31 ม.ค.64- ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ทางออกปัญหาเรียกคืนเบี้ยคนชรา ว่า กรณีที่มีข่าวเรื่องการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากผู้สูงอายุจำนวนมากในหลายๆ จังหวัด เนื่องจากผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รับเงินบำนาญพิเศษจากการที่บุคคลในครอบครัวที่รับราชการเสียชีวิตไป หรือจากการที่ตนเองทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก ซึ่งจนถึงขณะนี้กระทรวงมหาดไทยคาดว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศที่จะต้องถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเงินคนชราประมาณ 15,000 คน จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่บรรดาผู้สูงอายุจำนวนมากนั้น
ดร.ธนกฤต ระบุว่า ขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการถึงข้อสังเกตและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องเงินหลวงที่จ่ายไปโดยผู้รับไม่มีสิทธิ หากผู้รับสุจริต มีทั้งที่วินิจฉัยว่า เป็นลาภมิควรได้ ให้คืนเท่าที่เหลืออยู่ และที่วินิจฉัยว่า เป็นการติดตามเอาทรัพย์คืน ต้องคืนทั้งหมด คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายไปโดยผู้รับเงินไม่มีสิทธิได้รับโดยชอบ หากผู้รับเงินสุจริต มีทั้งที่วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่เรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืน ให้คืนเฉพาะเงินที่เหลืออยู่ขณะเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 412 ที่บัญญัติให้บุคคลที่รับทรัพย์สินไว้เป็นลาภมิควรได้โดยสุจริต ต้องคืนทรัพย์นั้นเฉพาะที่ยังเหลืออยู่ขณะที่เรียกคืน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559) และที่วินิจฉัยว่า เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์หรือเงินคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ เพราะไม่ได้ก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้รับเงินไว้โดยไม่ชอบต้องคืนเงินนั้นทั้งหมด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2558, 4617/2562)
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้รับเงินเบี้ยหวัดที่ไม่สุจริตเพราะปกปิดข้อมูล หากหน่วยงานราชการประสงค์จะฟ้องเรียกเอาเงินเบี้ยหวัดคืน ก็เป็นเรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืนเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ เพราะเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการจ่ายเงินสวัสดิการตามกฎระเบียบของทางราชการไม่ใช่จ่ายเงินเพื่อชำระหนี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2561 (ประชุมใหญ่) )
ประเด็นเรื่องเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายไปโดยผู้รับเงินไม่มีสิทธิได้รับไว้โดยชอบนี้ หากในภายหน้ามีคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาอีก ก็มีความน่าสนใจว่า ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางใด สำหรับนักกฎหมายแล้ว ความเห็นในเรื่องนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องลาภมิควรได้ และอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืน ซึ่งผลตามกฎหมายมีความแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
2. ให้ผู้สูงอายุที่สุจริตคืนเงิน ภาระ ความเดือดร้อนที่ตามมา สมควรหรือไม่
ผู้สูงอายุที่ยื่นคําขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุน่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่ออก และไม่ทราบระเบียบของราชการว่า ห้ามรับเงินคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ และมีข้อน่าพิจารณาว่า ขณะที่ผู้สูงอายุลงชื่อและยื่นคำขอรับเงิน เจ้าหน้าที่ได้สอบถามหรือได้อธิบายให้ผู้สูงอายุทราบเกี่ยวกับระเบียบและข้อห้ามแล้วหรือยัง และหากจะมีการเรียกเงินคนชราคืนจากผู้สูงอายุที่รับเงินไปโดยสุจริตซึ่งไม่ทราบถึงระเบียบที่ห้ามรับเงินซ้ำซ้อน โดยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกเรียกเงินคืนย้อนหลังไปร่วม 10 ปี จำนวนเงินที่จะต้องคืนย่อมเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สร้างภาระความเดือดร้อนและความทุกข์ใจแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
ส่วนหากจะไปกล่าวโทษว่า เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปจ่ายเงินซ้ำซ้อนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ ต้องไปดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ก็คงเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และคงต้องมีการตรวจสอบย้อนหลังไปเป็น 10 ปี เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อย บางส่วนก็น่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว และอาจจะทำให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไป
3. การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้มีสิทธิรับเงิน น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าหรือไม่
เดิมทีเดียวระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ไม่ได้กำหนดข้อห้ามว่า ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องไม่เป็นผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อห้ามดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยมากำหนดในภายหลังไว้ในข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพิจารณาจากความสูงอายุของผู้มีสิทธิได้รับเงิน การได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การจ่ายเงินบํานาญพิเศษพิจารณาจากการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวที่รับราชการ หรือการทุพพลภาพของข้าราชการจากการปฏิบัติหน้าที่ การได้รับเงินบำนาญพิเศษจึงเป็นสิทธิพิเศษเพิ่มเติมที่แยกต่างหากจากสิทธิส่วนบุคคลที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินทั้ง 2 ประเภทนี้จึงไม่น่าจะซ้ำซ้อนกัน ซึ่งผู้สูงอายุน่าจะควรได้รับเงินทั้ง 2 ประเภทนี้ไปพร้อม ๆ กันได้
จึงมีข้อน่าพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ ด้วยการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถึงแม้จะได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่แล้ว และให้ระเบียบที่แก้ไขนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงผู้สูงอายุที่สุจริตซึ่งได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควบคู่ไปกับเงินบำนาญพิเศษก่อนระเบียบใช้บังคับด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยผู้ออกระเบียบนี้ย่อมมีอำนาจแก้ไขระเบียบได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องการเงิน การคลัง และงบประมาณ จึงควรต้องให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังร่วมพิจารณาในรายละเอียดและให้ความเห็นชอบในการแก้ไขระเบียบนี้ และอาจจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย
4. ควรงดการเรียกร้องเอาเงินคืนและไม่ควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สูงอายุ
หากภาครัฐมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ไม่อยากซ้ำเติมสร้างภาระความเดือดร้อนให้แก่ผู้สูงอายุที่สุจริต ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะยากจน ควรจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศงดการเรียกร้องให้ผู้สูงอายุจ่ายเงินคืนไปก่อน และภาครัฐควรรีบดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่ผู้สูงอายุได้รับที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐคงไม่อาจปฏิเสธการมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ควรฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สูงอายุเพื่อเรียกร้องเอาเงินคืนในระหว่างนี้ เนื่องจากจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสร้างความเดือดร้อนให้ผู้สูงอายุยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุซึ่งมีฐานะยากจนและไม่มีความรู้ทางกฎหมาย เพราะการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนอกจากจะนำมาซึ่งความวิตกกังวล ความทุกข์ใจ ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในศาลและภาระในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ จำนวนมากตามมาอีก
ประการที่สำคัญ การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม ควรเป็นไปเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ควรเป็นไปเพื่อเติมเชื้อไฟแห่งความไม่เป็นธรรม ด้วยการซ้ำเติมความเดือดร้อนแก่ผู้สูงอายุที่สุจริตซึ่งกำลังทุกข์ยากลำบาก
5. ภาครัฐควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน
ภาครัฐควรกำหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญพิเศษซ้ำซ้อนกัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินการต่อปัญหาและการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งดำเนินการอย่างหนึ่ง ขณะที่ในอีกจังหวัดหนึ่งดำเนินการอีกอย่าง แตกต่างกันไป เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการปฏิบัติและในการดำเนินการต่อปัญหาที่เกิดขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |