พลิกโฉมสะพานปลา ท่าเทียบเรือแลนมาร์คเพื่อท่องเที่ยว


เพิ่มเพื่อน    

      “ตลาดสะพานปลาอ่างศิลา จะเป็นตลาดอาหารทะเลสดใหม่ ไม่แช่สาร ผู้บริโภคจะได้รสชาติดีที่สุด บนทำเลตลาดที่อยู่กลางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความยาวลงไปในทะเลกว่า 300 เมตร สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว เพื่อเป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สำคัญของ จ.ชลบุรี สนับสนุนเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาคตะวันออกด้วย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย"

 


        หลายจังหวัดในภาคตะวันออกยังคงมีนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ความสนใจที่จะเข้าไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมหยุดชะงัก ไม่สามารถเดินได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายมองว่าเป็นจังหวะของการกลับมาดูธุรกิจในเชิงลึกได้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นเวลาของการรีโนเวตเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวหรือผู้เข้าใช้บริการมากนัก

        เมื่อมาดูกันที่จังหวัดชลบุรี ก็ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เนื้อหอมมากจริงๆ เพราะนอกจากจะมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรม การขนส่ง การค้าการลงทุนแล้ว การท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

        องค์การสะพานปลามีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำในการบริหารจัดการแหล่งขนถ่ายและซื้อขายสัตว์น้ำที่ถูกสุขอนามัย ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล ภายใต้พันธกิจที่ต้องการพัฒนาและบริหารจัดการสะพานปลาท่าเทียบเรืออย่างมีมาตรฐานสุขอนามัยและเป็นธรรม ขณะเดียวกันยังจัดเก็บค่าใช้บริการสะพานปลาท่าเทียบเรือและการใช้ทรัพย์สินสะพานปลาท่าเทียบเรือเช่นกัน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนส่งเสริมให้ความรู้เทคโนโลยี และอาชีพให้แก่ชาวประมง พัฒนาระบบการบริหารองค์กร และฐานะการเงินด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้ประสิทธิภาพ

        สำหรับการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงอ่างศิลา จึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติลดลงอย่างมาก แน่นอนว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาและปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรืออ่างศิลา จึงจะดำเนินงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ

พัฒนาอ่างศิลารับอีอีซี

(มณเฑียร อินทร์น้อย)

        นายมณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือและตลาดประมงอ่างศิลา เทียบเรือประมงอ่างศิลา ตั้งอยู่ริมทะเล หมู่ที่ 4 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โครงการพัฒนาให้เป็นตลาดสินค้าสัตว์น้ำที่มีมาตรฐานถูกสุขอนามัย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้าประมง ยกระดับรายได้อาชีพชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์และผู้ค้าสัตว์น้ำในชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออก มีพื้นที่ 12,700 ตร.ม. จำนวน 328 ร้านค้า มีความคืบหน้าเกือบ 100% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเร็วๆ นี้ 

        นายมณเฑียร กล่าวว่า การปัดฝุ่นและปรับโฉมใหม่ครั้งนี้ นอกจากพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแหล่งรวมสินค้าสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ”แกะกุ้ง กินปู ดูปลา อ่างศิลา ชลบุรี” ที่แบ่งโซนการขายออกเป็นหลากหลายโซน ทั้งโซนแห้งและโซนเปียก รวมร้านค้ากว่า 316 แผงแล้ว ยังจะเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือมาจอดเทียบท่าขายอาหารทะเลและสินค้าสัตว์น้ำนานาชนิดด้วย เพื่อตอกย้ำความเป็น Fish Marketing Organization ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ชลบุรี

        “ตลาดสะพานปลาอ่างศิลา จะเป็นตลาดอาหารทะเลสดใหม่ ไม่แช่สาร ผู้บริโภคจะได้รสชาติดีที่สุด บนทำเลตลาดที่อยู่กลางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความยาวลงไปในทะเลกว่า 300 เมตร สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว เพื่อเป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สำคัญของ จ.ชลบุรี สนับสนุนเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาคตะวันออกด้วย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย" นายมณเฑียรกล่าว

        ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่สะพานปลาอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่ดินในพื้นที่สะพานปลาสมุทรปราการ โดยจัดหาเอกชนเป็นผู้ลงทุน ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพย์สิน ในการหารายได้จากทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการบริหารแผนลงทุนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และยุทธศาสตร์จังหวัด ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำทะเลพื้นบ้าน และขนส่งทางน้ำจังหวัดสมุทรปราการ

ปั้นสมุทรสาครฮับออฟซีฟู้ด

        สำหรับโครงการพัฒนาสะพานปลาสมุทรสาครนั้น องค์การสะพานปลาดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสะพานปลาสมุทรสาครตามแผนงานที่วางไว้ และตามนโยบายของ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่อยากให้ อสป.พัฒนาสะพานปลาและท่าเทียบเรือทั้งหมดให้ทันสมัย สะอาด ถูกสุขอนามัย และเป็นจุดเช็กอินแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในแต่ละพื้นที่นั้น เพราะที่สะพานปลาสมุทรสาคร มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.มหาชัย บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ 3 งาน 96.1 ตรารางวา มีความพร้อมมากในการพัฒนาให้เป็น ”Hub of Seafood” เป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ในการรับประทานอาหารทะเลสด ปลอดภัย ปราศจากสารปนเปื้อน และถูกสุขอนามัย

        "วันนี้ อสป.ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้มีความทันสมัย ก่อสร้างตลาดสัตว์น้ำครบวงจร ศูนย์อาหารทะเล และซูเปอร์มาร์เก็ตซีฟู้ด เพื่อรองรับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว พร้อมทำห้องประชุมขนาด 150 คน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว กลุ่มที่มาศึกษาดูงาน และกลุ่มประชุมสัมมนา" นายมณเฑียรกล่าว

สร้างแหล่งท่องเที่ยวเมืองหัวหิน

        นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงหัวหินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาปากท้องแก่ชาวบ้าน โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาให้เป็นตลาดประมงพื้นบ้านสำหรับนักท่องเที่ยว มีการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำสด สะอาดและผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป โดยกลุ่มเกษตรกรทำประมงและชุมชนชาวประมงในอำเภอหัวหิน และพื้นที่ใกล้เคียง สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยดำเนินการปรับปรุงขยายท่าเทียบเรือด้านข้าง 2 ฝั่ง ก่อสร้างโรงคลุมคัดเลือกสัตว์น้ำ ก่อสร้างสำนักงาน ห้องน้ำ สุขาสาธารณะ และปรับปรุงท่าเทียบเรือเดิมก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอำเภอหัวหิน

ขยายสู่นอนฟิชเป็นจุดเช็กอินใหม่

        นายมณเฑียรกล่าวว่า ในปี 2564 องค์การสะพานปลามีแผนดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือ อาหารปลอดภัยและส่งเสริมการส่งออก ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำให้ได้มาตรฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เพิ่มการจ้างงาน และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสินค้าสัตว์น้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสัตว์น้ำ รวมทั้งผลักดันให้ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตเป็น ”Phuket Sire Fishery Town หรือเมืองประมงภูเก็ต (สิเหร่)”

        ขณะเดียวกัน ยังต้องการผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านการประมงในภูมิภาค และปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่โครงการให้มีมาตรฐานเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติของประเทศ ประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือประมงถูกสุขอนามัย ตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทั้งส่งและปลีกพร้อมทาน ตลาดผลไม้และผักสด อตก. สาขาภูเก็ต ทั้งส่งและปลีก ตลาดอาหารจากผลิตภัณฑ์ของกรมปศุสัตว์ ทั้งส่งและปลีกพร้อมทาน ตลาดขายของฝาก สินค้าโอท็อปที่ใหญ่ที่สุด ทั้งส่งและปลีก หมู่บ้านประมงจำลอง พร้อมเรือพาชมลำคลอง เลียบป่าโกงกาง และท่าเรือท่องเที่ยว ชมรอบเกาะภูเก็ต อยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

        ส่วนท่าเทียบเรือประมงปัตตานีจะเป็นตลาดขายสัตว์น้ำขนาดใหญ่กลางเมือง ที่ไม่ได้เป็นแค่ตลาดปลา แต่เป็นตลาดหรือแหล่งรวมสินค้าหลากหลาย ทั้งอาหารทะเล และอาหารทั่วไป (Non Fish) ของคนปัตตานี และในอำเภอใกล้เคียง อาทิ ยะหา ยะหริ่ง บันนังสตา รวมถึง จ.ยะลา จ.นราธิวาสด้วย ซึ่งสามารถต่อยอดทำอื่นๆ รวมถึงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว มาช็อปปิ้ง มากินอาหารทะเล เพื่อเป็นแลนด์มาร์คใหม่ เป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

        นายมณเฑียร ย้ำว่า องค์การสะพานปลายังคำถึงถึงสิ่งสำคัญหลายๆ ด้าน และได้ดำเนินโครงการตรวจสอบฟอร์มาลินในสัตว์น้ำของสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีการขนถ่ายสัตว์น้ำในระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค สินค้าที่สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ดี สินค้าสัตว์น้ำสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างเป็นระบบและปลอดภัยจากสารฟอร์มาลิน โดยทำการสุ่มตรวจสารฟอร์มาลีนในตัวอย่างสินค้าสัตว์น้ำ เป็นการเฝ้าระวังสารดังกล่าวที่จะมีการผสมหรือปนเปื้อนในสินค้าสัตว์น้ำที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

        อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้การทำประมงอย่างถูกกฎหมาย พัฒนาและยกระดับสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงให้มีมาตรฐานสุขอนามัย เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานของ EU และตามประกาศของกรมประมง รวมถึงการป้องกันสินค้าประมงให้ปลอดภัยจากสารพิษและสิ่งเจือปนที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และการให้สินเชื่อเป็นกิจกรรมช่วยเหลือชาวประมงและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมงเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวประมงที่ขาดแคลนเงินทุนสามารถจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำการประมงที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทางหนึ่งด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"