ฤาปีนี้จะเห็นหนี้ครัวเรือน พุ่งไปที่ 90% ของจีดีพี?


เพิ่มเพื่อน    

       หนึ่งในชุดตัวเลขที่ผมติดตามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 คือ “หนี้ครัวเรือน” ของคนไทย

            เป็นสถิติที่วัดถึง “ปากท้อง” ของชาวบ้านอย่างแท้จริง และสะท้อนว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหา “หนี้สิน” ของผู้คนระดับรากหญ้าได้เพียงใด

            เพราะจากที่ผมได้พบปะกับชาวบ้านในการทำรายการ “ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน” ให้กับ ThaiPBS นั้น ข้อกังวลที่เห็นได้ชัดคือ

            ชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านในชนบทล้วนมีหนี้สินอย่างหนักด้วยกันทั้งนั้น

            เจอกับชาวบ้านในชุมชนชนบทคราใด ผมจะไม่ลืมถามว่าใครเป็นหนี้บ้าง

            เชื่อไหมว่า กว่า 90% ของผู้คนยกมือ บอกว่าเป็นหนี้ทั้งนั้น

            บางคนบอกว่าเป็นหนี้ทั้งกับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และเป็นหนี้นอกระบบ

            วิธีการใช้ชีวิตให้รอดไปวันๆ ก็คือการไปกู้เงินนอกระบบมาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับ ธ.ก.ส.

            เพื่อจะได้กู้ ธ.ก.ส. ต่อเพื่อจะได้เอาเงินกู้นอกระบบมาผ่อนชำระ ธ.ก.ส.

            เป็นวงจรแห่งความรันทดอย่างนี้

            แต่ดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบนั้นสูงกว่าระบบธนาคารของรัฐมาก ไปๆ มาๆ เกษตรกรไทยก็จึงจมปลักอยู่กับหนี้สินตลอดชีวิต

            แม้แต่ลูกหลานก็ไม่มีปัญญาจะช่วยครอบครัวพ้นจากสภาพการเป็นลูกหนี้

            จึงทำให้เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่ไทยเราจะแก้ปัญหาความยากจนซ้ำซากอย่างที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ได้

            พอพิษโควิดมาหลอกหลอนก็เห็นได้ชัดว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะหนักหน่วงรุนแรงทับซ้อนลงไปอีก

            เมื่อต้นเดือนนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกรายงานประเมินว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือน” ล่าสุดในไตรมาส 3/2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า

            หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางสัญญาณอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจ

            โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ ที่ 86.6% ต่อจีดีพี

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของการก่อหนี้ก้อนใหม่ในภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2563

            โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย

            รวมถึงหนี้ก้อนใหญ่ เช่น หนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์

            ตลอดจนหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

            รายงานชิ้นนี้ประเมินว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยจะขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 90% ต่อจีดีพีในช่วงสิ้นปี 2563 นี้

            อีกทั้งยังมีโอกาสที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะเร่งขึ้นต่อในปีใหม่นี้

            โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเจอกับโควิดระบาดรอบใหม่ที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้

            มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2564 อาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน

            ส่งผลทำให้จีดีพีในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%

            ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข

            ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

            ดังนั้น โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่าคือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้

            ปัญหาใหญ่คือหนี้ครัวเรือนของชาวบ้านไม่ได้กู้มาเพื่อจะเพิ่มผลผลิตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเพื่อไปลดหนี้

            แต่กลายเป็นหนี้ที่พอกพูนขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าหนี้เดิมจะลดลง เพราะไร้โอกาสที่จะเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และไม่ได้ช่วยสร้างทักษะใหม่หรือความรู้ความสามารถที่จะฉีกตัวเองออกจากวงจรเก่าๆ ที่กลายเป็นกับดักของความยากจนนั่นเอง

            ตราบเท่าที่ยังไม่มีแผนปฏิบัติการที่ปฏิรูปโครงสร้างของรายได้และรายจ่ายของชาวบ้าน ตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ก็จะเป็นสัญญาณหลอกหลอนเกษตรกรไทยไปตลอดกาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"