วันเด็กต่อไปขอนโยบายแทนคำขวัญหรู


เพิ่มเพื่อน    


ไทยโพสต์ 0 นักวิชาการชี้ คำขวัญวันเด็กก็แค่อีเวนต์ประจำปีหากภาครัฐไม่กำหนดเป็นนโยบายดูแลเด็กให้สอดคล้อง รวมทั้งผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติเป็นแบบอย่างด้วย
    “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” คำขวัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้เด็กๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติดี ตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ แม้เด็กโดยเฉพาะเหล่านักเรียนส่วนใหญ่จะจำได้เนื่องจากครู อาจารย์คอยกระตุ้นก็ตาม
    รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำขวัญวันเด็กที่ออกมาทุกปี ถ้าหากนายกฯ ผู้ให้คำขวัญกับเด็กเป็นตัวอย่างที่ดี หรือปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง ตามมาด้วยการมอบนโยบายที่สนับสนุนคำขวัญวันเด็ก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ ทั้งจำคำขวัญได้และสามารถปฏิบัติตามได้ และจะเกิดประโยชน์กับเด็กอย่างยั่งยืน
    ขณะที่ อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม และอาจารย์สอนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า เด็กได้ยินคำขวัญวันเด็กผ่านหู เมื่อหมดวาระสำคัญแล้ว เขาก็จะลืมไปอย่างง่ายดาย ไม่ได้มองว่าจะต้องทำตาม ตรงนี้จึงอยู่ที่ผู้ปกครองต้องช่วยกระตุ้น ยกตัวคำขวัญประจำปีนี้ของนายกฯ ที่ว่า “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” ดังนั้นผู้ปกครองจะต้องสอนให้เด็กเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์นั้นทำอย่างไร และมีประโยชน์กับเด็กอย่างไร โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติม และคอยสอดส่องดูแล จึงจะทำให้คำขวัญมีประโยชน์กับเด็กไทย
    ส่วน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อานวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำขวัญวันเด็กล้วนเป็นความปรารถนาดีที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหรือนายกรัฐมนตรีได้มอบหลักคิดและค่านิยม ตลอดจนคุณสมบัติที่ดีของเด็กไทยเอาไว้ เพื่อให้เยาวชนปฏิบัติตาม ตลอดจนสะท้อนปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเอาไว้ในคำขวัญ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กระมัดระวังตัว แม้นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากขาดการสนับสนุนให้เกิดการทำตามอย่างแท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงสิ่งที่เด็กท่องจำเพื่อไปแข่งขันและลืมในที่สุด
    “ถ้าถามถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากคำขวัญวันเด็ก ผมคิดว่าเป็นการฝึกให้เด็กท่องจำเพื่อนำไปแข่งขัน อีกทั้งยังทำให้เด็กรู้อย่างหนึ่งว่า วันเด็กเป็นวันที่สามารถเรียกร้องสิ่งที่อยากได้อย่างเต็มที่ หรือขอในสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมากที่สุด ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังวันเด็ก คือประเทศไทยควรพิจารณาว่าดูแลคนทุกกลุ่มดีแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของเด็กๆ เพราะเรื่องนี้ยังหละหลวมและถูกปล่อยปละละเลย เนื่องจากปัจจุบันเรื่องเด็กนั้นอยู่ตรงกลาง เพราะภาครัฐจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง ฯลฯ เป็นอันดับแรก กล่าวโดยสรุป วันเด็กเป็นเพียงอีเวนต์ประจำปีที่หาแก่นสารแทบไม่ได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้การจัดงานวันเด็ก ตลอดจนการมอบคำขวัญ เป็นเพียงธรรมเนียมนิยม ภาครัฐต้องมอบนโยบายเพื่อกระตุ้นให้การเกิดปฏิบัติตามไปสู่เด็กและเยาวชน โดยอาศัยผู้ที่เกี่ยวข้อง หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมของเด็กๆ เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน หรือเป็นตัวอย่าง”
    เช่นเดียวกับ ดร.สุปราณี ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา ที่มองว่า เด็กๆ จำคำขวัญวันเด็กได้ และเขาก็จะรอคำขวัญจากนายกฯ เป็นประจำทุกปี แต่ในส่วนของการนำไปใช้จริงคงจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เสียทีเดียว อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ คำขวัญวันเด็ก ทำให้เด็กตระหนักรู้ว่ายังมีผู้ใหญ่ที่คอยเป็นห่วง จึงได้มอบหลักคิดในการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีให้กับเยาวชน แต่ทั้งนี้ผู้ใหญ่เองก็ต้องพยายามผลักดันให้เด็กตั้งใจเรียน หรือเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทันและสร้างสรรค์ตามที่นายกฯ บอก 
    พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ คือวันเสาร์ที่ 13 มกราคม จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมสำหรับเด็กขึ้น จะมีเด็กและเยาวชนไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก อาทิ ทำเนียบรัฐบาล, กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.), ฐานทัพเรือสัตหีบ, กองทัพอากาศ, กระทรวงศึกษาธิการ (วังจันทรเกษม), พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย, สวนสัตว์ดุสิต, บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว สถานีตำรวจทั่วประเทศในหลายพื้นที่ก็ยังได้จัดกิจกรรมงานวันเด็ก หรือร่วมกับหน่วยงานอื่นจัดกิจกรรมงานวันเด็กเช่นกัน 
    เนื่องในงานนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสก่อเหตุประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือกระทำผิดต่อเด็กในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะเด็กหาย พลัดหลง และการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จากเครื่องเล่น จึงได้สั่งการ ตร.ทุกหน่วยทั่วประเทศประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน พร้อมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุต่างๆ ใน 4 มิติหลัก ดังนี้ 1.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และการกระทำผิดต่อเด็กที่อาจเกิดขึ้นตามสถานที่จัดกิจกรรมที่มีผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก 2.ขอความร่วมมือพ่อแม่หรือผู้ปกครองได้ดูแลเด็กและเยาวชนในปกครองอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยเด็กไปเที่ยวเพียงลำพัง และควรจัดทำบัตรที่ระบุชื่อผู้ปกครองพร้อมที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงของเด็ก เพื่อความสะดวกในการนำส่งกรณีพลัดหลง
    3.ขอความร่วมมือจากหน่วยงานหรือผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมในวันเด็ก ให้ระมัดระวังอันตรายจากการเล่นเครื่องเล่นต่างๆ โดยตรวจสอบความพร้อมและความความปลอดภัยของเครื่องเล่น อุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมกับไฟฟ้า และกล้องวงจรปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่จัดงานที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง สระน้ำหรือบ่อน้ำ ควรจัดชุดกู้ชีพกู้ภัยประจำสถานที่เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกน้ำ และให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที 4.การใช้รถโรงเรียนหรือรถยนต์โดยสารรับจ้างเป็นพาหนะในการเดินทางพานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นหมู่คณะ ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถโรงเรียนปฏิบัติตามกฎจราจร และให้ใช้ความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สอดส่องดูแลอย่าให้เด็กห้อยโหน รวมทั้งระมัดระวังการขึ้นรถ-ลงรถของเด็ก และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"