30 ม.ค.64 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยมีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 608,747 คน รวมแล้วตอนนี้ 102,524,527 คน ตายเพิ่มอีก 15,839 คน ยอดตายรวม 2,212,963 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 174,518 คน รวม 26,462,158 คน ตายเพิ่มอีก 3,829 คน ยอดตายรวม 446,445 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 6,269 คน รวม 10,727,240 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 59,826 คน รวม 9,118,513 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,238 คน รวม 3,813,048 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 29,079 คน รวม 3,772,813 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 363 คน ตายเพิ่มอีก 12 คน ตอนนี้ยอดรวม 139,515 คน ตายไป 3,115 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%...
วิเคราะห์ภาพรวมการระบาดทั่วโลก...
หากเปรียบเทียบกับช่วงกลางปี 2020 จะพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนการติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเดิมราว 3 เท่า และมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเดิม 2 เท่า โดยมีจำนวนการตายเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเดิม 3 เท่า
ทั้งจำนวนการติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ และจำนวนการตายในแต่ละวันล้วนเพิ่มขึ้นมาก โดยพบว่าขึ้นเร็วชัดเจนตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา
ที่น่าสังเกตคือ จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าจำนวนการตายที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นคงไม่ใช่แค่จำนวนการติดเชื้อที่เพิ่มแต่เพียงอย่างเดียว อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ของการระบาด ซึ่งหากพิจารณาตามเงื่อนเวลา ก็เป็นช่วงที่พบการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ ดังที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้
จึงเข้าใจได้ถึงความห่วงใยของวงการแพทย์สากลที่ติดตามผลของวัคซีนชนิดต่างๆ ที่นำออกมาใช้ว่าจะยังใช้ได้ผลกับสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ฯลฯ หรือไม่
ด้วยข้อมูลในปัจจุบัน ดูเหมือนวัคซีนจะยังได้ผลกับสายพันธุ์สหราชอาณาจักรที่ตอนนี้กำลังขยายการระบาดไปทั่วโลก แต่กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น ดูเหมือนจะได้ผลน้อยลงบ้าง แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ล่าสุดมีการเผยแพร่ผลการวิจัยระยะที่สามของวัคซีนอีกตัวหนึ่งคือ บริษัท Johnson & Johnson ของอเมริกา
เป็นวัคซีนประเภท Adenovirus vector คล้ายกับของ Astrazeneca/Oxford
โดยนี่เป็นวัคซีนที่ใช้ Adenovirus-26 เป็นตัวนำพาส่วนของยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด หรือแอนติบอดี้ขึ้นมา ในขณะที่ของ Astrazeneca/Oxford ใช้ Chimpanzee Adenovirus
Johnson & Johnson ทำการวิจัยในอาสาสมัครจำนวน 43,783 คน ทั้งในอเมริกา ลาตินอเมริกา และแอฟริกาใต้
ผลวิจัยพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการระดับปานกลางรุนแรงได้ 66% ประเมินผล ณ 28 วันหลังฉีดวัคซีน (ภาพรวมของทุกประเทศที่วิจัย) โดยจำแนกเป็น 72% ในอเมริกา 66% ในลาตินอเมริกา และ 57% ในแอฟริกาใต้
ทั้งนี้หากวิเคราะห์เฉพาะการป่วยรุนแรง จะสามารถป้องกันได้ 85%
ข้อดีของวัคซีนของ Johnson & Johnson คือ ฉีดเพียงเข็มเดียว และการเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บในตู้เย็นธรรมดาได้ ต่างจากวัคซีนประเภท mRNA ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิเย็นจัดซึ่งอาจทำให้มีปํญหาในทางปฏิบัติสำหรับประเทศที่ไม่มีระบบ cold chain ที่ดีพอ
คาดว่า Johnson & Johnson จะดำเนินการยื่นขออนุมัติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือนกุมภาพันธ์นี้
การพิจารณาใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆ นั้น หลักการตัดสินใจว่าจะฉีดอะไรหรือไม่ ต้องคำนึงถึงเรื่องความจำเป็น ข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยวัคซีนนั้นๆ สรรพคุณในการป้องกันโรค วิธีการฉีด จำนวนครั้ง ระยะเวลาที่ต้องฉีด รวมถึงผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น
ประชาชนควรสอบถามบุคลากรทางการแพทย์ให้ถ้วนถี่ และจำเป็นต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่ตัวเองมี และประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรืออาการแพ้ต่างๆ ในอดีตที่เคยเป็น จะได้ช่วยกันระแวดระวัง และตัดสินใจได้ถูกต้อง หลังฉีดวัคซีนควรรอสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที
ขอให้ป้องกันตัวและสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัด อย่าให้ติดเชื้อ
ด้วยรักต่อทุกคน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |