พอช.หนุนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศรับมือโควิด-19 ตรวจคัดกรอง-เฝ้าระวัง-ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ-สร้างแหล่งอาหาร


เพิ่มเพื่อน    

((ซ้าย) ตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนก่อนเข้าชุมชนที่บ้านมั่นคงเขาน้อยเมืองพัทยา จ.ชลบุรี (ขวา) แปลงผักในเมืองที่ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู  เขตสาทร  กรุงเทพฯ)

 

     พอช. หนุนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจับมือพลังภาคีในท้องถิ่น เช่น  อสม.  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และหน่วยงานต่างๆ รับมือโควิด-19  ปฏิบัติการเชิงรุก  โดยใช้กลไกที่มีอยู่  เช่น  เครือข่ายบ้านมั่นคง  กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ร่วมกันตั้งด่านตรวจคัดกรอง  เฝ้าระวัง  ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ  แจกอุปกรณ์ป้องกัน  อาหาร  เปิดร้านค้าชุมชนขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน  สร้างแหล่งอาหาร  เลี้ยงปลา  ไก่ไข่  ปลูกผักเป็นแหล่งอาหารสำรอง 

     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่  ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  เครือข่ายบ้านมั่นคง  สภาองค์กรชุมชนตำบล  ฯลฯ  ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น  เช่น  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.)  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  องค์การบริหารส่วนตำบล  (อบต.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ตั้งด่านตรวจวัดอุณหภูมิ  คัดกรองผู้ที่อาจจะมีเชื้อโควิด  เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   ซึ่งขณะนี้แพร่กระจายไปเกือบทั่วประเทศ

ใช้กลไกที่มีอยู่ปฏิบัติการเชิงรุก

     สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช. กล่าวว่า  ในฐานะที่ พอช.ทำงานร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  โดยมีภารกิจหลักที่ พอช.ให้การสนับสนุนและส่งเสริม  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  โครงการซ่อมสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสหรือ ‘บ้านพอเพียงชนบท’  การจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือชาวชุมชน หรือ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’   สภาองค์กรชุมชนตำบล  ฯลฯ 


(สมชาติ ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.)

     “ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่  พอช.จึงได้ออกแบบการทำงานเชิงรุกในพื้นที่  เพื่อให้เครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับ พอช.สามารถดำเนินมาตรการป้องกันและฟื้นฟูชุมชนจากสถานการณ์โควิดได้ทันทีเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง  เนื่องจากในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ต่างๆ ทั่วประเทศมีประสบการณ์ในการทำงานป้องกันและฟื้นฟูชุมชนมาแล้ว  เช่น  การเฝ้าระวัง  ตรวจคัดกรอง  ทำหน้ากากผ้าอนามัยกว่า 1 ล้านชิ้น  ทำเจลล้างมือ  แจกจ่ายพี่น้องในชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ  รวมทั้ง พอช.ได้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาด้วย”  ผอ.พอช.กล่าว

     สำหรับแผนการทำงานเชิงรุกนั้น  นายสมชาติกล่าวว่า   พอช.ได้ประสานงานไปยังสำนักงานภาค พอช.ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ  เพื่อให้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละจังหวัดติดตามข้อมูลและสถานการณ์จากหน่วยงานราชการว่าในแต่ละจังหวัด  แต่ละพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่  และในแต่ละพื้นที่ดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้ว  หรือมีข้อเสนอและความต้องการการสนับสนุนจาก พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

     “การรับมือและป้องกันสถานการณ์โควิดรอบใหม่นี้ พอช.ได้ใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว  เช่น  เครือข่ายบ้านมั่นคง  กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชนตำบล  ฯลฯ  บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ในท้องถิ่น  เช่น  อสม.  อบต.  รพ.สต.  เทศบาล  พมจ.  อำเภอ  และจังหวัด  ขณะเดียวกัน  พอช.จะสนับสนุนให้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดทำแผนปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและฟื้นฟูชุมชนในช่วงสถานการณ์โควิดต่อไปด้วย”  ผอ.พอช.กล่าว

 

เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศร่วมเฝ้าระวัง-ป้องกันโควิด

     นับแต่การแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  และภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ  ร่วมกันป้องกันโควิดแพร่ระบาด  เช่น  ทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในชุมชนรวมกันกว่า 1 ล้านชิ้น  การตรวจวัดไข้ร่วมกับ อสม.เพื่อคัดกรองผู้ที่อาจจะติดเชื้อ  จัดทำเจล  แอลกอฮอล์ล้างมือ 

     นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  พอช.และภาคเอกชนยังสนับสนุนการจัดทำครัวชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  เช่น  ข้าวกล่อง  น้ำดื่ม  อาหารสด-แห้ง  แจกจ่ายผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดกว่า  340,000 กล่อง  ฯลฯ

     ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศได้เกิดการตื่นตัว  และนำประสบการณ์จากการทำงานป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมาพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้  โดยใช้กำลังคนและงบประมาณของชุมชนที่มีอยู่นำมาปฏิบัติการเชิงรุก  เช่น 

     ภาคเหนือ  จังหวัดเชียงใหม่   เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงใหม่ใช้งบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง (ได้รับงบสนับสนุนจาก พอช. จำนวน 300,000 บาท) ในช่วงโควิดปี 2563   นำมาทำกิจกรรม 4 ด้านต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  คือ  1.สำรวจผู้เดือดร้อนในชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายบ้านมั่นคง  40 ชุมชน  พบผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยประมาณ 500 ครอบครัว 

     2.นำงบประมาณมาให้ผู้เดือดร้อนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ  แก้ไขปัญหาเร่งด่วน 24 ชุมชนๆ ละ 1 คน (คนละ 2,000 บาท) และจัดตั้งร้านค้าชุมชน  จำหน่ายข้าวสาร  ไข่ไก่  อาหารอื่นๆ (คนที่ไม่มีเงินนำอาหารไปกินก่อน  ชำระคืนทีหลัง) 3.จัดทำครัวกลางแจกจ่ายอาหารให้ผู้เดือดร้อน  คนแก่  เด็ก  ผู้ป่วย ฯลฯ  4.สนับสนุนพื้นที่สีเขียว  สร้างแหล่งอาหารในชุมชน  24 ชุมชน  โดยเครือข่ายฯ สนับสนุนกล้าพันธุ์ผักสวนครัวที่เพาะแล้วให้แต่ละชุมชนนำไปปลูกเพื่อลดรายจ่ายในครอบครัว

     จังหวัดตาก  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  เตรียมแผนงานระยะสั้น  เช่น  ระดับตำบล  สภาองค์กรชุมชน  86 แห่ง  ร่วมกับ อสม.  อบต.  เทศบาล  รพ.สต.  จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่  และแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น  เช่น  หน้ากากอนามัย  เจลล้างมือ  อาหาร  น้ำดื่ม  ให้ผู้ได้รับผลกระทบ  ผู้ที่ตกงาน   ระยะกลาง  ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น  โดยแจกเมล็ดพันธุ์  แจกพันธุ์ปลาดุก  เพราะใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้น  เพื่อนำมาเป็นอาหาร  และระยะยาว  จัดตั้งธนาคารหรือกองทุนเมล็ดพันธุ์พืช  พัฒนากองทุนอาหารในตำบล  ส่งเสริมการใช้กองทุนที่มีอยู่แล้วในตำบล  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนมาช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

     ภาคใต้  สภาองค์กรชุมชน ต.เกาะทวด  อ.ปากพนัง  จ.นครศรีธรรมราช   ร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน  รพ.สต. อสม.  จัดระบบดูแลผู้เดินทางจากกลุ่มเสี่ยง  และต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการควบคุมโรค  โดยชุมชนร่วมกับ อบต.เกาะทวดจะจัดส่งอาหารให้แก่ผู้ที่กักตัวเองอยู่ในบ้าน  รวมทั้งจัดหาเครื่องวัดอุณหภูมิเพื่อตรวจร่างกาย  เพื่อรายงานต่อ อสม.ทุกวัน    นอกจากนี้ยังส่งทีมให้ความรู้  รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่  และใช้หอกระจายข่าวให้พี่น้องในชุมชนได้รับรู้แนวทางการป้องกันการติดเชื้อเพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลตนเองและครอบครัว

     ภาคกลางและตะวันตก  กองทุนสวัสดิการชุมตำบลท่าช้าง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี มอบเครี่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายจำนวน 8 เครี่องให้โรงพยาบาลบ้านลาด  และ รพ.สต.ท่าช้าง  เพื่อให้ อสม. นำไปใช้ในการตรวจคัดกรองประชาชนในพื้นที่   รวมทั้งหนุนเสริมการทำงานในการป้องกันและเฝ้าระวังในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

(กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าช้าง  จ.เพชรบุรี  มอบเครื่องวัดอุณหภูมิ)

     กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองโสน ร่วมกับ อบต.หนองโสน อ.เมือง  จ.เพชรบุรี  มอบหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้กับชาวบ้านในตำบล   ครัวเรือนละ 1 กล่อง  จำนวน 1,600 ครัวเรือน

     ประจวบคีรีขันธ์  สภาองค์กรชุมชนตำบลอ่างทอง  อ.ทับสะแก  ร่วมกับวัดอ่างทอง  ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีรายได้น้อยในตำบลที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยแจกไข่ไก่และน้ำตาล เป็นขวัญกำลังใจและลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

     สมุทรสาคร  กองทุนสวัสดิการชุมชนและกลุ่มเกษตรกรตำบลคลองตัน  อ.บ้านแพ้ว  ร่วมกับคณะทำงานอาสากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร  แจกถุงยังชีพให้แก่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่  โดยจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 200,000 คน  และกำลังได้รับความยากลำบากเนื่องจากแรงงานเหล่านี้อยู่ในระหว่างการตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อ  ทำให้ไม่มีงานทำ  ไม่มีรายได้ 

     นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลตลาดกระทุ่มแบน  อ.กระทุ่มแบน   จ.สมุทรสาคร   นำสมาชิกปลูกพืชผักสวนครัวเช่น  คะน้า  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง  ฯลฯ  เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ  และจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนปลูกผักในรอบต่อไป

 

พลังชุมชนต้านภัยโควิด -19       

     ในช่วงสถานการณ์โควิด 2563 ที่ผ่านมา  พอช.มีมาตรการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ  ทั่วประเทศ  โดยการพักหนี้ให้แก่สหกรณ์ผู้ใช้สินเชื่อในโครงการบ้านมั่นคงเป็นเวลา 6 เดือน  รวมทั้งหมด  395 องค์กร  รวม 119,956  ครัวเรือน  ช่วยให้กลุ่ม

และองค์กรที่ใช้สินเชื่อทั่วประเทศไม่ต้องชำระดอกเบี้ยรวม 74.50 ล้านบาท

     นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทในช่วงสถานการณ์โควิด  แยกเป็น 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง จำนวน 220 โครงการ 234 เครือข่ายเมือง ครอบคลุม 2,931 ชุมชน 535,557 ครัวเรือน วงเงินอนุมัติทั้งสิ้น 55,835,000 บาท

     2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชนบท จำนวน 1,529 โครงการ 1,558 ตำบล  วงเงินอนุมัติทั้งสิ้น 71,558,375 บาท  โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น  การรณรงค์ให้ความรู้  การป้องกัน  ทำหน้ากากผ้าอนามัย  ทำเจลล้างมือ  ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ  สร้างอาชีพ  เปิด ร้านค้าชุมชน สร้างแหล่งอาหาร  ปลูกผัก  เลี้ยงปลา  ไก่ ฯลฯ  โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้ยังดำเนินการถึงปัจจุบัน 

 

สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางสร้างแหล่งอาหารในเมือง

 

     ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตวังทองหลาง  (ใกล้วัดเทพลีลา-ม.รามคำแหง) กรุงเทพฯ  ที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นเวทีปรึกษาหารือและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (ดู พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) มีสมาชิก 20 ชุมชน  ประมาณ  5,000 ครอบครัว  ประชากรกว่า 20,000 คน 

     นุชจรี  พันธ์โสม  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  บอกว่า  ตั้งแต่โควิดในช่วงต้นปี 2563  ชาวชุมชนได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน  เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  ทำงานในร้านอาหาร  ขับมอเตอร์ไซค์  แท็กซี่  ฯลฯ  สภาองค์กรชุมชนฯ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  และ พอช. จัดทำครัวชุมชนแจกอาหารให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นมา  นอกจากนี้ยังได้รับอนุญาตจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ใช้พื้นที่ว่างที่อยู่ติดชุมชน 1 ไร่  ปลูกผักต่างๆ และเลี้ยงปลาดุก 6 บ่อซีเมนต์แจกจ่ายกัน  รวมทั้งชุมชนต่างๆ  ก็ใช้พื้นที่ว่างปลูกผักเช่นกัน

     “สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางได้รับงบสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมืองจาก พอช.จำนวน 300,000 บาท  จึงนำมาทำครัวชุมชน   ปลูกผัก เช่น คะน้า  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง  กะเพรา  มะเขือ  และเลี้ยงปลาดุก  ตอนนี้เลี้ยงปลาดุกเพื่อแจกไปแล้ว 5 รุ่นๆ ละ 600 ตัว  เราจะแจกเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบ  ครอบครัวละ 1 กิโลฯ อาทิตย์ละครั้ง  และผักเก็บได้ฟรี  เพื่อเอาไปทำกับข้าว  แต่จะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายมาให้ดู  เพื่อฝึกการทำบัญชีครัวเรือน  ควบคุมรายจ่าย และยังมีกองทุนข้าวสารที่ซื้อข้าวสารมาขายให้สมาชิกเดือนละ 1 ครั้งในราคาต่ำกว่าทุนครึ่งหนึ่ง  เช่น  ข้าวหอมมะลิกิโลกรัมละ 40 บาท  ขายผู้ได้รับผลกระทบ 20 บาท  ส่วนคนทั่วไปขายบวกกำไรนิดหน่อยเพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียน”  นุชจรีบอก

(ชาวบ้านที่มาเอาปลาดุกต้องนำบัญชีครัวเรือนมาแสดง)

     นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชน  หรือ ‘กองทุนวันละบาท’  โดยสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในยามที่เดือดร้อน  ซึ่งในช่วงโควิดปี 2563-2564 นี้  กองทุนฯ นำเงินมาจัดทำครัวกลาง  แจกผักสด  อาหารแห้ง  ทำหน้ากากผ้า  เจลล้างมือ  เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนแล้วประมาณ 86,000 บาท  (ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการฯ มีสมาชิกประมาณ 2,700 คน  เงินกองทุนประมาณ 700,000 บาท)

     ส่วนการรับมือกับสถานการณ์โควิดช่วงนี้  นุชจรีบอกว่า  สภาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 15 (ลาดพร้าว)  และเขตวังทองหลาง  ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ  เพื่อเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อในกลุ่มประชากรแฝง  เช่น  ขอความร่วมมือเจ้าของบ้านเช่าให้ตรวจสอบผู้เช่าว่าทำงานที่ไหน  อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่  ส่วนคนในชุมชนต่างก็ให้ความร่วมมือดี  มีการป้องกันตัวเองในครอบครัว  เช่น  ใส่หน้ากากเวลาออกจากบ้าน  มีเจลล้างมือ ฯลฯ

(เพาะเห็ดที่ชุมชนบางบอน กรุงเทพฯ)

     อย่างไรก็ตาม  นอกจากการป้องกันโควิดและสร้างแหล่งอาหารในชุมชนเขตวังทองหลางแล้ว  ชุมชนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ต่างก็ใช้พื้นที่ว่างในชุมชนทำสวนผักในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นกัน  เช่น  ชุมชนเฟื่องฟ้า  เขตประเวศ  ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู  เขตสาทร  ชุมชนในเขตบางบอนเพาะเห็ด  ฯลฯ

 

บ้านมั่นคงเขาน้อย จ.ชลบุรี  ตั้งร้านค้าชุมชน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในเมืองพัทยา

 

     วาศินี  กาญจนกุล  ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อยพัทยา  อ.บางละมุง  จ.ชลบุรี  บอกว่า  สหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อยเมืองพัทยาฯ  เกิดจากการรวมตัวของคนจนที่ทำงานในเมืองพัทยาที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  จำนวน 304 ครอบครัว  โดย พอช. ให้การสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มและสินเชื่อเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย  ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2558  มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 800 คน  ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองพัทยา  เช่น  ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  รถสองแถว  แม่ค้า  ขายอาหาร ทำประมง  นวดแผนโบราณ  ลูกจ้างร้านอาหาร  โรงแรม  ฯลฯ  เมื่อเกิดโควิดนักท่องเที่ยวหายไป  จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่

     ในช่วงโควิดปี 2563  สหกรณ์บ้านมั่นคงฯ นำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 300,000 บาท  มาจัดตั้งร้านค้าคุณภาพชีวิตในชุมชน  ใช้เงินลงทุน 150,000 บาท  จำหน่ายสินค้าจำเป็นในราคาต่ำกว่าทุน  เช่น  เนื้อหมูซื้อมากิโลกรัมละ 170 บาท  ขาย 100 บาท  นอกจากนี้ยังมีข้าวสาร  ไข่ไก่  น้ำมันพืช  น้ำปลา  อาหารแห้ง  นม  เครื่องใช้ในบ้าน ฯลฯ ขายราคาต่ำกว่าทุน  เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนที่ตกงาน  หรือมีรายได้ลดลง 

(ร้านค้าชุมชนบ้านมั่นคงเขาน้อยเมืองพัทยา)

     ส่วนอีก 150,000 บาท   นำมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง  ด้อยโอกาส จำนวน 22 ชุมชนในเมืองพัทยา  เช่น  ผู้ป่วยติดเตียง  ผู้สูงอายุ  แม่เลี้ยงเดี่ยว  เด็กนักเรียนครอบครัวยากจน  ฯลฯ  โดยมอบข้าวสาร  อาหารแห้ง  ผ้าอ้อมผู้ใหญ่  นมผง  ชุดนักเรียน ฯลฯ

     “โควิดปีแล้วว่าหนักแล้ว  แต่ปีนี้หนักยิ่งกว่าเก่า  เพราะบางละมุงมีคนติดโควิดเยอะ   เมืองพัทยาต้องปิด  ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว  ชาวชุมชนก็ไม่มีรายได้  สหกรณ์จึงต้องให้ความช่วยเหลือสมาชิก  เพราะสมาชิกจะต้องผ่อนชำระค่าที่ดินและสร้างบ้านประมาณเดือนละ 2,400 บาท  ช่วงนี้สหกรณ์จึงพักชำระหนี้ให้สมาชิกที่เดือดร้อนคนละ 3 เดือน  ตอนนี้พักชำระไปแล้วประมาณ 20 ราย”  ประธานสหกรณ์บอกเล่าผลกระทบ

     เธอบอกว่าอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  พอช.พักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคงอย่างน้อย 3 เดือนเหมือนปีที่แล้ว  และให้สนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป  เพราะผลกระทบในปีนี้หนักกว่าเก่า  ชุมชนยังพึ่งตัวเองไม่ได้  โดยเฉพาะคนในชุมชนที่ต้องหากินในเมืองพัทยา  แต่ตอนนี้เหมือนกับเมืองร้าง

     เธอบอกด้วยว่า  ในชุมชนบ้านมั่นคงเขาน้อยฯ  มีสมาชิกติดเชื้อโควิดในช่วงต้นปี 2564  รวม  2 คน  คือ 1 คนติดจากการเข้าไปส่งอาหารในบ่อนการพนัน  อีก 1 คนยังไม่ทราบแน่ชัด  และได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว  ขณะนี้หมอให้กลับมารักษาตัวที่บ้านอีก 30 วัน  คณะกรรมการชุมชนจึงให้กักตัวเองอยู่ในบ้าน   หากต้องการอาหารหรือสิ่งของจำเป็นให้โทรแจ้งมา  ทางคณะกรรมการจะจัดหาให้

     “ตั้งแต่โควิดปีที่แล้ว  ชุมชนได้ตั้งจุดคัดกรองโควิดบริเวณป้อมยามทางเข้าชุมชน  โดยจ้าง รปภ. 2 คน  สลับกันตรวจวัดไข้ผู้ที่จะเข้า-ออก  พอถึงตอนนี้เรายิ่งเข้มงวดมากขึ้น  เพราะมีคนในชุมชนติดเชื้อแล้ว   เราจึงประกาศให้ชาวบ้านทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน  ส่วนเด็กเล็กเราไม่ให้ออกมาวิ่งเล่น  และหากใครออกไปนอกชุมชนเมื่อกลับเข้ามาจะต้องตรวจวัดอุณหภูมิ  และใช้เจลล้างมือทุกครั้ง  ส่วนคนข้างนอกไม่ว่าจะเป็นคนส่งอาหาร  ไปรษณีย์  คนขายอาหารเราจะไม่ให้เข้า  ให้เอาของฝากไว้ที่ป้อมยาม”  ประธานสหกรณ์ฯ บอกมาตรการเข้มงวด 

 

บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น มีแปลงนารวม-ผลิตน้ำดื่ม จัดกิจกรรม ‘กายปลอดภัย  ใจคลายกังวล’ ไม่ให้ชาวบ้านตื่นกลัว

 

     ป้าสนอง  รวยสูงเนิน  ที่ปรึกษาเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ  อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น  บอกว่า  แม้ว่าตอนนี้ในเขตเทศบาลเมืองชุมแพยังไม่มีผู้ติดเชื้อ  และยังเป็นพื้นที่ควบคุม  แต่ข่าวต่างๆ ที่ประโคมเรื่องโควิดทุกค่ำเช้าทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว  บางคนกินไม่ได้  นอนไม่หลับ  เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ  เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพมีสมาชิก 13 ชุมชน  จำนวน 1,052 ครอบครัว  จึงได้เริ่มจัดกิจกรรมสร้างความรู้  ความเข้าใจ  เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตื่นกลัว  และช่วยกันป้องกันโรคตั้งแต่วันที่  5 มกราคมเป็นต้นมา

     โดยเครือข่ายฯ  ร่วมกับเทศบาลเมืองชุมแพจัดอบรมการทำเจลล้างมือแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้แทนชุมชนต่างๆ 13 ชุมชน  เพื่อให้นำกลับไปสอนลูกบ้าน  และสอนวิธีใช้เจลล้างมือ  ใช้แอลกอฮอล์มาเช็ดประตู  ลูกบิดที่ต้องจับบ่อยๆ  เวลาไปไหนก็ให้พกเจลไปด้วย  ส่วนหน้ากากผ้าอนามัยเราทำตั้งแต่ปีที่แล้ว  ยังมีใช้กันอยู่  แต่ที่น่าห่วงคือ  ชาวบ้านที่ตื่นกลัว  เพราะเหมือนกับโควิดมันมาอยู่ใกล้ๆ ตัว   ดังนั้นเราจึงเข้าไปจัดกิจกรรมในชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันตัว  และให้หากิจกรรมต่างๆ ทำ  จะได้ไม่เครียด  ไม่กังวล มีสติ ไม่กลัวเกินเหตุ  เช่น  ใช้เวลาว่างปลูกผักสวนครัว”  ป้าสนองบอกถึง

งานที่ทำ 

(ชาวบ้านเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพช่วยกันทำเจลล้างมือ)

     ส่วนงบประมาณในการจัดทำเจล  ป้าสนองบอกว่าใช้งบพัฒนาคุณภาพชีวิตจาก พอช.ประมาณ 30,000 บาท  คาดว่าจะทำแจกจ่ายและใช้งานใน 13 ชุมชนได้นานประมาณ 2 เดือน  หรือจนกว่าสถานการณ์โควิดจะบรรเทาลง  นอกจากนี้ยังใช้งบประมาณในการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวในชุมชนต่างๆ และในครัวเรือน เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำรองหากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อยาวนาน

     “แต่เรายังโชคดีกว่าอีกหลายพื้นที่  เพราะเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพเราวางแผนเรื่องความมั่นคงทางอาหารมาก่อนแล้ว  เรามีแปลงนารวม  เนื้อที่ 38 ไร่  ชาวบ้านระดมทุนซื้อมาตั้งแต่ปี 2553  ราคา 2 ล้าน 6 แสนบาท  ช่วยกันทำนา  ปลูกผัก  เลี้ยงปลา  และยังมีโรงงานผลิตน้ำดื่มในชุมชน  เมื่อเกิดโควิดปีที่แล้วเรายังเอาน้ำดื่มไปช่วยเหลือพี่น้องที่ชัยภูมิ  หากขาดเหลือเราก็ยังมีข้าวปลาอาหารเอาไว้กิน”  ป้าสนองบอกทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่รวมพลังชุมชนเพื่อต้านภัยโควิด-19 !!

