ลูกจ้างมาตรา 33 เตรียมเฮ! รมว.แรงงานจ่อถกคลังหลังนายกฯ สั่งหาวิธีช่วยเหลือ โฆษกคลังการันตีมีเงินพร้อมหากรัฐบาลสั่งลุยจ่ายเงินเยียวยากลุ่มประกันสังคม ม.33 ขอรอดูข้อสรุปร่วมกระทรวงแรงงานก่อน เผยเกณฑ์ช่วยเหลือ 4,000 บาท 1 เดือน เฉพาะกลุ่มที่มีเงินในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ยันลงทะเบียน "เราชนะ" วันแรก ไร้ปัญหาแน่นอน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 มกราคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเรียกร้องให้เยียวยากลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะมีมาตรการเยียวยาหรือไม่ ว่าผู้ประกันตนมาตราดังกล่าวมีประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งขณะนี้เรากำลังดูว่ารูปแบบที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ส่วนรายละเอียดขอให้รอผลสรุปก่อน เนื่องจากต้องหารือกับทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา (สศช.) ถึงรูปแบบและวิธีการ และต้องหารือกับ รมว.การคลัง เนื่องจากงบประมาณที่จะใช้ดำเนินงานจะเป็นของกระทรวงการคลัง แต่ขณะนี้มีแนวโน้มสัญญาณที่ดี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมก็เป็นห่วง จึงให้ไปหาวิธีการในการช่วยเหลือ
"มีนักการเมืองที่อาจจะไม่เข้าใจระบบประกันสังคม ไม่เข้าใจรัฐบาลแล้วบอกว่ารัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่รัฐบาลอุดหนุนเงินกองทุนประกันสังคมปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยไปอยู่ในกองทุนว่างงานและกองทุนชราภาพ ซึ่งกลับไปให้กับผู้ใช้แรงงาน ที่ผ่านมาในอดีตกองทุนประกันสังคมได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2.75% แต่รัฐบาลที่ผ่านมาติดค้างยาวนานมูลค่าเป็น 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้ได้อุดหนุนและใช้หนี้เก่าให้กองทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน" นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติกล่าวว่า ในการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ใช้เงินประกันสังคม 62% ในการช่วยเหลือแรงงานกว่า 9 แสนคน ครั้งนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะช่วยเหลือเยียวยา โดยล่าสุดรัฐบาลจ่ายไปอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและปิดกิจการ โดยคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ดังนั้นผู้ประกันตนในระบบไม่ต้องเป็นห่วง เรามีวินัยทางการเงินการคลังอย่างดี และจะพยุงช่วยเหลือทุกคนตามสิทธิที่ประโยชน์ที่ควรได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ทางกระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณารูปแบบการเยียวยา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจ่ายเป็นเงินให้กับผู้ประกันตน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยา 7,000 บาท ทั้งนี้ กรอบวงเงินที่จะเยียวยาจะต้องหารือถึงให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจในระดับนโยบาย ซึ่งคาดว่าทางกระทรวงแรงงานจะต้องหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อพิจารณามาตรการ หากจำเป็นต้องใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบประมาณฟื้นฟู 3.9 แสนล้านบาท น่าจะมีการหารือร่วมกับ รมว.การคลังในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า
"ในหลักการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จะมีกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวมอยู่แล้ว 1.1 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าว จึงต้องพิจารณาว่าเกณฑ์การเยียวยาจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานจะกำหนดเกณฑ์อย่างไร ซึ่งหากที่เห็นตามข้อเสนอในข่าวคือ ให้เงินช่วยเหลือ 4,000 บาท 1 เดือน เฉพาะกลุ่มที่มีเงินในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท เหมือนโครงการเราชนะ โดยคลังยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้"
น.ส.กุลยากล่าวถึงกรณีที่ให้ผู้ที่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งได้รับสิทธิ์ร่วมโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตกอีก 1.34 ล้านคน ยืนยันตัวตนภายในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้อยู่ในฐานข้อมูลคัดกรองร่วมมาตรการเราชนะ จากข้อมูลพบว่ามีผู้ไม่ยืนยันตนภายในเวลาที่กำหนดกว่า 3 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ หากมีคุณสมบัติและต้องการใช้สิทธิ์โครงการเราชนะ จะต้องมาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.เราชนะ.com ภายในวันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.นี้ เพราะถือว่าไม่ได้สิทธิ์อัตโนมัติ
“ในกลุ่มเก็บตกคนละครึ่ง 1.34 ล้านคน มีผู้ไม่มายืนยันตัวตน 3 แสนคน ส่วนกลุ่มที่ยืนยันตัวตนแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ระบบจะทำการคัดกรอง และให้ตรวจสอบสิทธิ์ได้วันที่ 5 ก.พ.นี้ ถ้าเข้าข่ายก็จะได้รับเงินเยียวยา 7,000 บาททันทีตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.เป็นต้นไป ส่วน 3 แสนสิทธิ์ เข้าใจว่าที่ไม่ยืนยันตัวตน อาจเป็นกลุ่มข้าราชการ กลุ่มพนักงานตามมาตรา 33 ที่ไม่ต้องการร่วมเราชนะ ก็สามารถใช้สิทธิ์คนละครึ่งครั้งแรกให้ทันภายในวันที่ 7 ก.พ. เหมือนเดิม” น.ส.กุลยากล่าว
สำหรับการลงทะเบียนโครงการเราชนะในวันที่ 29 ม.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียน ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร่วมโครงการรัฐผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังมาก่อน เชื่อว่าระบบจะสามารถรองรับคนที่สนใจมาลงทะเบียนได้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นคนละระบบกับโครงการคนละครึ่ง เป็นเว็บเบสที่เปิดให้ลงทะเบียนได้ตลอด มีเวลาในการกรอกข้อมูล และรอ OTP ยืนยัน ไม่ใช่ใครมาก่อนได้ก่อน โดยขอให้ผู้กรอกข้อมูล ระมัดระวังการลงทะเบียนให้ถูกต้อง เช่น การกรอกสระ พยัญชนะต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา กรณีกรอกสระแอ โดยพิมพ์สระเอสองครั้ง หรือ กรอกสระอำ เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และ 2 จำนวน 15 ล้านคน ใช้เงินหมดตามเกณฑ์ 3,500 บาทแล้วกว่า 2.6 ล้านคน และมีจำนวนมากที่ใช้เงินใกล้หมด เหลือหลักร้อยบาท สะท้อนให้เห็นว่าคนใช้จ่ายกันเป็นจำนวนมาก โดยยอดใช้จ่ายสะสมล่าสุดอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่การขยายโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 ต้องรอพิจารณาหลังจากโครงการเราชนะดำเนินการเรียบร้อยก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |