทัพเมียนมาให้คำมั่น
ซูจีเรียกร้องต้านรัฐประหาร
     ด้านนางซูจีได้จัดทำแถลงการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะโดนทหารเข้าควบคุมตัว โดยประณามว่า "การกระทำของทหารเป็นการกระทำที่ทำให้ประเทศกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ" ถ้อยแถลงนี้เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊กของวิน เทน ประธานพรรคเอ็นแอลดี ที่เขายืนยันว่าเป็นของจริง แม้นางซูจีจะไม่ได้ลงนามกำกับชื่อท้ายแถลงการณ์ไว้ ยังเรียกร้องให้ประชาชนชาวเมียนมาออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
     หลังการยึดอำนาจ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีในย่างกุ้งรายงานว่า เห็นรถกระบะหลายคันขนผู้สนับสนุนทหารที่โบกธงชาติและแผดเสียงเพลงชาตินิยมพาเหรดไปตามท้องถนน ขณะที่สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีบางคนบอกว่ากองกำลังความมั่นคงสั่งห้ามพวกเขาออกจากบ้าน เอเอฟพีรายงานด้วยว่า มุขมนตรีรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมนตรีในระดับท้องถิ่นอีกหลายคนโดนควบคุมตัว
     การก่อรัฐประหารเกิดขึ้นภายหลังมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพที่เคยกุมอำนาจปกครองเมียนมานาน 49 ปี กับรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจีที่ขึ้นเป็นรัฐบาลพลเรือนในปี 2554
     รัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ร่วมในแถลงการณ์ฉบับนี้ด้วย กล่าวประณามการก่อรัฐประหารทันที เจน ซากี  โฆษกทำเนียบขาว ออกแถลงการณ์เมื่อคืนวันอาทิตย์ตามเวลากรุงวอชิงตันว่า สหรัฐอเมริกาคัดค้านความพยายามใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา และจะดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบหากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ย้อนกลับ สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้กองทัพและทุกฝ่ายยึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมในวันนี้
     ส่วนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลและแกนนำภาคประชาสังคมทุกคน และเคารพเจตจำนงของประชาชาวเมียนมาตามที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน
     สถานทูตสหรัฐอเมริกาในนครย่างกุ้งออกคำเตือนพลเมืองอเมริกันในเมียนมา ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและทางสังคม
     สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกของอันโตนีโอ กูเตอร์เรส  เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณามอย่างรุนแรงต่อการควบคุมตัวนางซูจี, ประธานาธิบดีวิน มยิน  และผู้นำคนอื่นๆ ส่วนชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ประณามรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายทุกคน "ผลการเลือกตั้งต้องได้รับการเคารพ และกระบวนการประชาธิปไตยต้องได้รับการฟื้นฟู" เขากล่าว
     รัฐบาลจีนปฏิเสธจะวิจารณ์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยหวัง  เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า จีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของเมียนมา จีนหวังว่าทุกฝ่ายจะแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง ส่วนรัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียกำลังติดตามสถานการณ์ในเมียนมา แต่ยังเร็วไปที่จะให้การประเมิน
     รัฐบาลอีกหลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ หรือแสดงความกังวลอย่างยิ่งและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว อาทิ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา,  อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคอาเซียนกับเมียนมา เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรียกร้องให้หาทางออกอย่างสันติ แต่ไทยและฟิลิปปินส์แสดงจุดยืนไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของเพื่อนบ้าน
ไทยเชื่อไม่ส่งผลกระทบ
    ส่วนในประเทศไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาจะส่งผลกระทบถึงไทยหรือไม่ว่า เป็นเรื่องภายในของเขา ส่วนจะกระทบไทยหรือไม่ก็เป็นเรื่องของโควิด-19 อย่างเดียว ส่วนกรณีที่จะมีม็อบไปชุมนุมประท้วงที่สถานทูตเมียนมาเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของม็อบ และไม่ทำให้กระทบความสัมพันธ์ เป็นเรื่องของสถานทูตของเขา
    ส่วนกรณีที่กลุ่มวีโวประกาศจะไปร่วมประท้วงที่หน้าสถานทูตเมียนมา เป็นการส่งสัญญาณว่าไม่เอารัฐประหาร  คล้ายกับโยงเหตุการณ์มายังประเทศไทย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "โยงยังไง แล้วของเรามีเหตุการณ์อะไร มีเหตุการณ์หรือไม่ มีสถานการณ์อะไรที่มันเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวอะไรเลย ส่วนจุดยืนของรัฐบาลไทย เดี๋ยวต้องดูก่อน"
     พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 (มทภ.3)  กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการใหัติดตามสถานการณ์ในเมียนมา  ทางชายแดนไทย-เมียนมามีกองกำลังทหารไทยตรึงกำลังอยู่แล้ว ในการป้องกันการลักลอบข้ามแดนผิดฎหมายในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หากประชาชนจากเมียนมาทะลักข้ามเขตไทยเข้ามาก็จะถูกควบคุมตัว แต่คาดว่าคงไม่ถึงขั้นทะลักข้ามมายังฝั่งไทย จึงไม่ต้องกังวล
    ส่วนความเห็นของฝ่ายการเมือง พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และเรียกร้องต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประชาคมระหว่างประเทศและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ดังนี้ 1.ให้ช่วยกันกดดันกองทัพเมียนมาให้ปล่อยตัวนางซูจี, ประธานาธิบดีวิน มินต์ และผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข 2.ให้ช่วยกันกดดันกองทัพเมียนมาไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนเมียนมาที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร และต้องยุติการปิดกั้นการสื่อสารทุกชนิด 3.ให้พรรคการเมืองและรัฐบาลต่างๆ มีมาตรการคว่ำบาตรคณะรัฐประหารเมียนมาทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "รัฐประหารครั้งนี้ ชัดเจนว่ากองทัพทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง กลัวการถูกปฏิรูปจนต้องทำรัฐประหาร ขอร่วมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมาทุกคน เรียกร้องประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ และหวังว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ยอมรับรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการปล้นชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จะเคยขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีเดียวกันมาก่อนก็ตาม ผมละอายใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยในตอนนี้ไม่อาจทำหน้าที่ประทีปแห่งประชาธิปไตยของอาเซียนได้เหมือนกับที่เคยเป็น เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้สำหรับคนรุ่นต่อไป เราทุกคนมีภารกิจที่จะต้องช่วยกันประณามการรัฐประหาร อย่าให้พื้นที่แก่เผด็จการ"
จี้ปล่อยตัว 'อองซาน'
    ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์เช่นกันว่า "#SaveMyanmar ตอนนี้รอดูว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างไรกับสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา 1.ออกแถลงการณ์ประณามเรียกร้องให้ทหารคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนเร็วที่สุด 2.ไม่มีแถลงประณาม โดยอ้างว่าไม่แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้าน"
    ส่วนกลุ่มสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  เป็นแกนนำ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ระบบอำนาจนิยม และการสืบทอดอำนาจแบบอำนาจนิยม  ไม่ต้องการเห็นประชาชนชาวเมียนมาต้องมีชะตากรรมเหมือนคนไทยที่เผชิญกับการรัฐประหารและอำนาจนิยมมาเกือบหนึ่งศตวรรษ
    มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า การจับกุมอองซาน ซูจี  เจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมืองคนอื่นๆ เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง ซึ่งหากไม่มีการตั้งข้อหาต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามความผิดอาญาอันเป็นที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องปล่อยตัวบุคคลเหล่านั้นโดยทันที และทางการจำเป็นต้องมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่อีกครั้งโดยทันที
    กลุ่ม "ราษฎร" หรือม็อบ 3 นิ้ว ออกแถลงการณ์แสดงการต่อต้านและประณามการทำรัฐประหารในเมียนมาเช่นกัน โดยให้ปล่อยตัวนักการเมืองและผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด หยุดการกระทำที่ล้มล้างอำนาจอันชอบธรรมของประชาชน และส่งคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวเมียนมาอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด และเรียกร้องไปยังประชาคมอาเซียนให้ออกมาแสดงบทบาทสนับสนุนประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
    ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่บริเวณสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา เขตยานนาวา กรุงเทพฯ มีกลุ่มชาวเมียนมาไม่ต่ำกว่า 50 คน เดินทางมาชุมนุมประท้วงการทำรัฐประหารของกองทัพ โดยส่วนใหญ่สวมชุดสีแดง บางส่วนชู 3 นิ้ว  สวมหมวกและหน้ากากอนามัยที่มีสัญลักษณ์พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พร้อมถือรูปนางอองซาน ซูจี ในการประท้วงครั้งนี้ด้วย
    ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวาได้นำรั้วแผงเหล็กมาวางแนวป้องกันที่ด้านหน้าสถานทูตเมียนมาไว้ เนื่องจากกลุ่มมวลชนอาสา หรือ We Volunteer จะเดินทางมาแสดงจุดยืนที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา  โดยมีนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ด wevo, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 63, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือเจี๊ยบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล,  นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า มาร่วมชุมนุมเช่นกัน
สลายม็อบ 3 นิ้วหน้าสถานทูต
    จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในเมียนมา และเรียกร้องประเทศไทยจะต้องไม่รับรองการทำรัฐประหาร หยุดการจับกุมคุมขังประชาชน และเร่งคืนประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี
    ด้านนายพริษฐ์กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงบริเวณหน้าสถานทูตว่า ขอร่วมต่อสู้เพื่อพิสูจน์ระบบประชาธิปไตยที่ไม่มีพรมแดน การรัฐประหารเปรียบเหมือนมะเร็งร้าย หากมีทหารคอยยึดอำนาจ ประเทศจะอยู่ในวังวน เราไม่ต้องการให้พี่น้องประเทศใดเผชิญเหมือนประเทศไทย ต้องการประชาธิปไตยสำหรับทุกชาติ
    ต่อมาบรรยากาศการชุมนุมเริ่มร้อนแรงขึ้น เมื่อกลุ่มม็อบราษฎรขนมวลชนเข้ามาชุมนุมมากกว่าชาวเมียนมาที่มาประท้วง ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมที่มาสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และกินพื้นที่บนผิวการจราจรถนนสาทร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประกาศขอให้ยุติ แต่การ์ด wevo ของม็อบราษฎรที่นำโดยนายปิยรัฐไม่ยอมเลิก ทั้งยืนกรานจะชุมนุมต่อ
    กระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมโล่และกระบอง จึงได้เข้าสลายการชุมนุมม็อบราษฎร ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างตำรวจกับกลุ่ม wevo โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ข้าวของต่างๆ  ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ ขณะที่ตำรวจเคลื่อนขบวนบีบกระชับพื้นที่ และเกิดเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนบาดเจ็บ 2 นาย ขณะเดียวกันตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ 3 คน พร้อมเดินหน้ากระชับพื้นที่ไปบนถนนสาทร ผลักดันผู้ชุมนุมไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์  จนเกิดการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่และมีการขว้างระเบิดควันสีใส่ตำรวจด้วย
    ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาขอคืนพื้นที่ แล้วมีเสียงดังคล้ายวัตถุระเบิดขึ้น 3-4 ครั้ง ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 10 นาย  จากการถูกขว้างปาหินและสิ่งของใส่ ทั้งนี้สามารถคุมตัวผู้ชุมนุมได้ 3-4 ราย ก่อนนำตัวไปสอบปากคำที่ สน.ยานนาวาว่าจะเข้าข่ายความผิดใดหรือไม่ เบื้องต้นเข้าข่ายความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนความผิดเช่น การรวมกลุ่มมั่วสุมเกิน 10 คน ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และอื่นๆ นั้นต้องดูข้อเท็จจริงประกอบด้วย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"