"อัยการธนกฤต" แนะแก้ระเบียบมหาดไทยทางออกปัญหาเรียกคืนเบี้ยคนชรา ชี้ผู้สูงอายุมีสิทธิ์รับทั้งเบี้ยยังชีพและบำนาญพิเศษโดยให้มีผลย้อนหลัง "จุติ" ปลอบอย่ากังวล ส่งทนายช่วยเจรจาให้ทุกกรณี
เมื่อวันที่ 31 มกราคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับทางออกปัญหาเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตอนหนึ่งว่า การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้มีสิทธิ์รับเงินน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ เดิมระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ไม่ได้กำหนดข้อห้ามว่า ผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องไม่เป็นผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อห้ามดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยมากำหนดในภายหลังไว้ในข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพิจารณาจากความสูงอายุของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงิน การได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การจ่ายเงินบํานาญพิเศษพิจารณาจากการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวที่รับราชการ หรือการทุพพลภาพของข้าราชการจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นสิทธิพิเศษเพิ่มเติมที่เงินทั้ง 2 ประเภทนี้จึงไม่น่าจะซ้ำซ้อนกัน ซึ่งผู้สูงอายุน่าจะควรได้รับเงินทั้ง 2 ประเภทนี้ไปพร้อมๆ กันได้ จึงมีข้อน่าพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ ด้วยการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถึงแม้จะได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่แล้ว และให้ระเบียบที่แก้ไขนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงผู้สูงอายุที่สุจริต ซึ่งได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควบคู่ไปกับเงินบำนาญพิเศษก่อนระเบียบใช้บังคับด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องการเงิน การคลัง และงบประมาณ จึงควรต้องให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังร่วมพิจารณาในรายละเอียดและให้ความเห็นชอบในการแก้ไขระเบียบนี้ และอาจจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย
หากภาครัฐมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ไม่อยากซ้ำเติมสร้างภาระความเดือดร้อนให้แก่ผู้สูงอายุที่สุจริต ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะยากจน ควรจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศงดการเรียกร้องให้ผู้สูงอายุจ่ายเงินคืนไปก่อน และภาครัฐควรรีบดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่ผู้สูงอายุได้รับที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐคงไม่อาจปฏิเสธการมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
ทางด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะให้กรมกิจการผู้สูงอายุขอความร่วมมือจากสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย และพัฒนาสังคมจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งนักกฎหมายไปให้คำปรึกษาหารือกับผู้สูงอายุทุกคน โดยจะต้องดูรายละเอียดด้วยว่าการให้ข้อมูลทำโดยสุจริตหรือไม่ ได้รับทราบคุณสมบัติข้อนี้มาก่อนหรือไม่ และจะช่วยเจรจากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมบัญชีกลางต่อไป
"ขอให้คลายความกังวล ทุกอย่างมีทางออก ซึ่งทั้งรัฐบาลและกระทรวง พม.จะร่วมหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย" นายจุติระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |