บ้านใหม่ของชาวลัวะห้วยขาบ 60 ครอบครัวอยู่ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ณ หมู่บ้านชาวลัวะ บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ขณะที่ชาวบ้านหลายครอบครัวกำลังเตรียมตัวเพื่อจะออกไปทำงานในไร่ บางครอบครัวกำลังล้อมวงกินอาหารมื้อเช้า ท่ามกลางเม็ดฝนที่พรมลงมาตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
ทันใดนั้นมีเสียง “เปรี๊ยะๆ” ดังสนั่นมาจากยอดเขาเหนือหมู่บ้าน แต่กว่าที่ใครจะไหวตัวทัน ทั้งก้อนหินและดินโคลนจากภูเขาที่อยู่สูงเหนือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 100 เมตรได้ถล่มไถลลงมาราวกับสายน้ำจากนรก และโถมทับบ้านเรือนที่อยู่ด้านล่าง มีบ้านเรือนที่ถูกดินและก้อนหินทับพังทั้งหลังจำนวน 4 หลัง ทับบางส่วน 2 หลัง มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย !!
หลังเหตุร้ายผ่านไป ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติ และอาจเกิดดินถล่มลงมาได้อีก จึงมีคำสั่งอพยพชาวห้วยขาบทั้งหมด 60 ครอบครัว รวม 253 ชีวิตที่พ้นภัย ลงมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายแห่งในอำเภอบ่อเกลือ และต่อมาได้ย้ายเข้าอยู่ในบ้านพักชั่วคราว เพื่อรอการก่อสร้างบ้านพักแห่งใหม่ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการ
ก้อนหินและดินโคลนที่ถล่มลงมา
วิถีชีวิตชาวลัวะบ้านห้วยขาบ
อําเภอบ่อเกลือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 134 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน ประชากรมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ลัวะ ขมุ ม้ง เย้า ลื้อ คนเมือง ฯลฯ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และมีแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์มาแต่โบราณ เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ชอบบรรยากาศธรรมชาติ เพราะบ่อเกลือเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ สวยงาม โอบล้อมไปด้วยขุนเขาเขียวขจี มีลำธารไหลผ่าน
ในช่วงฤดูหนาว เมืองทั้งเมืองจะปกคลุมไปด้วยไอหมอกและอากาศที่หนาวเย็น นักท่องเที่ยวจึงต้องการมาสัมผัสบรรยากาศ รีสอร์ทน้อยใหญ่จึงทยอยผุดขึ้นมา เมืองเล็กๆ แห่งนี้จึงคึกคักในช่วงฤดูท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจของเมืองพลอยเบ่งบานไปด้วย
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลัวะ’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง (อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร สำเนียงพูดคล้ายภาษาเขมร) แต่ด้วยผลจากสงครามการสู้รบในอดีต ทำให้อาณาจักรลัวะแตกพ่ายล่มสลาย แต่ชนเผ่าลัวะยังสืบเชื้อสายกระจายตัวอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น น่าน แพร่ เชียงใหม่ ฯลฯ ปัจจุบันชาวลัวะรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ประสบปัญหาต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ ทำให้คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและภูเขามาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ฯลฯ
‘คัลเปรี๊ยะห์’ เครื่องดนตรีของชาวลัวะทำจากไม้ไผ่ใช้เคาะกระทบกัน ขนาดความสั้นยาวของไม้ไผ่จะทำให้เกิดเสียงแตกต่างกัน
หมู่บ้านชาวลัวะห้วยขาบ ตั้งอยู่ในตำบลบ่อเกลือเหนือ (ก่อนดินถล่มมี 61 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 261 คน) ชาวลัวะบ้านห้วยขาบอยู่อาศัยที่นี่มานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีอาชีพปลูกกาแฟ ถั่วดาวอินคา (ถั่วชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกาใต้ เมล็ดกินได้) และปลูกข้าวไร่ (ข้าวเหนียว) ตามเชิงเขาเอาไว้กินในครัวเรือน ส่วนชื่อของหมู่บ้านมาจากชื่อลำห้วยที่ไหลผ่าน ในอดีตมีแมลง ‘ขาบ’ (ภาษาลัวะ) หรือแมลงเม่าอาศัยอยู่ตามลำห้วยชุกชุม จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น
สมศักดิ์ ใจปิง อายุ 38 ปี ชาวบ้านห้วยขาบ เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวลัวะว่า ชาวลัวะมีชีวิตเรียบง่าย ปลูกข้าวไร่เอาไว้กินเอง เป็นข้าวเหนียว ใช้วิธีปลูกข้าวแบบหยอดหลุมและหมุนเวียนตามที่ราบเชิงเขาเพราะพื้นที่มีน้อย ครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่หมุนเวียนประมาณ 6-7 แห่ง เมื่อครบ 7 ปีจะหมุนเวียนกลับมาทำไร่ข้าวในพื้นที่เดิม เพื่อให้ดินฟื้นตัวและกลับมาอุดมสมบูรณ์อีก เพราะคนลัวะปลูกข้าวโดยไม่ใช่ปุ๋ย แต่จะให้ธรรมชาติ เจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแล โดยจะมีพิธีบูชาระหว่างการปลูกข้าว และเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวประมาณช่วงเดือนมกราคมจะมีพิธี ‘กินดอกแดง’ เพื่อขอบคุณเจ้าป่าเจ้าเขาที่ช่วยดูแลทำให้ไร่ข้าวอุดมสมบูรณ์
“ปีหนึ่งครอบครัวผมจะปลูกข้าวได้ประมาณ 30 กระสอบ ก็พอกินทั้งปี แต่บางปีได้ไม่พอกิน เพราะมันแล้ง ต้องปลูกพืชอย่างอื่นด้วย ตอนนี้ส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟ ถั่วดาวอินคา มีพ่อค้ามารับซื้อ ช่วงที่ว่างงานในไร่ก็จะไปทำงานรับจ้างในไร่ของคนอื่น เขาจะมาจ้างปลูกข้าวโพด หรือให้ถางหญ้า ได้ค่าจ้างวันละ 200-300 บาท เอามาใช้จ่ายในครอบครัว” ชาวบ้านห้วยขาบเล่าถึงการทำมาหากิน
หากใครเคยมาเยือนบ้านห้วยขาบ จะเห็นบ้านเรือนของพวกเขาปลูกกระจายอยู่ตามที่ราบเชิงเขา ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีลำห้วยขาบใสเย็นไหลผ่านกลางหมู่บ้าน เป็นเสมือนหมู่บ้านในนิทานที่สงบสุขและร่มเย็นมาช้านาน...หากดินบนภูเขาจะไม่ถล่มลงมา...!!
บ้านใหม่...ชีวิตใหม่
ในช่วงแรกชาวบ้านห้วยขาบทั้ง 60 ครอบครัวเข้าพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราว ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ และหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนงบประมาณและช่วยกันก่อสร้าง เพื่อรอการก่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่ในที่ดินที่กรมป่าไม้อนุญาต เนื้อที่ 39 ไร่ (พื้นที่จริง 34 ไร่) บริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ ห่างจากหมู่บ้านห้วยขาบเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ที่ดิน (ช่วงแรก) 30 ปี ตั้งแต่มกราคม 2562 - มกราคม 2592 แบ่งพื้นที่สร้างบ้านและทำกินได้ครอบครัวละ 120 ตารางวา
ส่วนการก่อสร้างบ้านพักถาวรให้กับชาวบ้านห้วยขาบจำนวน 60 หลังคาเรือน เป็นบ้านขนาด 5X8 ตารางเมตร (มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น) โครงสร้างเป็นปูนและเหล็ก รูปแบบบ้านประยุกต์มาจากบ้านของชาวลัวะ ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 320,000 บาท ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 22.5 ล้านบาท
บ้านใหม่ของชาวห้วยขาบ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อุดหนุนการสร้างบ้าน และการประกอบอาชีพ รวม 1,320,000 บาท อบต.ดงพญา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนการจัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกผักส่วนกลาง เลี้ยงสัตว์ และสนามกีฬา ประมาณ 4 ไร่ ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงต้นปี 2563 และชาวบ้านทั้ง 60 ครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านยังเข้าไปทำไร่ในพื้นที่เดิมบริเวณไม่ไกลจากบ้านห้วยขาบเดิม ส่วนบ้านหลังเก่าหากเป็นไม้ก็จะรื้อเพื่อเอามาต่อเติมที่บ้านใหม่ เช่น ทำครัว ยุ้งข้าว ห้องเก็บของ ฯลฯ ถ้าใครเข้าไปที่บ้านห้วยขาบเดิมก็จะมองไม่เห็นหมู่บ้านแล้ว เพราะมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด
เขาบอกด้วยว่า ชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านใหม่ต่างก็รู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องนอนผวา ไม่ต้องกลัวว่าเวลาหน้าฝน ก้อนหินดินโคลนจากภูเขาจะถล่มลงมาทับอีก แต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องก็คือ หมู่บ้านที่ชาวลัวะมาอยู่ใหม่นี้ขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 3 ตำบลดงพญา ทำให้กองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเดิมที่ชาวลัวะมีอยู่ เช่น กองทุนหมู่บ้านห้วยขาบต้องยุบรวมเข้ากับกองทุนหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งชาวลัวะไม่ต้องการ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาด้านการรวมกองทุน และมีปัญหาด้านการปกครอง (หมู่ที่ 3 เป็นคนพื้นราบ มีวัฒนธรรม ประเพณีแตกต่างกัน) จึงขอให้ทางกระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านใหม่เป็นหมู่ที่ 8
‘กาแฟ’ พืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวลัวะ
ภานุวิชญ์ จันที ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือ ชาวห้วยขาบ บอกว่า ชาวบ้านห้วยขาบได้รับการสนับสนุนจากทางราชการและบริษัทซีพีให้ปลูกกาแฟในปี 2556 เป็นพันธุ์อาราบิก้า ปัจจุบันมีชาวบ้านปลูกกาแฟจำนวน 43 ครอบครัว ส่วนใหญ่ปลูกตามไหล่เขาใกล้บ้านห้วยขาบเดิม มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ 130 ไร่ ผลผลิตรวมกันประมาณ 2,000 กิโลกรัม จะเก็บผลกาแฟสุกปีละครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
ภานุวิชญ์กับก้อนหินหนักหลายตันที่หล่นลงมาเมื่อครั้งดินถล่ม
จุดเด่นของกาแฟที่บ้านห้วยขาบหรือ ‘ลัวะ คอฟฟี่’ คือ การปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช่สารเคมี ประกอบกับความสูงของพื้นที่ในอำเภอบ่อเกลือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,745 เมตร ทำให้กาแฟพันธุ์อาราบิก้าเติบโตได้ดี นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจผลิตกาแฟที่ชาวลัวะตั้งขึ้นมายังได้รับการสนับสนุนความรู้และกระบวนการผลิตกาแฟจากชมรมกาแฟน่าน ใช้กระบวนการผลิตกาแฟแบบ ‘Honey Process’ ทำให้เมล็ดกาแฟมีความหวาน
โดยชาวลัวะจะนำกาแฟที่สุกแล้วหรือกาแฟเชอร์รี่ที่มีผลสีแดงนำมาแช่ในน้ำเพื่อล้างและคัดเมล็ดที่ลอยหรือเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก จากนั้นจะนำกาแฟไปสีเพื่อเอาเปลือกนอกออก ขั้นตอนนี้จะได้กาแฟกะลาที่ยังมีเมือกหุ้มเมล็ดอยู่ แล้วนำไปตากแดดประมาณ 4-5 วันจนแห้งสนิท การตากกาแฟกะลาพร้อมเมือกจะทำให้เมล็ดกาแฟมีรสชาติหวานขึ้น จากนั้นจึงนำเมล็ดกาแฟแห้งหรือกาแฟสารไปคั่วให้มีรสชาติเข้ม ปานกลาง และอ่อน แล้วนำมาบรรจุถุง เพื่อให้คอกาแฟเลือกซื้อตามต้องการ
“เมื่อก่อนชาวบ้านจะขายเมล็ดกาแฟสดหรือกาแฟเชอร์รี่ ราคากิโลฯ ละ 20 บาท ต่อมาก็ขายเป็นกาแฟกะลา (เมล็ดกาแฟแห้งเอาเปลือกนอกออกแล้วแต่ยังไม่ได้คั่ว) กิโลฯ ละ 120 บาท 10 กิโลฯ เราขายได้เงิน 1,200 บาท แต่ตอนนี้เราตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อเอาเมล็ดกาแฟมาคั่วและบรรจุถุงขาย เป็นกาแฟอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี มีกลิ่นหอม รสชาติหวานนุ่ม และยังเอาดอกกาแฟมาทำชา เอากากมาทำสบู่ ทำให้กาแฟ 10 กิโลฯ ขายได้เงินเกือบหมื่นบาท ชาวบ้านก็ตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะเมื่อก่อนขายกาแฟเชอร์รี่ได้แค่กิโลฯ ละ 20 บาท” ภานุวิชญ์เล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
เมล็ดกาแฟสุกมีสีแดงเหมือนลูกเชอร์รี่ และกาแฟลัวะที่บรรจุถุงแล้วมีรสนุ่ม ปานกลาง และเข้ม ถุงละ 250 กรัม ราคา160-180 บาท
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหากจะว่าไปแล้ว อาจเหมือนกับความโชคดีที่มาหลังจากความสูญเสียของชาวลัวะห้วยขาบ แต่ความจริงเป็นแผนงานการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน เช่น จังหวัดน่าน กรมป่าไม้ กระทรวงมหาดไทย การประปา การไฟฟ้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และบริษัทไทยเบฟฯ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย และการทำมาหากิน รวมทั้งการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย โดยขณะนี้ทางจังหวัดน่านกำลังก่อสร้างสะพานคอนกรีตเข้าสู่หมู่บ้าน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เตรียมสนับสนุนงบประมาณสร้างร้านกาแฟและสินค้าชุมชนรองรับนักท่องเที่ยว
ขณะที่ ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ บอกว่า ตอนนี้พื้นที่ปลูกกาแฟและผลผลิตจากบ้านห้วยขาบยังมีไม่มากนัก เนื่องจากมีพื้นที่น้อย ดังนั้นต่อไปชาวห้วยขาบจะขยายพื้นที่ปลูก โดยปลูกกาแฟต้นใหม่แซมลงในพื้นที่เดิม รวมทั้งปลูกกาแฟในพื้นที่ว่างทั้งในหมู่บ้านเก่าและที่หมู่บ้านใหม่ เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอ และนำมาจำหน่ายในหมู่บ้านรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา รวมทั้งขายทางออนไลน์ และออกบูธตามงานต่างๆ ด้วย โดยจะเปิดให้ชาวบ้านร่วมลงหุ้น เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีรายได้
“ลัวะคอฟฟี่ อัญมณีแห่งขุนเขา กาแฟอินทรีย์เพื่อสร้าง ‘ชุมชนดี มีรอยยิ้ม’ ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านห้วยขาบ” (ติดตามช่องทางการสนับสนุนชุมชนได้ที่ Facebook กาแฟน่าน ลั๊วะคอฟฟี่)
(เรื่องจากสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ‘พอช.’)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |