พปชร.ส่งชิงเก้าอี้นครศรีฯ ขีดเส้น8เดือนยกร่างรธน.


เพิ่มเพื่อน    

  บิ๊กป้อมลั่นกลองรบศึกเลือกต้องซ่อมนครฯ เปิดห้องถก กก.บห.พปชร.จัดคนสู้ ขณะที่เสี่ยหนูขอหลีกทางรักษามารยาททางการเมืองให้เจ้าถิ่น ปชป. ด้าน กมธ.แก้ รธน.เคาะส.ส.ร.ยกร่างฉบับใหม่ 240 วัน

    เมื่อวันศุกร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ชิงตำแหน่งเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช แทนนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง โดยได้รับการทักท้วงจากพรรค ปชป.ให้คำนึงถึงมารยาททางการเมือง ว่ากำลังนัดประชุมกรรมการบริหารพรรค พปชร.อยู่ เมื่อประชุมก็จะรู้ แต่เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็แพ้ไปเพียงแค่กว่า 2,000 คะแนน ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นการต่อสู้ทางการเมือง
    เมื่อถามว่าแนวโน้มการส่งผู้สมัครมีโอกาสเป็นไปได้สูงใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ยังไม่รู้ว่าการประชุมพรรคออกมาเป็นเช่นไร เมื่อถามว่าการออกมาพูดของพรรค ปชป. ทำให้บรรยากาศการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า "ไม่มี ไม่มีอะไร สื่อไปคิดกันเอาเอง อย่ามาถามเลย ยืนยันว่าการส่งผู้สมัครหรือไม่ส่งผู้สมัครถือว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นเรื่องของประชาธิปไตย พรรคจะส่งหรือไม่ส่งไม่เป็นไร พรรคไหนจะส่งก็ส่ง พรรคไหนจะไม่ส่งก็ไม่ส่ง และย้ำว่าไม่เกี่ยวกับมารยาททางการเมือง"  
ขณะที่?นายอนุทิน? ชาญวีรกูล? รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยรักษามารยาท เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้นสูญเสียที่นั่งไป จึงถือเป็นมารยาทที่จะไม่ส่งผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่ง
    อย่างไรก็ตาม นายอนุทินปฏิเสธการตอบคำถามถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ในการส่งผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช โดยระบุสั้นๆ ว่า "ไม่รู้ เอาแบบลุงป้อมบ้าง"
    ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการพีซทอล์ก ว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ถอยในสนามนี้ พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะทวงมารยาททางการเมือง มองว่าไม่ถึงขั้นสร้างความร้าวฉานถึงขนาดถอนตัว
“เรื่องราวการวิเคราะห์ทางการเมืองนั้นยังเป็นกระดานการเมืองแบบปกติ เชื่อว่าสถานการณ์การวิวัฒนาการต่อไปนี้จะไม่ใช่ลักษณะการเมืองที่เป็นปกติ เพราะด้วยสภาพต่างๆ ที่แลเห็นนั้น เราหาอนาคตกันไม่เจอ ดังนั้นในแต่ละเรื่องราวความยากจน ความเดือดร้อนของประชาชนจะเป็นตัวกำหนดทุกเรื่อง และมองว่าท้องซึ่งหมายถึงความหิว จะเป็นตัวกำหนดการเมืองกันในรอบนี้” นายจตุพรระบุ    
ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … แถลงถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของ กมธ.ว่า โดยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้การเลือกตั้งที่มาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จำนวน 200 คน และเห็นด้วยกับการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
"สำหรับกรอบการดำเนินงานของ กมธ. คาดว่าที่ประชุมจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยเชิญสมาชิกรัฐสภาทั้ง 109 คน ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ขอแปรญัตติมาชี้แจงผลและอภิปรายรายละเอียดคำแปรญัตติในวันที่ 5 กุมภาพันธ์” นายสมคิดระบุ
         นายสมคิดกล่าวต่อว่า กมธ.ได้มีการลงมติในมาตรา 256/13 สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก และมีกลุ่มที่เสนอ 180 วัน แต่ยังสงวนความเห็นไว้อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงให้รอการพิจารณาไว้ก่อน ทั้งนี้ กมธ.เสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบตามร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ส่วนในมาตรา 256/14 การพิจารณาและตัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ประชุมมีมติให้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 กุมภาพันธ์
    นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางคณะ กมธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจ ส.ส.ร. ในการจัดตั้งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะให้ทาง ส.ส.ร.ไปตั้งเองเลยหรือไม่ หรือทางคณะกมธ.เป็นผู้กำหนดกรอบให้เลย ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะให้ ส.ส.ร.ไปตั้งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเอง
         นายสมคิดกล่าวต่อว่า สำหรับตารางการทำงานของคณะ กมธ.นั้น วันที่ 4 ก.พ.นี้ ทาง กมธ.จะลงมติความเห็นที่แตกต่างและยังแขวนไว้ทุกมาตรา และในวันที่ 5 ก.พ. จะเชิญ ส.ส.ที่แปรญัตติจำนวน 109 คน แบ่งเป็น ส.ส. 101 คน และ ส.ว. 8 คน ว่าจะยืนยันหรือถอดคำแปรญัตติ จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง ในการประชุมร่วมรัฐสภา ประมาณวันที่ 24-25 ก.พ. และทิ้ง 15 วัน แล้วก็เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค.
    วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพิ่มเติม จำนวน 4 คน ในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ลงมติเลือกซึ่ง ประกอบด้วย 1.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 2.นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 3.นายภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 4.นางปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น
 ทำให้มีกรรมการสมานฉันท์รวมแล้วทั้งหมด 15 คน จากจำนวนกรรมการที่มีทั้งสิ้น 21 คน โดยจะเข้าร่วมประชุมกับกรรมการสมานฉันท์อีก 11  คน ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ มีวาระพิจารณาสำคัญคือการเลือกกรรมการให้เป็นตำแหน่งต่างๆ ที่เหลือ เช่น รองประธานกรรมการ, โฆษกกรรมการ รวมถึงระดมความเห็นต่อการวางแนวทางการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะการดึงคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลเข้าร่วม.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"