‘ศึกซักฟอก’ วัดกันที่คะแนน ‘ผู้ชม’ ‘รบ.-ฝ่ายค้าน’ ชกสมศักดิ์ศรีหรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

          หลังจากโหมโรงมาสักระยะ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 6 พรรค จึงได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  กับรัฐมนตรีรวม 10 ราย ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

                สำหรับผู้ที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้  ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.แรงงาน, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

ในจำนวน 10 ราย มี 4 รายที่เคยถูกยื่นซักฟอกเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์ และ ร.อ.ธรรมนัส

ในส่วนของหัวหน้าพรรคใหญ่ในฝ่ายรัฐบาลถูกยื่นในครั้งนี้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ญัตติของฝ่ายค้านจะเขียนไว้เพียงข้อกล่าวหา โดยไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเป็นเรื่องใด แต่มีการคาดการณ์ว่าหลักๆ พล.อ.ประยุทธ์จะถูกอภิปรายเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 การดำเนินการกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร และเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19

พล.อ.ประวิตรจะถูกอภิปรายเรื่องที่มักมีข่าวพาดพิงว่าอยู่เบื้องหลังความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ในรัฐบาล,  นายอนุทินจะถูกอภิปรายเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 และวัคซีน, นายจุรินทร์จะถูกอภิปรายเรื่องการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และเรื่องหน้ากากอนามัย

พล.อ.อนุพงษ์จะถูกอภิปรายเรื่องการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังยืดเยื้อ ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กทม. กับกระทรวงคมนาคม โดยเป็นเรื่องเดียวกับนายศักดิ์สยาม, นายนิพนธ์จะถูกอภิปรายเรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และกรณีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ชี้มูลกรณีไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ สมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

นายสุชาติจะถูกอภิปรายเรื่องการบริหารจัดการแรงงานในช่วงโควิด-19 และกรณีถูกโยงว่าขนคนเสื้อเหลืองจาก จ.ชลบุรีมาปะทะกับกลุ่มราษฎร, นายณัฏฐพลจะถูกอภิปรายเรื่องการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ และกรณีถูกร้องว่าคัดเลือกคนสนิทคือ นายธนพร สมศรี ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา  (สกสค.) และ ร.อ.ธรรมนัสจะถูกอภิปรายเรื่องการแต่งตั้ง  น.ส.ธนพร ศรีวิราช เป็นข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเรื่องการประกาศ คปก.อนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อกิจการอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเอื้อนายทุน

               ทั้งนี้ มีการวางไทม์ไลน์การอภิปรายเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ แล้วลงมติกันวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์  โดยจะใช้เวลาการอภิปรายยาวถึง 4 วัน โดยฝ่ายค้านให้เหตุผลว่าเป็นเพราะมีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมากถึง 10 ราย

                ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร รายงานกรณีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ ครม.รับทราบ โดย พล.อ.ประยุทธ์แสดงความประสงค์ว่า อยากให้มีการลงมติตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์เลย เนื่องจากช่วงนี้ต้องการนำเวลาไปแก้ไขปัญหาโควิด-19

               นอกจากเรื่องระยะเวลาการอภิปรายและลงมติ อีกประเด็นที่มีการจับตามองกันมากคือ ญัตติของฝ่ายค้านในครั้งนี้มีเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ฝ่ายค้านระบุว่าไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง..."

               โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวข้องกับสถาบัน มีใกล้เคียงคือกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่มีการเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ

เคยมีแบบเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา แต่ตรงๆ เช่นนี้ไม่มี แต่เมื่อถึงเวลาในสภา ใครที่จะอภิปรายหรือแม้แต่ผู้ที่จะตอบต้องระมัดระวัง ผมไม่ได้แปลว่าพูดไม่ได้ แต่หมายถึงต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะเจอข้อบังคับการประชุมสภาจนมีการประท้วงและคัดค้านได้ ซึ่งการอภิปรายเรื่องสถาบัน เส้นแบ่งมันมีอยู่แล้ว

ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ทำเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร  ให้มีการแก้ไขญัตติที่มีการใช้ภาษาเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งมิบังควร

                แต่แกนนำพรรคฝ่ายค้านต่างออกมายืนยันว่า ญัตติของฝ่ายค้านกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง และมุ่งไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนเรื่องการแก้ไขญัตติ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร

               เรื่องนี้สุดท้ายจึงอยู่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่หากสุดท้ายแล้วไม่มีการแก้ไขญัตติ ประเด็นดังกล่าวน่าจะสร้างความร้อนฉ่าให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการประท้วงที่อาจทำให้การซักฟอกติดขัด จนกลบเนื้อสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

                โดยฝ่ายรัฐบาลเตรียมการเรื่องนี้เอาไว้แล้ว อย่างนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ หรือจอมประท้วง ที่ออกมาประกาศแล้วว่าจะค้านสุดลิ่มทิ่มประตูหากมีการกล่าวถึงสถาบันเบื้องสูง

"ขอให้ฝ่ายค้านกลับไปดูข้อบังคับให้ดี และแก้ญัตติแล้วมายื่นใหม่ แต่หากฝ่ายค้านยังยืนยันจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสถาบัน ตนขอประกาศว่า ฝ่ายค้านจะเจอการประท้วงจนไม่ได้อภิปรายเลยทั้ง 4 วัน"

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เรื่องการหวังจะล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งโดยกลไกสภาถูกมองข้ามไป เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.ทั้งหมด 487 คน โดยเสียงรัฐบาลมีมากกว่า 270 เสียง แต่ถูกจับตาไปที่การทำหน้าที่อภิปรายของฝ่ายค้านและการชี้แจงของรัฐบาล

เวทีนี้จะเป็นที่พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งของฝ่ายค้าน หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อครั้งที่แล้วโดนครหาอย่างหนักว่า ชกไม่สมศักดิ์ศรี มีข่าวการบ้านรั่วไหลไปถึงมือฝ่ายรัฐบาล  ส.ส.บางคนถูกตั้งข้อสังเกตว่ารับงานมาทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความกระท่อนกระแท่นกันระหว่างเพื่อไทย กับก้าวไกล

ส่วนพรรคก้าวไกลเอง ถูกคาดหวังจากมวลชนกลุ่มราษฎร ว่าจะฆ่ารัฐบาลได้ด้วยข้อมูลที่หนักแน่น เพื่อจะนำมาต่อยอดสู่การกดดันภายนอกสภาต่อไป

ด้านฝ่ายรัฐบาล ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารประเทศที่มีการมองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนักหน่วงในรอบนี้ มีต้นเหตุมาจากรัฐบาลที่หละหลวม ขณะที่มาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐยังไม่ตรงจุด ดังนั้นการชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในครั้งนี้ค่อนข้างสำคัญ หากตอบไม่ได้หรือไม่ชัดเจน จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง มีปัญหาเพิ่มให้ต้องเร่งแก้

            แม้เสียงของรัฐบาลจะท่วมท้น แบบไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลากลงจากตำแหน่งในสภาได้ แต่หากฝ่ายค้านชกได้เข้าเป้า มีใบเสร็จมัดรัฐบาลแน่นหนา ตรงนี้จะมีผลต่อสถานการณ์ภายนอกสภาอย่างม็อบราษฎร ที่กำลังจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งแน่นอน

ดังนั้น เวทีนี้ไม่ได้วัดกันที่การลงมติ แต่วัดกันที่คะแนนจากผู้ชมภายนอก ใครจะทำหน้าที่ตัวเองได้ดีกว่ากัน?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"