เหตุเกิดที่เมียนมา!


เพิ่มเพื่อน    

 

      ผมตื่นเช้าเมื่อวานพร้อมกับข่าวรัฐประหารที่เมียนมา...ด้วยความรู้สึกรันทดแทนเพื่อนบ้านที่กำลังเผชิญกับปัญหาหลายซับหลายซ้อน

            ไม่ใช่เรื่องเกินคาด แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิด

            เพราะการยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพเมียนมาในยุคสมัยนี้เป็นการถอยหลังครั้งใหญ่สำหรับประเทศที่กำลังดิ้นรนต่อสู้ เพื่อก้าวเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างชาติบ้านเมือง

            ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว กองทัพเมียนมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องรัฐประหาร และออกแถลงการณ์หลอกชาวบ้านว่าจะ “ปกป้องรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่”

            เช้าตรู่เมื่อวานทหารก็เข้า “ขอพบ” อองซาน ซูจี และผู้นำรัฐบาล พร้อมเชิญตัวไปให้เข้าสู่การ “ควบคุมตัว”

            ต่อมาอีกไม่กี่ชั่วโมง กองทัพก็ประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี แต่งตั้ง พล.อ.มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี เป็นประธานาธิบดี

            ประกาศทางการออกข่าว “สำนักข่าวเมียวดี” ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของกองทัพบอกว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกอาวุโส “มิน อ่อง หล่าย” ได้เข้ารักษาอำนาจรัฐแล้ว

            แถลงการณ์บอกว่าการต้องควบคุมตัวบุคคลสำคัญของรัฐบาลเกิดจาก “ความไม่มั่นคงทางการเมือง” เพราะพบ “ความผิดปกติ” ในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

            ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม พล.อ.มินต์ ส่วย จึงกลายเป็นตัวละครสำคัญในเกมการเมืองรอบใหม่ของเมียนมา

            เขาเป็นพันธมิตรคนสำคัญของ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา

            เขาเป็นรองประธานาธิบดีอันดับหนึ่งในโควตาของทหาร และกำลังจะกลายเป็น “ตัวแทนแห่งอำนาจของกองทัพ” ในโครงสร้างรัฐประหารใหม่

            เมื่อตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเช่นนี้แล้ว นายพลมิน อ่อง หล่าย กำลังต้องเสี่ยงกับแรงกดดันจากหลายด้าน

            แถลงการณ์ออกจากทำเนียบขาวเกือบจะทันที เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมและให้กลับสู่กระบวนการประชาธิปไตย

            "สหรัฐฯ คัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งทั่วไปหรือกระทำการขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และสหรัฐฯ จะดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหากไม่ยุติการกระทำดังกล่าว" เจน ซากี โฆษกหญิงของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ที่ใช้ภาษาค่อนข้างจะดุดัน

            เพราะต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาเมื่อปี 2015 นั้นเกิดขึ้นในยุคสมัยที่บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี และโจ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดี

            วันนี้ไบเดนเป็นประธานาธิบดี พร้อมตอกย้ำนโยบายปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองในเครือข่ายของประเทศที่เป็นพันธมิตร

            “รักษาการประธานาธิบดี” มินต์ ส่วย คนนี้เป็นอดีตนายทหาร ปีนี้อายุ 69 เข้าข่ายเป็น “สายเหยี่ยว” ไม่ต้องสงสัยว่ามีความแนบแน่นกับกองทัพอย่างมาก

            ที่สำคัญเขามีความสนิทชิดเชื้อกับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร

            เขาเป็น 1 ใน 3 ผู้เสนอตัวแข่งขันชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ในฐานะเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ แต่ก็แพ้โหวตในสภาให้ถิ่น จอว์ ของพรรค NLD

            ถิ่น จอว์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในรอบ 50 ปี

            หลังอองซาน ซูจี นำพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 อย่างท่วมท้น

            ย้อนกลับไปจะเห็นว่า มินต์ ส่วย เคย “รักษาการประธานาธิบดี” เมื่อปี 2018 หลังจากที่ถิ่น จอว์ ขอก้าวลงจากตำแหน่งเพราะต้องการพักผ่อน

            ที่น่าวิเคราะห์คือ กองทัพเกิดเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายที่ต้องยึดอำนาจเพราะต่อรองกับอองซาน ซูจี ให้เลื่อนการเปิดสมัยประชุมสภาเมื่อวานนี้หรือไม่

            เพราะแม้ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพก็ยังออกแถลงการณ์ตอบโต้บรรดานักการทูตต่างชาติในเมียนมา

            แถลงการณ์นั้นเรียกร้องให้นักการทูตอย่าตีความอะไรผิด เพราะกองทัพยัง “เคารพในรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่”

            ข้อความของแถลงการณ์จากกองทัพวันนั้นขอให้นานาชาติเข้าใจกองทัพที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า "เป็นเรื่องปกติ"

            โดยอ้างว่า กองทัพกำลังตรวจสอบตัวเลขและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างๆ ที่ทางกองทัพได้เปิดเผยกับสื่อในประเทศและต่างชาติได้ตรวจสอบเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา

            แถลงการณ์นั้นอ้างว่ากองทัพคือผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ยึดตามแนวทางประชาธิปไตย และขอร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาลที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำให้แสดงผลนับคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

            กองทัพอ้างว่าถึงเมื่อวาน (กำหนดเปิดสมัยประชุมรัฐสภา) กกต.ยังไม่มีผลนับคะแนนออกมา

            มิหนำซ้ำยังอ้างว่ากองทัพคือผู้ที่กำหนดเส้นทางให้ประเทศเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2008 ซึ่งได้วางแนวทางการปฏิรูปอย่างเป็นขั้นตอน และการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

            อะไรจะตามมาในเมียนมาเป็นเรื่องน่าติดตามมาก เพราะจะมีผลกระทบต่อไทย, อาเซียน และท่าทีของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ, จีน, อินเดีย และในเวทีสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"