รฟท.ปรับแผนรับมือปิดบริการสถานีหัวลำโพง


เพิ่มเพื่อน    

29 ม.ค. 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะไม่ให้มีการเดินรถเข้าไปยังสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) หลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อภายใน พ.ย. 2564 ว่า การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการนำผลการศึกษาในเรื่องในเรื่องการบริหารจัดการสถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อปี 2555-2556 มาพิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ได้เสนอให้ฝ่ายบริหาร นำผลการศึกษาเดิม มาพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงจะพัฒนาหรือปรับสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นในรูปแบบใด

“โจทย์ของ รมว.คมนาคม ที่ให้เพิ่มเติม คือ ถ้าปิดหัวลำโพงแล้ว จะไม่มีการนำรถเข้ามาในหัวลำโพงเลย ต้องไปดูว่าที่ดินและสถานีต่างๆ เช่น บริเวณชุมชนสามเหลี่ยมจิตรลดา, สามเสน จะสามารถนำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งหากปิดหัวลำโพง คือ ผู้โดยสารอาจจะลงที่บางซื่อ แต่ตราบใดที่เรายังไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุง ยังไม่มีที่เติมน้ำมัน รถอาจจะเข้ามาซ่อมบำรุงหรือล้างทำความสะอาดที่หัวลำโพง แต่ยืนยันว่า จะไม่กระทบกับนโยบายดังกล่าว โดยจะให้ปรับตารางเวลาเดินรถที่จำเป็นวิ่งเข้าหัวลำโพงช่วงระหว่าง 22.00-04.00 น. เท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรในกรุงเทพฯ” นายนิรุฒ กล่าว

นายนิรุฒ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของรถไฟสายตะวันออกที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนไว้ 2-3 ทางเลือก ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการจากสถานีมักกะสัน เข้ามายังสถานีหัวลำโพง จะมีประมาณ 2,000-3,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ในเรื่องดังกล่าว จะต้องบูรณาการกับระบบโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคม เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อเข้ามารับ-ส่งในจุดนี้ โดยหยิบยกจากกรณีการย้ายท่าอากาศยานดอนเมืองไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอาจจะต้องมีผลกระทบบ้าง ในส่วนของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนบางกลุ่มนั้น ต้องบูรณาการร่วมกันให้ชัดเจนว่า หลังจากนั้นจะดำเนินการอย่างไร

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (29 ม.ค. 2564) ได้เดินทางไปหารือแนวทางการบริหารจัดการการเดินขบวนรถช่วงเปลี่ยนผ่านจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีกลางบางซื่อ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมหารือ ทั้งนี้ ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ใน พ.ย.2564 จะปิดให้บริการสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะทำให้ไม่มีรถไฟวิ่งเข้าเมืองสามารถแก้ปัญหาจราจรภายในเมืองได้ตามเป้าหมาย แต่หากจะต้องมีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงเพื่อทำการเติมน้ำมัน จะต้องวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เท่านั้น

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว สร.รฟท. ไม่เห็นด้วยกับการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงโดยไม่ให้ขบวนรถไฟเข้าเลย แต่อาจจะลดจำนวนของขบวนรถให้เข้าน้อยลงจากเดิมได้ตามความเหมาะสมโดยไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงขอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทบทวนนโยบายการปิดสถานีหัวลำโพง เพื่อประโยชน์สูงสุดประเทศชาติและประชาชนที่ใช้บริการ และรักษาภาพลักษณ์การรถไฟฯต่อไป พร้อมกันนี้ สร.รฟท. จึงได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ทบทวนนโยบายการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เนื่องจากนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและประชาชนที่ใช้บริการในการเดินทางโดยรถไฟ รวมทั้งในส่วนของพนักงานการรถไฟฯ

นายสาวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า หากดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไป รวมถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ที่ควรค่ายิ่งแก่การอนุรักษ์ หากมีนโยบายในการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ จะทำให้การรถไฟฯสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ ที่จะใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หรือใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ และเป็น Landmark สำคัญของประเทศและการรถไฟฯ ในการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ สถานีรถไฟหัวลำโพง ยังเป็นจุดเริ่มต้น และปลายทางของขบวนรถชานเมืองในเส้นทางต่างๆ ซึ่งประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาจำนวนมากใช้บริการ เพื่อเป็นการเดินทางเข้ามาทำงาน และเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงยังเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออก หากมีการยกเลิกไม่ให้ขบวนรถชานเมืองเข้า-ออก และยกเลิกสถานีรถไฟหัวลำโพง จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะที่มีรองรับไม่เพียงพอ โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อต้นทาง-ปลายทางสำหรับขบวนรถที่ผู้โดยสารใช้บริการเดินทางในเส้นทางสายตะวันออกจะได้รับผลกระทบด้วย

อีกทั้ง ในส่วนของไรฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสุขภาพของประชาชนเพิ่มมากขึ้นทุกวันนั้น เกิดจากการจราจรที่หนาแน่นของยานพาหนะที่วิ่งสัญจรบนท้องถนน ในหลายประเทศได้ใช้การขนส่งระบบรางในการแก้ไขปัญหาและห้ามรถยนต์ที่ใช้พลังฟอสซิลเข้าไปยังในเขตเมือง เพื่อลดมลภาวะแม้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของนายศักดิ์สยาม จะขัดแย้งกับนโยบายหลักของรัฐบาล

“การแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดนั้น ควรแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่มองแค่เพียงว่ารถไฟ คือ ปัญหาหลักของการจราจรในเขต กทม. เพราะในเกือบทุกเส้นทางที่ไม่มีเส้นทางรถไฟตัดผ่านถนนการจราจรก็ยังหนาแน่นติดขัดทุกวัน จริงอยู่ในปัจจุบันหัวรถจักรและรถดีเซลรางยังใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนแต่ก็เป็นเพียงจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับยวดยานพาหนะจำนวนมหาศาลที่วิ่งบนท้องถนน ซึ่งการรถไฟเองก็พยายามในการแก้ไขปัญหาอยู่เช่นเดียวกัน” นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า การรถไฟฯ มีหน่วยซ่อมเพื่อรองรับการซ่อมบำรุงรถจักร รถพ่วง ที่เข้ามาที่สถานีรถไฟหัวลำโพง หากไม่มีขบวนรถวิ่งเข้สสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น จะทำให้เกิดปัญหามีผลกระทบต่อแผนงานการซ่อมบำรุงรถจักร รถพ่วง หรืออาจจำเป็นต้องมีการย้ายหน่วยซ่อมบำรุงออกไปอยู่นอกเขต กทม.ซึ่งการรถไฟฯ ยังไม่มีแผนงานรองรับในเรื่องดังกล่าว รวมถึงกระทบต่อสภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งในการย้ายสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต้องตกลงกับสหภาพแรงงานก่อน ที่ผ่านมายังไม่มีการหารือ หรือตกลงกับสหภาพแรงงานแต่อย่างใด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"