คัมภีร์ 5 ข้อป้องกันติดเชื้อโควิดรอบ 2


เพิ่มเพื่อน    

 

สสส.-สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ เตือนกลุ่มรุ่นใหญ่วัยตกกระมีความเสี่ยงสูง อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาดรอบสอง งดออกจากบ้านช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ แนะ 5 วิธีป้องกันติดเชื้อ ลดอาการป่วยรุนแรง เสพข่าวสารอย่างมีสติ-ลดการรวมกลุ่ม-เลี่ยงเดินทาง-กินเป็น-เน้นขยับร่างกาย-รักษาสุขอนามัย ยกระดับสร้างสุขภาวะที่ดี New Normal ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตใหม่เข้มข้น

 

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากสถิติในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งประเทศ (เป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์) จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สสส.ได้สานพลังกับภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ จัดทำชุดข้อมูลสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับประชากรกลุ่มเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ คนพิการ ให้มีสุขภาวะที่ดี สาเหตุที่ต้องเน้นย้ำไปที่กลุ่มผู้สูงอายุอีกครั้ง เพราะประชากรกลุ่มนี้หากได้รับเชื้อจะเสี่ยงเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

 

“การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่มีความเสี่ยงมากกว่ารอบแรก เพราะพบตัวเลขคนติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลให้ดี ครอบครัวที่มีคนในครอบครัวอายุ 60 ปีขึ้นไปอาศัยร่วมอยู่ด้วย ขอความร่วมมือรักษาระยะห่างในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หรือหากจำเป็นต้องออกไปจริงๆ ให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง และหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้เลี่ยงการไปในจุดที่พบผู้ติดเชื้อ” ภรณีกล่าว

 

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า โควิด-19 รอบนี้ส่วนมากเป็นการติดเชื้อในประเทศ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงรับเชื้อ และไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น การป้องกันที่ดีคือ ผู้สูงอายุควรอยู่ในแต่ในบ้านให้มากที่สุด ไม่มีความจำเป็นไม่ควรออกไปนอกบ้าน ป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ต่อไป โดยมีข้อแนะนำดังนี้ 1.โรงเรียนผู้สูงอายุ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ควรงดกิจกรรมที่รวมกลุ่มกัน เช่น การประชุม การสัมมนา การแข่งกีฬา 2.ผู้สูงอายุต้องหยุดเดินทางข้าม จังหวัดด้วยรถสาธารณะ 3.ผู้สูงอายุควรเลี่ยงพบปะเพื่อนฝูงตามร้านอาหารจนกว่าสถานการณ์จะเบาบางลง 4. ผู้สูงอายุต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างทุกครั้งที่ไปพื้นที่สาธารณะ 5.ผู้สูงอายุไม่ควรวิตกกังวลจนเกิดเป็นความเครียด เพราะจะกระทบต่อสุขภาพ หากทำทั้ง 5 ข้อนี้ได้จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

 

“การที่ผู้สูงอายุอยู่บ้านตลอดเวลา แน่นอนจะทำให้รู้สึกเครียด กังวล ว้าวุ่นใจ วิธีที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายอีกทางหนึ่ง คือ เลือกรับข้อมูลข่าวสารเรื่องโควิด-19 เป็นช่วงเวลา เพราะการเสพข่าวเรื่องนี้มากเกินไปอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวจนกระทบต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ควรใช้ชีวิตให้สมดุล นอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ทานอาหารวันละ 2 มื้อ เน้นกินผัก-ผลไม้ ออกกำลังกายในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีคนพลุกพล่าน เน้นทำสมาธิ อ่านหนังสือ เพื่อฝึกกายและจิตให้นิ่ง สุดท้ายขอให้คนไทยและเพื่อนร่วมโลกโดยเฉพาะผู้สูงอายุปลอดภัยจากโควิด-19 ที่จะอยู่กับเราในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองให้ดี” ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ กล่าว

 

 

กทม.ครองแชมป์ผู้สูงวัยของประเทศ

จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดคือ กทม. มากกว่า 1 ล้านคน (17.98%) รองลงมาคือ นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ในปี 2575 เมืองไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพพุ่งสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท การจัดสรรเบี้ยผู้สูงอายุจะมากขึ้น ทั้งนี้ปี 2561 งบประมาณจัดสรรเบี้ยยังชีพมากถึง 66,359 ล้านบาท คาดหมายว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงวัย และผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3,500,000 คน จากตัวเลขระบุว่า ในอนาคตคนไทย 1 ใน 3 จะเป็นผู้สูงวัย

 

ข้อมูลทั่วโลกในปี 2560 มีประชากรโลกรวม 7,550 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 12.7 หรือ 962 ล้านคน คนทั้งโลกมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 10 ดังนั้นประชากรโลกกลายเป็นสังคมสูงวัย โดยเฉพาะในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2560 ทวีปยุโรปมีผู้สูงวัยร้อยละ 24.7 อเมริกาเหนือร้อยละ 21.7 กลุ่มประเทศอาเซียน ตามมาด้วยประชากรสูงวัยร้อยละ 9.9 หรือ 63.9 ล้านคน

 

นิด้าหนุนสุขภาวะทางปัญญาเด็กไทยฉลาดใช้สื่อ

สสส.จับมือคณะนิเทศฯ สถาบันนิด้า แจกแจงผลสำรวจช่วงวันเด็กปี 64 ในสถานการณ์โควิด เด็กไทยใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ถึง 89% อยู่กับผู้ปกครองเพียง 11% ยุคโควิด-19 รอบใหม่เด็กอยากเที่ยว-อยากบอกรักพ่อแม่-ให้คำมั่นสัญญาเป็นเด็กดี-อยากให้ครอบครัวเข้าใจมากขึ้น ชวนเปิดพื้นที่พัฒนาพลเมืองเท่าทันสื่อ เป็นพลเมืองไทยฉลาดใช้สื่อ เพื่อการตื่นรู้และสร้างระบบนิเวศนักสื่อสารสุขภาวะ

 

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติปี 2564 สสส. คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันสำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการจะสื่อสารกับครอบครัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อดึงให้เยาวชนมาใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ สสส.ที่สนับสนุนให้ “คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ” โดยพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะให้ประชาชนเป็นผู้ใช้และผู้สร้างสรรค์สื่อ (media users and creators) ที่รอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) สู่การเป็น “พลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ” ที่มีทักษะ 4 ด้าน คือ 1.การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL – Media, Information and Digital Literacy) 2.การสื่อสารและการสร้างความร่วมมือ 3.การเป็นผู้นำเพื่อสร้างการ เปลี่ยนแปลง และ 4.การตระหนักรู้เท่าทันและการสะท้อนความคิด

 

“เด็กไทยยอมรับว่าใช้เวลาอยู่กับตัวเองผ่านสื่อสังคมคมออนไลน์มากกว่าใช้เวลาอยู่กับผู้ปกครอง และใช้สื่อเพื่อการติดต่อสื่อสารเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันกับผู้ปกครอง ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็น พูดคุยกับเพื่อนผ่านสื่อ ในวันเด็กแห่งชาติปี 2564 เด็กๆ ต้องการใช้สื่อบอกรักและห่วงใยเรื่องสุขภาพผู้ปกครองในช่วงการระบาดของโควิด-19 และสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี สิ่งที่เด็กอยากได้จากผู้ปกครอง มีเพียงอยากให้ผู้ปกครองพาไปเที่ยว หากทุกภาคส่วนมีทิศทางการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในโลกยุคดิจิทัล ร่วมกันสนับสนุนให้มีการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันและเปิดพื้นที่รับฟังกันมากขึ้นในครอบครัว จะช่วยเสริมสร้างปัจจัยที่จะโน้มนำคนไทยให้มีวิถีชีวิตสุขภาวะท่ามกลางบริบทของสังคมในยุคศตวรรษที่ 21” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว

 

 

ศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-18 ปี จำนวน 2,972 ตัวอย่างทั่วประเทศไทยในช่วงวันเด็กแห่งชาติปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.0 ใช้เวลาบนโลกออนไลน์กับตัวเอง รองลงมาร้อยละ 38.3 จะใช้เวลากับเพื่อนและเพียงร้อยละ 11.7 ใช้เวลากับพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัว และเมื่อถามถึงจุดประสงค์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.0 ระบุว่า เพื่อเล่าเรื่องราวความรู้สึก ความคิดประสบการณ์ของตัวเองผ่านสื่อ รองลงมาร้อยละ 56.4 ระบุว่า เพื่อติดต่อ พูดคุย หาเพื่อนใหม่ที่รู้จักผ่านโลกออนไลน์ ร้อยละ 54.5 ระบุว่า เพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อนที่รู้จักในโรงเรียน หรือเพื่อนบ้านด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.2 ระบุว่า ใช้ติดต่อสื่อสารเรื่องทั่วไป เช่น บอกธุระ ให้มารับ-ส่ง รองลงมา ร้อยละ 57.9 ระบุว่า ใช้แสดงความรู้สึก เห็นใจซึ่งกันและกัน เช่น เขียนแสดงความคิดเห็นเวลาคนในครอบครัวโพสต์ และร้อยละ 49.9 ใช้พูดคุย แบ่งปันความสนุกสนาน เช่น แชร์คลิป โพสต์ภาพ ส่งเพลง ดูยูทูบด้วยกัน

 

 

“สิ่งที่เด็กๆ อยากบอกกับผู้ปกครองผ่านสื่อสังคมออนไลน์เนื่องในวันเด็กในปี 2564 พบว่า ร้อยละ 48.46 อยากบอกรักพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ห่วงใย และให้รักษาสุขภาพห่างไกลโควิด-19 รองลงมา 20.54 อยากใช้พื้นที่สื่อสังคมแสดงความตั้งใจทำ สัญญากับครอบครัว เช่น ตั้งใจว่าจะเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ในขณะที่ ร้อยละ 9.16 อยากใช้พื้นที่สื่อสังคมในการระบายความในใจ หรือสิ่งที่คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือสิ่งที่อึดอัดกับผู้ปกครอง และอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้น เช่น อยากให้พ่อแม่ฟังความคิดเห็น หรือปล่อยให้ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ รวมถึงอยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้มีแต่ผลเสียเท่านั้น สำหรับสิ่งที่เด็กอยากได้ในวันเด็กปี 2564 พบว่า เด็กร้อยละ 72.52 อยากให้ผู้ปกครองพาไปเที่ยว ในขณะที่ ร้อยละ 27.48 อยากได้ของขวัญวันเด็ก อยากเจอพ่อแม่ อยากกลับไปอยู่กับครอบครัว” ศ.ดร.ยุบลกล่าว

 

 

เยาวชน 54% มั่นใจจัดการความเสี่ยงทางออนไลน์ได้

ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT-Child Online Protection Action Thailand) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ปี 2562 กลุ่มตัวอย่างอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คนจากทั่วประเทศ

 

เด็กส่วนใหญ่ 89% มองว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ตระหนักเรื่องภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ เด็ก 54% เชื่อว่าเมื่อเผชิญภัยหรือเกิดความเสี่ยงทางออนไลน์กับตัวเองสามารถจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ และ 86% สามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือเพื่อนได้ เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ ซึ่งเพศทางเลือกถูกกลั่นแกล้งมากที่สุดถึง 49% เมื่อถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์จะมีเด็กถึง 40% ที่ไม่ได้บอกใคร เด็ก 34% เคยกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นทางออนไลน์ ซึ่งส่วนหนึ่งบอกว่าเป็นการโต้ตอบที่ตนเองโดนแกล้ง

 

สิ่งที่เด็กทำเมื่อโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์ อันดับ 1.บล็อกบุคคลที่กระทำกับเรา 44% 2.ลบข้อความหรือภาพที่  ทำให้อับอาย กังวลหรือรู้สึกไม่ดี 38% 3.เปลี่ยนการตั้งค่าความเป็น  ส่วนตัว 31% 4.รายงานแจ้งปัญหาผ่านปุ่มแจ้งบนเว็บไซด์หรือ  เฟซบุ๊ก หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 29% 5.ไม่ทำอะไรเลย 22% 6.หยุดใช้อินเทอร์เน็ตชั่วคราว 13% เด็ก 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ 50% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร เด็ก 6% เคยครอบครองสื่อลามกอนาจาร เด็กเคยส่ง ส่งต่อ หรือแชร์สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ซึ่งเป็นการทำผิด กม. เด็ก 2% ยอมรับว่าเคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งให้คนอื่นๆ ด้วย เป็นพฤติกรรมความเสี่ยงที่อาจนำภัยอันตรายมาถึงตัว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"