 

ชีวิตใหม่ชาวลัวะบ้านห้วยขาบ  จ.น่าน

 

(บ้านใหม่ของชาวลัวะห้วยขาบ 60 ครอบครัว)

 

     หากย้อนเวลากลับไปเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 28 กรกฎาคม 2561   ณ  หมู่บ้านชาวลัวะ  บ้านห้วยขาบ  อ.บ่อเกลือ  จ.น่าน  ขณะที่ชาวบ้านหลายครอบครัวกำลังเตรียมตัวเพื่อจะออกไปทำงานในไร่  บางครอบครัวกำลังล้อมวงกินอาหารมื้อเช้า  ท่ามกลางเม็ดฝนที่พรมลงมาตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า 

     ทันใดนั้นมีเสียง “เปรี๊ยะๆ” ดังสนั่นมาจากยอดเขาเหนือหมู่บ้าน  แต่กว่าที่ใครจะไหวตัวทัน  ทั้งก้อนหินและดินโคลนจากภูเขาที่อยู่สูงเหนือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 100 เมตรได้ถล่มไถลลงมาราวกับสายน้ำจากนรก  มันโถมทับบ้านเรือนที่อยู่ด้านล่าง  มีบ้านเรือนที่ถูกดินและก้อนหินทับพังทั้งหลังจำนวน 4 หลัง  ทับบางส่วน 2 หลัง  มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย !!

     หลังเหตุร้ายผ่านไป  ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติ  และอาจเกิดดินถล่มลงมาได้อีก  จึงมีคำสั่งอพยพชาวห้วยขาบทั้งหมด 60 ครอบครัว  รวม 253 ชีวิตที่พ้นภัยลงมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายแห่งในอำเภอบ่อเกลือ  และต่อมาได้ย้ายเข้าอยู่ในบ้านพักชั่วคราว  เพื่อรอการก่อสร้างบ้านพักแห่งใหม่ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร  โดยมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการ

วิถีชีวิตชาวลัวะบ้านห้วยขาบ

     อําเภอบ่อเกลือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 134 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน              ประชากรมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ลัวะ  ขมุ ม้ง เย้า คนเมือง ฯลฯ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และมีแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์มาแต่โบราณ เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ชอบบรรยากาศธรรมชาติ เพราะบ่อเกลือเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ สวยงาม โอบล้อมไปด้วยขุนเขาเขียวขจี มีลำธารไหลผ่าน  ในช่วงฤดูหนาว เมืองทั้งเมืองจะปกคลุมไปด้วยไอหมอกและอากาศที่หนาวเย็น

     กลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลัวะ’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง (อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร สำเนียงพูดคล้ายภาษาเขมร) แต่ด้วยผลจากสงครามการสู้รบในอดีต ทำให้อาณาจักรลัวะแตกพ่ายล่มสลาย แต่ชนเผ่าลัวะยังสืบเชื้อสายกระจายตัวอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ  เช่น น่าน แพร่  เชียงใหม่ ฯลฯ ปัจจุบันชาวลัวะรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ประสบปัญหาต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ ทำให้คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและภูเขามาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ฯลฯ

  • ตั้งอยู่ในตำบลบ่อเกลือเหนือ (ก่อนดินถล่มมี 61 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 261 คน) ชาวลัวะบ้านห้วยขาบอยู่อาศัยที่นี่มานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีอาชีพปลูกกาแฟ ถั่วดาวอินคา (ถั่วชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกาใต้ เมล็ดกินได้) และปลูกข้าวไร่ (ข้าวเหนียว) ตามเชิงเขาเอาไว้กินในครัวเรือน ส่วนที่มาของหมู่บ้านมาจากชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ในอดีตมีแมลง ‘ขาบ’(ภาษาลัวะ) หรือแมลงเม่าอาศัยอยู่ตามลำห้วยชุกชุม จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น

     สมศักดิ์ ใจปิง อายุ 38 ปี ชาวบ้านห้วยขาบ เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวลัวะว่า ชาวลัวะมีชีวิตเรียบง่าย ปลูกข้าวไร่เอาไว้กินเอง เป็นข้าวเหนียว ใช้วิธีปลูกข้าวแบบหยอดหลุมและหมุนเวียนตามที่ราบเชิงเขาเพราะพื้นที่มีน้อย ครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่หมุนเวียนประมาณ 6-7 แห่ง เมื่อครบ 7 ปีจะหมุนเวียนกลับมาทำไร่ข้าวในพื้นที่เดิม เพื่อให้ดินฟื้นตัวและกลับมาอุดมสมบูรณ์อีก เพราะคนลัวะปลูกข้าวโดยไม่ใช่ปุ๋ย แต่จะให้ธรรมชาติ เจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแล โดยจะมีพิธีบูชาระหว่างการปลูกข้าว และเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวประมาณช่วงเดือนมกราคมจะมีพิธี ‘กินดอกแดง’ เพื่อขอบคุณเจ้าป่าเจ้าเขาที่ช่วยดูแลทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์

     “ปีหนึ่งครอบครัวผมจะปลูกข้าวได้ประมาณ 30 กระสอบ ก็พอกินทั้งปี แต่บางปีได้ไม่พอกิน เพราะมันแล้ง ต้องปลูกพืชอย่างอื่นด้วย ตอนนี้ส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟ ถั่วดาวอินคา  มีพ่อค้ามารับซื้อ ช่วงที่ว่างงานในไร่ก็จะไปทำงานรับจ้างในไร่ของคนอื่น เขาจะมาจ้างปลูกข้าวโพด หรือให้ถางหญ้า ได้ค่าจ้างวันละ 200-300 บาท เอามาใช้จ่ายในครอบครัว” ชาวบ้านห้วยขาบเล่าถึงการทำมาหากิน

     หากใครเคยมาเยือนบ้านห้วยขาบ  จะเห็นบ้านเรือนของพวกเขาปลูกกระจายอยู่ตามที่ราบเชิงเขา ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีลำห้วยขาบใสเย็นไหลผ่านกลางหมู่บ้าน เป็นเสมือนหมู่บ้านในนิทานที่สงบสุขและร่มเย็นมาช้านาน...หากดินบนภูเขาจะไม่ถล่มลงมา...!!

 

บ้านใหม่...ชีวิตใหม่

     ในช่วงแรกชาวบ้านห้วยขาบทั้ง 60 ครอบครัวเข้าพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราว ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  และหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนงบประมาณและช่วยกันก่อสร้าง เพื่อรอการก่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่ในที่ดินที่กรมป่าไม้อนุญาต  เนื้อที่ 39 ไร่ (พื้นที่จริง 34 ไร่) บริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง หมู่ที่ 3 ต.ดงพญา             อ.บ่อเกลือ  จ.น่าน  ห่างจากหมู่บ้านห้วยขาบเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ที่ดิน (ช่วงแรก) 30 ปี ตั้งแต่มกราคม 2562 - มกราคม 2592 แบ่งพื้นที่สร้างบ้านและทำกินได้ครอบครัวละ 120 ตารางวา

     ส่วนการก่อสร้างบ้านพักถาวรให้กับชาวบ้านห้วยขาบจำนวน 60 หลังคาเรือน เป็นบ้านขนาด 5X8 ตารางเมตร (มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น) โครงสร้างเป็นปูนและเหล็ก รูปแบบบ้านประยุกต์มาจากบ้านของชาวลัวะ ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 320,000  บาท ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 22.5 ล้านบาท

     สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อุดหนุนการสร้างบ้าน และการประกอบอาชีพ รวม 1,320,000 บาท อบต.ดงพญา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  การประปาส่วนภูมิภาค  สนับสนุนการจัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกผักส่วนกลาง  เลี้ยงสัตว์  และสนามกีฬา  ประมาณ  4 ไร่  ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงต้นปี 2563  และชาวบ้านทั้ง 60 ครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

     ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านยังเข้าไปทำไร่ในพื้นที่เดิมบริเวณไม่ไกลจากบ้านห้วยขาบเดิม  ส่วนบ้านหลังเก่าหากเป็นไม้ก็จะรื้อเพื่อเอามาต่อเติมที่บ้านใหม่  เช่น  ทำครัว  ยุ้งข้าว  ห้องเก็บของ  ฯลฯ  ถ้าใครเข้าไปที่บ้านห้วยขาบเดิมก็จะมองไม่เห็นหมู่บ้านแล้ว  เพราะมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด

     เขาบอกด้วยว่า  ชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านใหม่ต่างก็รู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น  ไม่ต้องนอนผวา  ไม่ต้องกลัวว่าเวลาหน้าฝน  ก้อนหินดินโคลนจากภูเขาจะถล่มลงมาทับอีก  แต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องก็คือ  หมู่บ้านที่ชาวลัวะมาอยู่ใหม่นี้ขึ้นอยู่กับหมู่ที่  3 ตำบลดงพญา ทำให้กองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเดิมที่ชาวลัวะมีอยู่  เช่น  กองทุนหมู่บ้านห้วยขาบต้องยุบรวมเข้ากับกองทุนหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ตามระเบียบของทางราชการ  ซึ่งชาวลัวะไม่ต้องการ  เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาด้านการรวมกองทุน  และมีปัญหาด้านการปกครอง (หมู่ที่ 3 เป็นคนพื้นราบ  มีวัฒนธรรม  ประเพณีแตกต่างกัน) จึงขอให้ทางกระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านใหม่เป็นหมู่ที่ 8

‘กาแฟ’ พืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวลัวะ

     ภานุวิชญ์ จันที ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือ ชาวห้วยขาบ  บอกว่า  ชาวบ้านห้วยขาบได้รับการสนับสนุนจากทางราชการและบริษัทซีพีให้ปลูกกาแฟในปี  2556  เป็นพันธุ์กาแฟอาราบิก้า  ปัจจุบันมีชาวบ้านปลูกกาแฟจำนวน 43  ครอบครัว  ส่วนใหญ่ปลูกตามไหล่เขาใกล้บ้านห้วยขาบเดิม  มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ 130 ไร่  ผลผลิตรวมกันประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อปี  จะเก็บผลกาแฟสุกปีละครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ 

     “เมื่อก่อนชาวบ้านจะขายเมล็ดกาแฟสดหรือกาแฟเชอร์รี่  ราคากิโลฯ ละ 20 บาท  ต่อมาก็ขายเป็นกาแฟกะลา (เมล็ดกาแฟแห้งเอาเปลือกนอกออกแล้วแต่ยังไม่ได้คั่ว) กิโลฯ ละ 120 บาท  10 กิโลฯ เราขายได้เงิน 1,200 บาท  แต่ตอนนี้เราตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา  เพื่อเอาเมล็ดกาแฟมาคั่วและบรรจุถุงขาย  เป็นกาแฟอินทรีย์  ไม่ใช้สารเคมี  มีกลิ่นหอม รสชาติหวานนุ่ม  และยังเอาดอกกาแฟมาทำชา  เอากากมาทำสบู่  ทำให้กาแฟ 10 กิโลฯ ขายได้เงินเกือบหมื่นบาท  ชาวบ้านก็ตื่นเต้นกันใหญ่  เพราะเมื่อก่อนขายกาแฟเชอร์รี่ได้แค่กิโลฯ ละ 20 บาท”  ภานุวิชญ์เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ 

(สาวลัวะและกาแฟคั่วเข้ม  กลาง  และอ่อน  ขนาด 250 กรัม  ราคา 160-180 บาท)

     ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหากจะว่าไปแล้ว  อาจเหมือนกับความโชคดีที่มาหลังจากความสูญเสียของชาวลัวะห้วยขาบ  แต่ความจริงเป็นแผนงานการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน  เช่น  จังหวัดน่าน  กรมป่าไม้  กระทรวงมหาดไทย การประปา  การไฟฟ้า  กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และบริษัทไทยเบฟฯ  ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย  และการทำมาหากิน  รวมทั้งการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย  โดยขณะนี้ทางจังหวัดน่านกำลังก่อสร้างสะพานคอนกรีตเข้าสู่หมู่บ้าน  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เตรียมสนับสนุนงบประมาณสร้างร้านกาแฟและสินค้าชุมชนรองรับนักท่องเที่ยว

     ขณะที่ ธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ บอกว่า  ตอนนี้พื้นที่ปลูกกาแฟและผลผลิตจากบ้านห้วยขาบยังมีไม่มากนัก  เนื่องจากมีพื้นที่น้อย  ดังนั้นต่อไปชาวห้วยขาบจะขยายพื้นที่ปลูก  โดยปลูกกาแฟต้นใหม่แซมลงในพื้นที่เดิม  รวมทั้งปลูกกาแฟในพื้นที่ว่างทั้งในหมู่บ้านเก่าและที่หมู่บ้านใหม่  เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอ  และนำมาจำหน่ายในหมู่บ้านรองรับนักท่องเที่ยวที่มาอำเภอบ่อเกลือ  รวมทั้งขายทางออนไลน์  และออกบูธตามงานต่างๆ ด้วย เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีรายได้

