Oxfam: ไวรัสที่ไม่เท่าเทียม


เพิ่มเพื่อน    

    เป็นประจำทุกปีองค์การออกแฟม (Oxfam International) นำเสนอรายงานความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจ รายงานฉบับปี 2021 นำเสนอผลจากโรคระบาดโควิด-19 ชื่อว่า ‘The Inequality Virus’ หรือ ‘ไวรัสที่ไม่เท่าเทียม’ มีสาระสำคัญดังนี้

                โรคระบาดโควิด-19 เร่งขยายความเหลื่อมล้ำแก่ประเทศส่วนใหญ่อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งด้านความมั่งคั่ง เพศและเชื้อชาติ ในเวลาอันสั้นหลายร้อยล้านคนกลายเป็นคนจน พวกเศรษฐีพันล้านฟื้นตัวในเวลาเพียง 9 เดือน ในขณะที่คนยากจนอาจต้องใช้เวลาสิบปีกว่าจะฟื้นตัว สภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าระบบเศรษฐกิจโลกไม่ยุติธรรม ไม่สามารถแก้ความเหลื่อมล้ำ จำต้องถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล ต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมครั้งใหญ่เพื่อโลกที่เท่าเทียมและยั่งยืน

                ผอ. IMF คริสตาลินา กอร์เกียวา (Kristalina Georgieva) ประเมินว่าโควิด-19 ขยายความเหลื่อมล้ำ อาจส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจสังคม หลายคนจะรับผลของมันนับสิบปี

                ความเหลื่อมล้ำหมายถึงหลายคนต้องป่วยโดยไม่สมควร เด็กๆ ได้รับการศึกษาน้อยเพราะยากจน ผู้คนมากมายอยู่ในความทุกข์ยาก หวาดกลัว ไร้ความหวัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มาจากความผิดของเขา

                เรื่องจริงที่น่าเศร้าคือกว่า 3,000 ล้านคนไม่สามารถรับบริการดูแลสุขภาพ (ประชากรโลก 7,600 ล้านคน) แรงงาน 3 ใน 4 ไม่มีประกันสังคมหากตกงาน อีกมากมายที่ทำงานแบบหาเช้ากินค่ำไปวันๆ ผลจากโควิด-19 ทำให้ 200-500 ล้านคนเข้ากลุ่มคนยากจน กลุ่มนี้แหละที่จะต้องอยู่ในความยากจนเป็นสิบปีกว่าจะพาตัวเองหลุดพ้น

                ต้องเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดจากความขยันหรือขี้เกียจ แต่เป็นผลโดยตรงจากระบบเศรษฐกิจที่ขูดรีดตามแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neoliberal economics) ที่ใช้ในปัจจุบันกับอำนาจปกครองในมือชนชั้นนำ หากจะแก้ปัญหาต้องจัดการ 2 เรื่องนี้

                ตลกร้ายคือความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีพันล้านหดหายในช่วงแรกเมื่อตลาดหลักทรัพย์อ่อนตัว แต่ไม่ถึงปีตลาดฟื้นตัวอีกครั้งกลับมาร่ำรวยดังเดิม เหตุเพราะรัฐบาลหลายประเทศออกนโยบายอุ้มตลาดเงินตลาดทุน ด้วยสามัญสำนึกย่อมตอบได้ว่าเป็นการไม่ถูกต้องหากโควิด-19 ทำให้มหาเศรษฐีพันล้านร่ำรวยยิ่งขึ้น ในขณะที่หลายร้อยหลายพันล้านคนยากลำบากกว่าเดิม ผู้ที่รวยขึ้นควรนำเงินส่วนนี้ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลหนีไม่พ้น :

                รัฐบาลหลายประเทศต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือสตรี คนผิวสี พวกแอฟริกัน ชนพื้นเมือง เหล่านี้เป็นกลุ่มที่ปกติได้รับความยากลำบากอยู่แล้ว มักเป็นกลุ่มที่อัตราเสียชีวิตสูงกว่าทั่วไป

                ด้านการศึกษา แม้จำต้องปิดโรงเรียนช่วงระยะหนึ่ง แต่ต้องพูดด้วยว่าการหยุดเรียนเท่ากับลดทอนการพัฒนาเด็ก ความยากจนสำหรับคนรุ่นนี้ทอดยาวออกไปอีก

                โรคระบาดโควิด-19 ทำให้หลายร้อยล้านคนตกงาน ปัญหาหนักเกิดกับพวกไม่มีสวัสดิการรองรับ ตกงานเท่ากับไม่มีรายได้ ซึ่งในบางกรณีหมายถึงอีกหลายชีวิตที่จะไม่มีข้าวกิน เรื่องจริงที่รับรู้กันทั่วคือยิ่งเป็นแรงงานรายได้ต่ำโอกาสได้รับเงินชดเชยตกงานยิ่งน้อย หลายคนทำงานนอกระบบปราศจากหลักประกันใดๆ มีการประเมินว่าในปี 2020 แต่ละวันจะมีอย่างน้อย 6,000 คนที่เสียชีวิตเพราะอดตายจากปัญหาอันสืบเนื่องจากโควิด-19

                โควิด-19 ปลุกให้โลกเห็นความเหลื่อมล้ำว่าเป็นอย่างไร รัฐบาลจะทนเห็นคนทุกข์ยากลำบากเช่นนี้ หรือว่าควรปรับให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกื้อการุณย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน (Human Economy)

ข้อเสนอ 5 ประการจากออกแฟม :

            ประการแรก โลกที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมยิ่งขึ้น

                รัฐบาลทั้งหลายต้องกำหนดเป้าลดความเหลื่อมล้ำในกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่แค่เพียงกลับไปจุดก่อนเกิดโรคระบาดเท่านั้น ต้องมุ่งมั่นสร้างโลกที่เท่าเทียมกว่านี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน ลดความสำคัญต่อตัวเลข GDP เพราะไม่สะท้อนความเหลื่อมล้ำกับภาวะโลกร้อน ประเด็นลดความเหลื่อมล้ำต้องเป็นเรื่องหลักในนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการกดขี่ทางเพศ การเหยียดเชื้อชาติ มีตัวอย่างที่ดีว่าเกาหลีใต้ เซียร์ราลีโอน นิวซีแลนด์ตั้งเป็นวาระแห่งชาติ

            ประการที่ 2 โลกที่ระบบเศรษฐกิจห่วงใยคน

            ระบบเศรษฐกิจของโลกและของประเทศใดๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รัฐบาลเป็นผู้เลือกว่าจะใช้แนวทางใด จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะยึดมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง ปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัด (austerity) ต้องให้แน่ชัดว่าฐานะการเงินของประชาชนไม่มีผลต่อสุขภาพกับการศึกษา เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพดีถ้วนหน้า (Universal healthcare) จัดหาบริการพื้นฐานต่างๆ โดยให้ฟรีและเป็นธรรม

                บริการสาธารณอย่างครอบคลุม (Universal public services) เป็นรากฐานของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่เพียงคนรวยกับคนจนเท่านั้น ยังรวมถึงความเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิงด้วย เนื่องจากสตรีจำนวนมากต้องทำหน้าที่ดูแลคนในครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน (ต่างจากคนไปทำงานบริษัทได้เงิน) หลายประเทศ เช่น เยอรมนี คิวบา มอบค่าตอบแทนแก่คนเหล่านี้ วิธีนี้จะลดการกดขี่ในสังคมอย่างเป็นระบบ คอสตาริกากับไทยให้บริการสุขภาพดีถ้วนหน้านับสิบปีแล้ว

                ประชาชนทุกคนต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยฟรี

                ประการที่ 3 โลกที่ปราศจากการขูดรีดและมีรายได้มั่นคง

                การแก้ความเหลื่อมล้ำควรป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่แรก ด้วยการที่ธุรกิจต่างๆ มุ่งให้ความสำคัญกับสังคมมากกว่าผลกำไรของเศรษฐีเจ้าของกิจการ ต้องประกันค่าจ้างขั้นต่ำและกำหนดรายได้ขั้นสูง เช่น บางบริษัทกำหนดว่าตำแหน่งผู้จัดการมีรายได้ไม่เกิน 6 เท่าของคนงานที่มีรายได้ต่ำสุด การมีมหาเศรษฐีพันล้านไม่ใช่ความดีงาม แต่สะท้อนระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว

                โควิด-19 ย้ำเตือนความสำคัญของการประกันรายได้ เป็นวิธีการพาคนออกจากความยากจน มีการงานที่มั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่ ยังมีรายได้แม้เจ็บป่วย ช่วงเวลาเลี้ยงลูกอ่อน (parental leave) เงินช่วยเหลือขณะว่างงาน มีระบบให้ค่าตอบแทนแก่ผู้มีรายได้น้อยกว่าที่ควร

            ประการที่ 4 โลกที่มหาเศรษฐีโลกเสียภาษีอย่างเป็นธรรม

            ภาษีที่เป็นธรรมไม่ใช่การที่มหาเศรษฐีกับคนหาเช้ากินค่ำเสียในอัตราเดียวกัน เศรษฐีกับบรรษัทยักษ์ใหญ่ควรเสียภาษีเพิ่มทั้งอัตราและในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน (Wealth Tax) ยกเลิก Tax haven และนำภาษีเหล่านี้ไปใช้กับกิจการเฉพาะ เช่น สงเคราะห์ผู้ยากไร้ เป็นค่ารักษาแก่คนยากจน อุดหนุนธุรกิจขนาดย่อม

                มีข้อมูลว่าหากรัฐบาลจอร์แดน อียิปต์และโมร็อกโก เก็บ Wealth Tax เพียงแค่ 2% ประเทศเหล่านี้จะไม่ต้องขอกู้ยืมเงินจาก IMF เลย

                ประการที่ 5 โลกที่ปลอดภัยจากการเปลี่ยนสภาวะภูมิอากาศ

            การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติที่รุนแรงที่สุด ทำลายสิ่งมีชีวิตมากมายแล้ว รวมทั้งคนยากจน คนด้อยโอกาส สตรีมักได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ

                ทางแก้คือต้องสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green economy) รักษาโลกที่สมบูรณ์เพื่อชนรุ่นหลัง เลิกอุดหนุนการใช้พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) ซึ่งมหาเศรษฐีคือผู้ปล่อยก๊าซนี้มหาศาล นำภาษีส่วนนี้ส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซที่กำลังคุกคามมนุษยชาติ อุดหนุนรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลต้องจัดการทั้ง 2 เรื่องอย่างจริงจัง

อนาคตจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการตัดสินใจของวันนี้ :

                ในระยะสิบปีช่วง 2008 ถึง 2017-18 มหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในขณะที่ 3,000 ล้านคนทั่วโลกยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ ผู้ใช้แรงงาน 3 ใน 4 ของโลกไม่มีสวัสดิการหากตกงาน อีกจำนวนมากที่มีรายได้น้อยแม้ทำงาน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบเศรษฐกิจโลกกำหนดหรือเอื้อให้เป็นเช่นนั้น ระบบที่คนอยู่บนสุดเพียงหยิบมือเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งจากคนที่อยู่ฐานรากหลายพันล้านคน ตอนนี้โรคระบาดโควิด-19 ซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นอีก และส่งผลต่อประเทศต่างๆ พร้อมกัน

                หลายปัญหาใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ อยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินลงมือทำหรือไม่เท่านั้น.

---------------------------

เครดิตภาพ : https://assets.oxfamamerica.org/media/documents/the-inequality-virus-report.pdf

---------------------------

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"