ไทยยังมีโอกาสอีกมาก ล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว
การป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ก็เริ่มมีการคลายล็อกมาตรการควบคุมต่างๆ ออกมาตามสภาพพื้นที่รายจังหวัด โดยล่าสุดผลการประชุม ศบค.เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการคลายล็อกหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครที่ให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานในร้านได้ จำกัดเวลาไม่เกิน 23.00 น. จากเดิมที่ให้จำกัดเวลาไม่เกิน 21.00 น. โดยให้มีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 ก.พ.นี้เป็นต้นไป
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อทำให้เศรษฐกิจประคองตัวได้และสามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วหลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญต่อจากนี้เช่นกัน
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หนึ่งในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล มองภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งระบบต่อจากนี้ โดยให้ทัศนะว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบล่าสุด ที่เริ่มต้นพบการติดเชื้อที่สมุทรสาครเมื่อ 19 ธ.ค.63 หลายฝ่ายประเมินกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2564 น่าจะเติบโตในระดับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2563 ที่ติดลบประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ โดยหากไม่มีโควิดระบาดรอบนี้ก็คาดกันว่าเศรษฐกิจน่าจะโตประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ ก็สองปีรวมกัน (2563-2564) รวมกันก็ขาดอีกเล็กน้อย ก็สามารถเอากลับคืนมาได้ แต่การระบาดโควิดรอบใหม่เป็นเรื่องไม่แน่นอน เราก็รู้อยู่แล้วและมันก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่ก็เกิดกับอีกหลายประเทศในอาเซียนทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาทุกแห่ง
สำหรับประเทศไทยโดยส่วนตัวมองว่าดีขึ้นในเรื่องการควบคุมการแพร่เชื้อโควิด ถึงแม้จะพบตัวเลขการติดเชื้อในประเทศบางวันอาจสูงบ้าง แต่หากไปดูตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รักษาหายก็สูงเช่นกัน บางวันสูงกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้ออีก ผมมองว่าทิศทางมันก็น่าจะควบคุมได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ รัฐบาลจึงออกมาตรการเยียวยาประชาชนออกมาภายในขอบเขตสองเดือน
สิ่งที่รัฐบาลใช้คือการประคับประคองเศรษฐกิจ โดยหากเทียบกับมาตรการที่ใช้เมื่อเดือนเมษายน 2563 ตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั้งโลก มันเหมือนกับอยู่ในที่มืด เลยล็อกดาวน์เพราะตอนนั้นเน้นเรื่องการป้องกันการระบาดของโควิด แล้วก็ค่อยๆ แก้ไขจนเริ่มจะกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่มาเจอโควิดรอบใหม่ มาตรการที่ใช้ก็ไม่ได้ทำเหมือนเดิม เพราะมีการพัฒนาที่จะเห็นได้ว่าไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศแบบที่เคยทำ เพื่อรักษาไม่ให้ระบบเศรษฐกิจบอบช้ำมากเกินไป โดยให้ปิดพื้นที่เฉพาะ 5 จังหวัดที่มีความสุ่มเสี่ยง และอีก 28 จังหวัดที่เป็นจังหวัดล้อมรอบ 5 จังหวัดเสี่ยงเพื่อเป็นการกันไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยกเว้นร้านอาหารที่มีการออกมาตรการควบคุมออกมา
"ผมเลยเชื่อว่าเรื่องเศรษฐกิจ หากเราเอาอยู่ตั้งแต่มกราคมจนถึงมีนาคม ผมเชื่อว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ก็น่าจะดีขึ้น และเศรษฐกิจไม่น่าจะบอบช้ำอะไรมาก แต่ก็แน่นอนว่าการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่ออกมา บางสถาบันก็ลดให้ประเทศไทยเราจาก 4 เปอร์เซ็นต์กว่าเหลือ 2.8 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็ 3 เปอร์เซ็นต์บ้าง" สุพัฒนพงษ์ คีย์แมนทีมเศรษฐกิจรัฐบาลระบุ
-หมายถึงหลังสิ้นเดือนมีนาคมอาจได้เห็นการกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย?
จะค่อยๆ build up ขึ้นมา ผมว่าเดือนมีนาคมก็จะค่อยๆ ไต่ระดับความเชื่อมั่นขึ้นมา แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ความไม่แน่นอน หากคนไทยยังมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงอยู่ เพราะหากคนไทยไม่ทำ ไม่สามัคคีช่วยกันป้องกันมันก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลตั้งใจจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เคยออกมาแน่นอน เพราะหลายจังหวัดสถานการณ์ก็ดีขึ้น เช่น ระยอง ชลบุรี ก็เหลือ สมุทรสาคร ที่เรารู้จักที่เหมือนกับเป็นทุ่นระเบิดอยู่แล้ว เราจึงไม่โกหกตัวเอง
"รอบนี้จะเห็นได้ว่าเรามีพัฒนาการสามเรื่อง คือ หนึ่ง-เราไม่ใช้วิธีปิดเมือง สอง-การรักษาผู้ป่วยหากป่วยเร็วมากขึ้น สาม-ปฏิบัติการตรวจเชิงรุกเราดีขึ้น เราไม่ได้อยู่นิ่งกับที่หรืออยู่แต่กับที่ตั้ง แต่มีการไปไล่ตรวจหมด โดยโรงงานเขาก็ไม่ได้หยุดการผลิต แต่มีการตรวจพนักงานทุกคน ใครที่ไม่เป็นอะไรก็ทำงานไป คนที่เจอก็กักตัวไว้ที่โรงงาน หากมีอาการก็ให้เข้าสู่ระบบโรงพยาบาลสนาม"
เมื่อถามถึงว่า รัฐบาลจะมีการออกนโยบายหรือมาตรการอะไรออกมาอีกหรือไม่เพื่อเยียวยาระบบเศรษฐกิจประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พลังงาน กล่าวตอบว่า เหมือนเราทำซ้ำ อันนี้พูดตรงๆ แต่เราทำดีขึ้นเพราะเหมือนกับเราเจอเรื่องเดิม โจทย์ดูเหมือนเยอะขึ้น แต่เราก็เก่งขึ้น และเราทำตาม targeting คือแก้ตามจุด จังหวัดที่เราให้การช่วยเหลือที่เป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากโครงการเราชนะที่เปิดกว้างทั่วประเทศ อย่างกิจการโรงแรมใน 5 จังหวัดตะวันออก รัฐบาลมีมติ ครม.ออกมาเลยว่าหากมีเหตุสุดวิสัยจำเป็นต้องปิดกิจการ ประกันสังคมจ่ายครึ่งหนึ่งให้พนักงานเพราะเป็นการหยุดชั่วคราว ตอนนี้ก็มีการทยอยปิดไปบ้างแล้ว รวมถึงมาตรการเรื่องการผ่อนชำระหนี้ เช่นการเลื่อนการจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ยของวงเงินการกู้เงิน ก็บรรเทาได้เยอะ ส่วนโครงการต่างๆ เช่นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน รอไว้สักระยะ พอมีความพร้อมก็กลับมาเมื่อมีความพร้อม
ทั้งนี้หากไปดูตัวเลขเมื่อปี 2563 หลังเริ่มมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ จะพบว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ปี 2563 ตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นทุกอย่างดีขึ้นติดต่อกันจนถึงธันวาคม เช่นการส่งออกก็ดีขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการเข้าห้องพักในโรงแรม จากที่เคยต่ำถึงระดับ 3 เปอร์เซ็นต์ ค่อยๆ ขยับจนขึ้นไปถึง 35 เปอร์เซ็นต์ในเดือน พ.ย.63 ซึ่งหากไม่มีโควิดรอบนี้ คนไทยคงได้มีการฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็ทำให้ตัวเลขการเข้าห้องพักอาจไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เป็นไร มันก็เกิดขึ้นได้เพราะเป็นเรื่องความไม่แน่นอน
-ถ้าเริ่มมีการฉีดวัคซีนในประเทศไทย อาจส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเร็วขึ้น?