     “ลัวะคอฟฟี่  อัญมณีแห่งขุนเขา  กาแฟอินทรีย์เพื่อสร้าง ‘ชุมชนดี  มีรอยยิ้ม’  ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านห้วยขาบ” (ติดตามช่องทางการสนับสนุนชุมชนได้ที่ Facebook แฟน่าน ลั๊วะคอฟฟี่)

 

 

เชียงใหม่โมเดล บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เน้น ชุมชนเป็นแกนหลักแก้ปัญหาฝุ่นควันคลุมเมือง

((ซ้าย) ชาวบ้านร่วมกันทำแนวป้องกันไฟ  (ขวา) พิธีมอบอุปกรณ์ดับไฟเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาที่อำเภอเมืองเชียงใหม่)

 

     ปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานไม่ต่ำกว่า 15 ปี  โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้งของทุกปี  ทำให้ฝุ่นควันกระจายไปทั่ว  ฝุ่นละอองขนาดเล็กและควันจากการเผาไหม้นอกจากจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้ว  ยังมีปัญหาต่างๆ ติดตามมามากมาย  เช่น  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  การท่องเที่ยว  ระบบนิเวศน์  การสูญเสียความชื้นในดินในป่า  พื้นที่ป่าต้นน้ำ  ฯลฯ  และยังทำให้เกิดความขัดแย้งติดตามมา  ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ  คนบนดอยกับคนเมือง ฯลฯ

     แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า  ต่างคน  ต่างหน่วยงาน  มองปัญหาคนละด้าน  หรือไม่ก็โทษกันไปโทษกันมา  ประกอบกับเชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่  มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่ไม่มีกลไกที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกัน   จึงทำให้ปัญหาปะทุรุนแรงขึ้นทุกปี  โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้  จังหวัดเชียงใหม่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายติดอันดับหนึ่งของโลก (Air  quality and pollution city ranking : จากการสำรวจเมื่อวันที่ 12-13 มีนาคม 2562)

‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ชี้รากเหง้าปัญหา

     จากปัญหาดังกล่าว  ทำให้ชาวเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง ในนามภาคประชาสังคม  ประกอบด้วย นักกิจกรรมทางสังคมนักวิชาการ แพทย์  ผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปิน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา หอการค้า  นักธุรกิจ สื่อมวลชน  ประชาชน   ฯลฯ  ได้ร่วมพูดคุยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา  โดยได้จัดตั้งกลุ่ม ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ขึ้นมา ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อรณรงค์และร่วมมือกับทุกภาคส่วนหาทางแก้ไขปัญหา

     ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ บอกว่า รากเหง้าของปัญหาฝุ่นควัน คือ การพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุหลัก 5 ประการ คือ 1.การจัดการทรัพยากรของรัฐมีปัญหา ไม่สามารถจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนได้ ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงตลอดเวลา 2.การเข้ามาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ไร่ข้าวโพด ซึ่งส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วใช้การเผาไร่เพื่อปลูกใหม่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน

     3.ระบบนิเวศน์ป่าไม้เสียสมดุล ป่าที่เชียงใหม่มีลักษณะเป็นป่าผลัดใบและป่าดิบชื้น โดยทั่วไปในเขตป่าผลัดใบ ต้นไม้จะมีการทิ้งใบจากต้นและเกิดการไหม้เองตามธรรมชาติจนลามไปถึงอีกเขต และถูกความชื้นของป่าเขตนั้นหยุดยั้งไฟโดยอัตโนมัติ แต่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้กระบวนการนี้แปรปรวน ความชื้นจากเขตป่าดิบชื้นไม่สามารถหยุดยั้งการลามของไฟป่าได้ ทำให้ชาวบ้านต้องชิงเผาเพื่อควบคุมไฟป่า 

     4.ฝุ่นควันจากยานพาหนะ การเผาขยะ การเปิดแอร์ ควันไฟจากการทำครัว การปิ้งย่าง ฝุ่นควันจากโรงงาน 5.ฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเผาเศษพืชไร่ ประกอบกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้น  รวมถึงภาวะความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะ จึงทำให้ฝุ่นควันเกิดการสะสม เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา

     ฝุ่นควันจากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้  ทำให้เกิดก๊าซอันตรายต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และที่สำคัญคือ  ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 (ค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์  โดยใช้ค่า Particulate Matters : PM)  ซึ่งนอกจาก PM 2.5 จะเข้าไปในปอดทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและเป็นมะเร็งได้แล้ว  ยังสามารถเข้าสู่ถุงลมปอดและเส้นเลือดได้ด้วย ทำให้เกิดการอักเสบและการอุดตันของเส้นเลือดในระบบต่าง ๆ เช่น  หัวใจและสมอง  นอกจากนี้ PM 2.5  ยังลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานและลอยไปได้ไกล จึงมีโอกาสที่จะถูกสูดเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะตกลงสู่พื้น

     สอดคล้องกับข้อมูลจากการวิจัยของนายแพทย์พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า  จังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ในภาคอื่นๆ มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยประมาณ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน  ดังนั้นคนเชียงใหม่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดสูงถึง 2 เท่าของคนในภาคอื่น !!

     ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบด้านการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2550 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลงเพราะปัญหาฝุ่นควันในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ  คือ  เชียงใหม่  เชียงราย  แม่ฮ่องสอนว่า  จะทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท

ใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลนำร่องแก้ไขปัญหา

 

     นับแต่การก่อตั้ง ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ในเดือนกันยายน 2562 สภาลมหายใจฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ปัญหาให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ เช่น  การจัดเวทีเสวนาวิชาการ   จัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้รถยนต์หันมาปั่นจักรยานในเมือง ลดการใช้พลาสติก  ลดการเผาขยะ  สร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง   กิจกรรมระดมทุนสู้ฝุ่นควัน  ฯลฯ

     ส่วนพื้นที่นอกเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 24 อำเภอ (รวมอำเภอเมืองเป็น 25 อำเภอ) รวม  207 ตำบล  สภาลมหายใจได้ใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งและเป็นองค์กรของชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้วเป็นพื้นที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่

     อุดม  อินจันทร์  รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่  บอกว่า  ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา สภาองค์กรชุมชนร่วมกับสภาลมหายใจขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน โดยการลงพื้นที่ในตำบลที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ  โดยมีพื้นที่นำร่อง 32 ตำบลใน 25 อำเภอ เพื่อหาข้อมูลหาสาเหตุปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและอาชีพของชาวบ้านอย่างไร รวมทั้งให้ชาวบ้านเสนอความเห็นว่าหากจะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันควรจะมีวิธีใดที่เหมาะสมแก่ชุมชนหรือตำบลนั้นๆ  เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน

     เช่น  บางตำบลปัญหาฝุ่นควันเกิดจากการเผาซังข้าวโพด เผาเศษฟางในนาข้าวก่อนทำนารอบใหม่  การตัดแต่งกิ่งลำไยแล้วนำมาเผา การ ‘ชิงเผาป่า’ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่ารลุกลาม  การเผาใบไม้-กิ่งไม้ในสนามกอล์ฟ บางตำบลชาวบ้านจะเผาป่าในช่วงหน้าแล้งก่อนฝนตก เพราะเชื่อว่าการเผาป่าจะทำให้เห็ดต่างๆ โดยเฉพาะเห็ดถอบจะออกเยอะ  ราคาขายกิโลกรัมละ 300-400 บาท บางครอบครัวมีรายได้เฉพาะช่วงเห็ดถอบออก (พฤษภาคม-มิถุนายน) นับแสนบาท จึงทำให้มีการเผาเศษซากพืชและเผาป่าหมุนเวียนตลอดทั้งปี

จัดอบรม ‘เพาะเห็ดป่า-ถ่านไบโอชาร์-จานใบไม้-ทำปุ๋ย’ ลดการเผา

     อุดมบอกต่อไปว่า  จากข้อมูลปัญหาที่พบ สภาลมหายใจเชียงใหม่  สภาองค์กรชุมชน  และภาคีเครือข่าย  เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเพื่อเสนอเป็นทางออกให้แก่ชาวบ้านและชุมชน โดยศูนย์วิจัยเห็ดป่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดอบรมการเพาะเชื้อเห็ดป่า เช่น เห็ดถอบ เห็ดฮ้า (เห็ดตับเต่า)  ให้แก่ชาวบ้านในตำบลต่างๆ

     ฝึกอบรมการทำถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวมวลจากใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า ฟางข้าว เหง้ามันสําปะหลัง ซังและต้นข้าวโพด เพื่อลดการเผา  โดยสำนักงานพลังงานจังหวัด เพื่อนำถ่านไบโอชาร์มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร

     นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำวนเกษตร ปลูกพืชยืนต้น หรือพืชหลายชนิดแทนพืชเชิงเดี่ยว เช่น กาแฟ ไผ่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นำฟางข้าว กิ่งลำไยมาบดย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำแปลงสาธิตเปรียบเทียบการชิงเผา-ไม่เผาเพื่อเป็นแนวป้องกันไฟป่า  ฯลฯ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคิดค้นนวัตกรรมจากเศษซากวัสดุทางการเกษตร เช่น นำใบไม้มาทำจานใส่อาหารทดแทนการใช้พลาสติก และลดการเผาใบไม้ ฯลฯ

     ขณะเดียวกัน  สภาลมหายใจได้จัดกิจกรรมระดมทุนต่างๆ  และเปิดรับบริจาคเพื่อนำสิ่งของ อุปกรณ์ในการดับไฟ  และนำงบประมาณไปมอบให้ตำบลต่างๆ เพื่อใช้ในการป้องกันและดับไฟป่า  โดยในปี 2563  มอบสิ่งของไปแล้ว 140 หมู่บ้าน  17 อำเภอ  90 ตำบล 

     ส่วนในปีนี้จัดพิธีส่งมอบอุปกรณ์ไปเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาให้กับ 35 ตำบล  และ 1 ผืนป่านำร่องในพื้นที่รอบดอยสุเทพ   รวม 295 หมู่บ้าน  40 ตำบล  จาก 21 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่  ประกอบด้วย  เครื่องเป่าลม 250 เครื่อง เครื่องพ่นน้ำ 30 เครื่อง  ถังฉีดน้ำ 100 ถัง  เครื่องตัดหญ้า 100 เครื่อง  เลื่อยยนต์ตัดไม้ 20 เครื่อง  ถังเปล่า  200ลิตร 100 ถัง  ไม้ตบไฟ 800 อัน  คราดมือเสือ 1,000 อัน  ไฟฉายคาดหัว 800 อัน กล้องส่องทางไกล 100 ตัว  และวิทยุสื่อสาร 120 เครื่อง  รวมมูลค่า 2,300,000 บาท  ทั้งนี้ชุมชนที่ได้รับมอบอุปกรณ์จะต้องมีการเตรียมแผนการในการป้องกันและดับไฟป่า

 

ผนึกพลังสร้าง ‘เชียงใหม่โมเดล’ ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก

 

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา  สภาลมหายใจพร้อมด้วยภาคีเครือข่าย  เช่น  สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ฯลฯ  ได้ร่วมกันแถลงข่าวและชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการไฟป่าและฝุ่นควันละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2564  โดยมีนายเจริญ​ฤทธิ์​ สงวน​สัตย์​  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน 

     ชัชวาลย์  ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่  กล่าวทิ้งท้ายว่า   ในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป้าหมายจะลดพื้นที่เผาและลดค่า PM 2.5 ให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์  โดยจะเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน  ทั้งหน่วยงานรัฐ  ภาคเอกชน  ประชาสังคม  และชุมชน  โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  และสภาองค์กรชุมชนผนึกกำลังร่วมกัน  โดยใช้มาตรการเชิงป้องกันแทนการไล่ดับไฟเหมือนที่ผ่านมา  และใช้ข้อมูล  ข้อเท็จจริง  ความรู้ด้านวิชาการ  และเทคโนโลยีมาสนับสนุน  ถือเป็นนวัตกรรมใหม่  และเป็น ‘เชียงใหม่โมเดล’ หากเกิดผลสำเร็จในช่วงฤดูแล้งปีนี้  จะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

     “เมื่อก่อนชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองเป็นจำเลยในเรื่องปัญหาฝุ่นควัน  แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าภาพ  ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะจะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนมากขึ้น   โดยชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา  วางแผน  ปฏิบัติการ  และร่วมสรุปบทเรียน  ซึ่งจะเป็นพลังพื้นฐานที่สำคัญและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ประสบผลสำเร็จต่อไป”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"