การฉีดวัคซีนต้องใช้เวลา คาดคะเนไม่ได้ แต่เราทำอย่างดีที่สุด ของเราเป็นหนึ่งในรัฐบาลของโลกที่เตรียมเรื่องวัคซีนไว้ให้กับประชาชน หากไม่นับโควิดเข้ามารอบใหม่ตอนช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 เราได้ที่หนึ่งของเรื่องการบริหารจัดการกับโรคระบาดและการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จากการประเมินของนิตยสารบลูมเบิร์ก
"ขอให้ประชาชนมั่นใจ ภูมิใจว่าอยู่ในประเทศที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งที่ดูแลประชาชน โดยก็มีที่มาจากความสามัคคีรวมกันของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ แต่เมื่อมาเกิดระลอกสองก็ทำใหม่ ทำซ้ำในโจทย์ที่ดูเหมือนจะใหญ่ แต่เราเก่งขึ้น เราเก่งขึ้นจนเราบอกว่าเราจะไม่เสียหายเหมือนเมื่อก่อน เราจะทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทำจากฐานเดิมที่ดีกว่า ก็ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ น่าจะเร็วขึ้น"
เมื่อถามว่าจากโควิดรอบสองที่เริ่มเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทำให้การทำงานการวางแผนด้านเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่วางไว้เดิม ต้องปรับเปลี่ยนแผนงานอะไรหรือไม่ สุพัฒนพงษ์-รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ยืนยันว่า ไม่ต้องปรับเยอะเพราะว่าเบากว่าที่เราคิดไว้ เพราะก็แค่ 5 จังหวัดกับ 28 จังหวัดเท่านั้น แต่ความรู้สึกเท่านั่นเอง พวกธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้เราก็ต้องลงไปช่วย
-ข้อกังวลเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องใช้เพื่อรับมือกับโควิด จนถึงขณะนี้มีงบประมาณรายจ่ายที่เพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่?
ผมคิดว่าด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างพวก โครงการเราชนะ เงินเราพอเหลืออยู่ ไม่ต้องกู้เพิ่ม และถ้าไม่มีระบาดอีกรอบหนึ่งก็ไม่ต้องกู้เพิ่ม และถึงแม้มีระบาด เราก็น่าจะเก่งขึ้นอีก วงเงินที่เคยกู้มารอบที่แล้ว ถึงตอนนี้ยังพออยู่ ก็เหลือประมาณ 2-3 แสนล้านบาท โดยมีการนำไปใช้กับโครงการไทยชนะแล้ว ใช้กันด้วยความระมัดระวัง ไม่สุรุ่ยสุร่าย อย่างที่รัฐบาลทำออกแบบโครงการพวกนโยบายอย่าง เราชนะ-เที่ยวด้วยกัน-โครงการคนละครึ่ง ก็ไม่ใช่เงินรัฐอย่างเดียว แต่เป็นเงินที่ประชาชนที่พอจะมีความเข้มแข็งหรือแข็งแรงก็มาร่วมด้วย
...อย่างโครงการเราชนะที่เราไม่ได้ให้เงินสด แม้หลายคนจะบอกว่าการให้เงินสดสะดวกดีกว่า แต่เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เงินจะไปที่ไหน ก็ไม่รู้ได้ว่าถูกนำไปช่วยคนอื่นอีกหรือไม่ หลายคนบอกว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ควรได้ฟรีๆ ที่ต้องขอบอกไว้ว่าไม่ฟรี เพราะทุกคนมีสิทธิ์และมีหน้าที่ รัฐบาลร้องขอเพียงเท่านั้นเอง ประชาชนได้สิทธิ์ไป 7 พันบาท แต่ขอเรื่องหน้าที่คืออย่านำสิทธิ์ไปใช้เงินซื้อของในร้านสะดวกซื้อ แต่นำไปใช้กับพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย บริการสาธารณะ ร้านที่เป็นของเอกชน บุคคลธรรมดา เพื่อให้เงินมันหมุนให้ได้มากที่สุด เงินก้อนเดียวจะได้ทำได้หลายๆ รอบ ไม่ใช่ได้เงินสดแล้วนำไปใช้ฟุ่มเฟือย เราไม่ได้ให้เงินไปเพื่อไปฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย แต่เราให้เพื่อประคับประคอง เอาไปซื้อของอุปโภคบริโภคให้ใช้ตามกรอบ เพราะไม่ใช่เงินฟรีแต่เป็นเงินภาษีของประชาชน เงินของแผ่นดิน อย่างการซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภค ไม่จำเป็นต้องเดินไกลเพื่อไปซื้อของในคอนวีเนียนสโตร์ ก็ซื้อข้าวสาร น้ำปลาจากร้านขายของชำใกล้บ้านก็ได้ เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียน
การฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราจะเป็นลักษณะการเกื้อกูลกัน เรารู้ว่ามีคนเดือดร้อนและเขาจะได้รับการเยียวยา ซึ่งแม้อาจมีข้อจำกัดในการใช้ แต่มีเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภค ขอเพียงแต่นำไปใช้จ่ายกับคนตัวเล็กๆ คนที่เป็นพ่อค้าหาบเร่แผงลอย บริการสาธารณะเช่นรถแท็กซี่ ให้มีการกระจาย ไม่ให้ไปรวมศูนย์กับบริษัทใหญ่ๆ ไม่ไปรวมศูนย์แบบจบแค่ครั้งเดียว แต่ให้เกิดการใช้จ่ายที่หลายๆ ครั้งติดต่อกันไป เช่นคนนำเงินที่ได้ไปใช้นั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง วินขี่มอเตอร์ไซค์ก็นำเงินนั้นไปซื้ออาหารกับแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เงินก็หมุนไปแบบนี้หลายรอบ ไม่ใช่ให้จบแค่ที่เดียวแล้วหายไปเลย
นโยบายลักษณะแบบนี้ทำให้รัฐบาลจึงประสบความสำเร็จจากการทำโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน อย่างโครงการคนละครึ่ง พบว่ามีผู้ใหญ่อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปมีการลงทะเบียนใช้โครงการคนละครึ่งร่วมสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนแม่ค้าตอนแรกอาจไม่อยากเข้ามาร่วมโครงการ แต่ตอนนี้เข้ามากันมาก คนขายพวงมาลัย ยังเข้าโครงการคนละครึ่งได้ การแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ได้จะแค่เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังสร้างความอยู่ดีเป็นสุขในสังคมในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน
ติดเครื่องเร่งช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี
-หลังจากนี้รัฐบาลและ ศบค.จะออกมาตรการหรือนโยบายอะไรใหม่ๆ อีกเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด?
ก็ต้องช่วย SME เพราะเขาได้รับผลกระทบเป็นครั้งที่สองแล้ว ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังก็กำลังดูอยู่
เช่นพวกธุรกิจเล็กๆ อย่างโรงแรม ก็พยายามจะเร่งเรื่องนี้ เพราะอย่างโครงการเราชนะอาจช่วยไปได้ระดับหนึ่ง แต่จะเป็นพวก MSME หรือ very micro sme เช่นแม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอย ร้านสินค้าธงฟ้ามากกว่า รัฐบาลก็อยากเห็นการเข้าไปช่วยเหลือ SME ให้ออกมาให้เร็วที่สุด ให้มาตรการเรื่องนี้ควรออกมาเป็นรูปธรรม เพราะเดิมทีคิดว่าพอจะเอาอยู่ได้ แต่พอตอนนี้ก็วูบลงไปอีกโดยเฉพาะพวกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลมีการออกมาตรการมาแล้วเพื่อส่งเงินเข้าไปเสริมสภาพคล่อง ร่วมหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกันเงินก้อนดังกล่าวอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ส่วนเรื่องปัญหาคนว่างงาน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมาให้ความสำคัญกับเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะนอกจากจะเข้าไปช่วยประคับประคองเอสเอ็มอีแล้ว การเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีก็จะรักษาเรื่องการจ้างงานไว้ด้วยได้
ที่เราห่วงก็คือเรื่องของความรู้สึก เพราะคนที่เจอปัญหาเรื่องเดิมซ้ำอีกโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เจอแบบนี้สองครั้งมันก็เหนื่อยเหมือนกัน ตรงนี้มันก็ต้องอาศัยกำลังใจ หากประชาชนไปช่วยกัน อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ทำให้เขารู้สึกดี แต่พอมาเจอตอนโควิดรอบใหม่เมื่อ 19 ธ.ค.63 ทุกอย่างที่เคยจะทำก็ต้องหยุดไปชั่วคราวก่อน เขาก็รู้สึกแย่มาหน่อย แต่เราพยายามเข้าไปช่วย เช่นเรื่องสภาพคล่องหรือการให้ปิดด้วยเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง
พลิกฟื้น ศก.สร้างอุตสาหกรรมใหม่
-จากวิกฤติโควิดและผลกระทบทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเรื่องการหารายได้เข้าประเทศหรือไม่?
แน่นอนอยู่แล้ว อันนี้โจทย์ยาก แต่เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยควรพึงทำมานาน ต้องปรับอยู่แล้ว ทิศทางมันก็ชัด ที่ผ่านมาก็มีการคิดกันมาบ้างแล้วก็ไปทำให้มันสำเร็จออกมา อย่างพวกโครงการอีอีซี หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเองก็ตาม ก็ต้องให้เป็นการท่องเที่ยวแบบคุณภาพให้มากขึ้น ซึ่งพวกนี้เอกชนเขาคิด เขาเก่ง เราก็มีหน้าที่ส่งเสริม อย่างอุตสาหกรรมใหม่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ก็ต้องทำต่อไป
ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยที่เคยย่ำอยู่กับที่ในประเทศไทย ทำธุรกิจเดิมๆ โดยที่โครงสร้างของเรา ประชากรก็น้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น อัตราการบริโภคต่อหัวก็อิ่มตัวเพราะถือว่าเจริญแล้ว นักลงทุนไทยก็หันไปลงทุนในต่างประเทศกันหมด ที่เขาไม่ได้ผิดอะไรเพราะเขาทำซ้ำ เช่นเคยขายปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมีที่ไทย แล้วมันถึงจุดอิ่มตัว ส่งออกไปเยอะ ก็เลยหันไปผลิตในต่างประเทศ เคยทำเบียร์ ทำเหล้า เสื้อผ้า ก็หันไปผลิตในต่างประเทศ เพราะเมืองไทยไม่รู้จะใส่เสื้ออะไรกันอีกแล้วเพราะดีมานด์มันอิ่มตัว ก็เลยไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเกิดอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น มี ecosystem ที่เปลี่ยนแปลงไป คนเหล่านี้จะกลับมาประเทศไทย กลับมาลงทุนในประเทศไทย ไม่มีใครหรอกที่ไม่อยากลงทุนในประเทศตัวเอง เพราะเมื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่จะมีเรื่องใหม่ๆ ตามมาเยอะ เช่นพอทำรถยนต์แบตเตอรี่ พวกแบตเตอรี่เก่าแต่ยังใช้ได้ก็นำไปติดที่บ้าน ก็สามารถเก็บไฟฟ้าได้ที่บ้าน ช้าๆ ไม่ต้องรีบ แล้วก็นำไปใช้ใหม่ได้ ต่อไปก็จะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ทุกอย่างต่อไปจะมีการพัฒนามากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีการติดตั้งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เรื่องดิจิทัล ต่อไปก็จะทำให้ชีวิตพวกเราเปลี่ยน
ทั้งหมดคนไทยทำได้ อย่างโครงการอีอีซีก็เป็นความท้าทาย เราต้องช่วยกันโดยเป็นเจ้าบ้านที่ดี คนไทยต้องสามัคคีกัน เพราะมันก็มีหลายปัจจัย เช่นปัจจัยด้านวัตถุ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure เรามีปัจจัยเรื่องทรัพยากรบุคคลที่เราอาจต้องอนุโลมเพราะมันใหม่มาก เราอาจต้องยอมให้เขา (นักลงทุน) นำผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการเข้ามาเพื่อมาสอนคนของเรา ให้เราได้มีการเรียนรู้ แต่อุตสาหกรรมใหม่ก็ไม่ได้ require คนจำนวนเยอะ เพราะเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมใหม่ก็จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น
วันนี้เราอาจต้องใช้การพัฒนาเยอะ ก็ไม่เป็นไร ก็ใช้วิธีการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามา แล้วให้เขาสอน ที่เราทำได้ จากนั้นที่เหลือก็เป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อย ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี
"ถ้าเราทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ มันไม่เห็นเหตุผลใดๆ ว่าทำไมประเทศไทยเราถึงจะไม่เป็นจุดดึงดูดในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะวันนี้ paradigm (กระบวนทัศน์) มันเปลี่ยน"
-แนวทางหารายได้ใหม่ๆ ของรัฐบาลจะมีอย่างพวกการเปิดกาสิโนหรือไม่?
ไม่มีหรอกครับ อย่างช่วงนี้ผมถึงพยายามบอกเหตุผลว่าเราต้องรักษาเสถียรภาพการเงินไว้ให้เข้มแข็ง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีบางประเทศเขาเป็นร้อย บางทีก็ 80 หรือ 70 ทุกประเทศในยามวิกฤติ ตัวเลขโดดขึ้นไปหมด แต่ของประเทศไทยเราพยายามคุมรักษา แต่ไม่ใช่เพราะเรากลัวที่จะสร้างหนี้ เราไม่ได้กลัว เพียงแต่เราอยากให้เก็บสภาพเข้มแข็งของเราเรื่องนี้ไว้ เพื่อวันหนึ่งหากเราจำเป็นต้องสร้างหนี้เพิ่ม จะเป็นการเพิ่มอย่างมีคุณภาพ เพื่อไปสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าทำมาเพื่อการประคับประคอง เดือดร้อนมาเราก็แจก อันนั้นมัน เวเนซุเอลา แจกแล้วก็หายไป แจกแล้วก็เป็นหนี้ เพราะไม่มีเงินหมุนไหลกลับเข้ามาแบบ long-term
...หากจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าได้กับทิศทางในอนาคตที่จะเป็นโอกาสของเรา เราต้องใช้เงินอีกเยอะ แต่เงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้กับสิ่งที่เราจะได้กลับคืนมา แต่หากเราใช้ฟุ่มเฟือยไม่ประหยัด ไม่ทำให้เงินหมุนได้หลายๆ รอบ ใช้ง่ายๆ แจกๆ ไป พอไปถึงจุดหนึ่งเราก็จะไม่มีเงินที่จะไปกู้เพิ่มเพื่อใช้ในการสร้างธุรกิจ อุตสาหกรรมใหม่ของเรา ยังต้องใช้เงินอีกมาก แต่ไม่เป็นไรเพราะเงินเหล่านี้คือเงินหมุนเวียน ก็จะทำให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ก็จะได้ผลพวงในระยะยาวหากเทียบกับการที่ไปแจก
การที่คนไทยเราสามัคคีกันในการควบคุมการระบาดของโควิด ทำให้เม็ดเงินงบประมาณที่เราใช้เยียวยาไม่สูงมากนัก เพราะเราต้องสำรองใช้สำหรับอนาคตอย่างอื่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาหนี้สาธารณะก็ใช้กับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นแรงดึงดูดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาที่ต้องใช้เวลา แต่เราก็ต้องทำ ซึ่งหากสมมุติรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรไว้เลย ทำแบบปะผุไปวันๆ เช่นได้แต่ซ่อมถนน ก็จะใช้เงินไม่มาก หนี้ไม่เยอะ แต่การเติบโตจะโตไม่ได้เลย แต่ปัจจุบันลองไปดู ใครมาที่ประเทศไทยก็อยากมาลงทุน ไปเวียดนามที่ว่าแน่ๆ ที่ห่วงกันว่าจะเป็นคู่แข่งประเทศไทย ไม่มีถนนแบบที่ไทยหรอก เพียงแต่เราต้องหาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการวางรากฐานไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่เราอาจยังไม่เห็นในวันนี้ ทั้งที่มันมีอยู่ กำลังทำอยู่ กับการที่เราได้ลงทุนไปในเรื่อง infrastructure ต่างๆ ท่านจะเชื่อหรือไม่ว่าเราจะมีรถไฟ 14 สาย ที่หลายสายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสถานีกลางบางซื่อก็ใหญ่เหลือเกิน แต่วันนี้เราอาจยังไม่เห็นเพราะเห็นกำลังก่อสร้าง รถไฟสายสีเขียวจะไปถึงบางปู คนไทยจะไปเที่ยวทะเลภายในเวลา 20 นาที จากสุขุมวิท จะไปศาลายาหรือปทุมธานี ต่อไปก็จะเดินทางภายในไม่กี่สถานี ในอีกห้าปี และในอนาคตสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติจะเป็นสวนแฝดคู่กัน จะโตขึ้นมา เราจะมีสวนใหม่กลางกรุงเทพฯ
"ผมว่ามันเกินจินตนาการ เพราะทำเยอะเหลือเกิน สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดใน 5-7 ปี และทุกปีนายกรัฐมนตรีพยายามให้มีรถไฟปีละสายให้เปิดทำการ แต่เราอาจยังไม่เห็นตอนนี้ เพราะไปดูว่าหนี้สาธารณะเยอะ เราเห็นแต่ปัญหาปัจจุบัน แต่เราไม่เคยดูไม่เคยเห็นภาพเลยว่า แผนงานที่รัฐบาลจะทำให้คลองใสสะอาดมันมีแผนอยู่ วันหนึ่งอย่าตกใจหากคลองแสนแสบใสสะอาดขึ้นมา เพราะมันอยู่ในแผนอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่เราได้เห็นคลองโอ่งอ่าง คลองลาดพร้าวใสแล้ว ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดูดีขึ้น มีร้านค้าที่สวยงาม
สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้น รัฐบาลพยายามจะปะติดปะต่อ แต่มันเยอะเหลือเกิน ผมคิดว่าเราอยู่ในประเทศที่ดี ผมมาทำงานในรัฐบาลได้ห้าเดือน ผมก็มองเห็นว่า 5-7 ปี กรุงเทพฯ มันเปลี่ยน คนที่จะมองได้ดีที่สุดคือใครรู้หรือไม่ คนฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลองให้เขามาอยู่เมืองไทย เขาจะบอก ชีวิต..สวรรค์"
...ผมว่าทั้งโลกทุกคนแย่ลงหมด แต่ประเทศไทยไม่น่าจะแย่ที่สุด เรายังมีโอกาสมาก เราต้องล้มแล้วลุกเร็ว.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
บุญช่วย ค้ายาดี
......................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |