"สรรพสามิต" รับจัดเก็บรายได้ 7 เดือนปีงบประมาณ 2561 วืดเป้าหมาย 2.28 พันล้านบาท โอดภาษีเหล้า-เบียร์ทรุดหนัก หลังรัฐบาลรณรงค์คนไทยงดดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมจัดโซนนิ่งห้ามดื่ม พ่วงผู้ประกอบการแห่ปรับสูตร ลดไซด์ ขยับปริมาณแอลกอฮอล์ลงเลี่ยงจ่ายภาษีต่ำ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในรอบ 7 เดือน ปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.2560-เม.ย.2561) ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงมาก เนื่องจากระยะหลังคนไทยดื่มเบียร์ และสุราน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปกติจะเป็นเทศกาลที่คนไทยบริโภคเยอะและจัดเก็บรายได้สูง แต่ปีนี้หลังจากภาครัฐมีการออกมาตรการรณรงค์การงดดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ควบคู่ไปกับการจัดโซนนิ่งในการห้ามดื่มสุรา และเบียร์ตามสถานที่เล่นน้ำ และสถานีขนส่งต่าง ๆ ก็ทำให้ยอดขายและการเก็บภาษีน้อยลง
นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตเบียร์ได้ปรับสูตรการผลิตใหม่ โดยลดปริมาณแอลกอฮอล์ รวมถึงลดขนาดสินค้าให้เล็กลง เช่น เดิมมีปริมาณแอลกอฮอล์ผสม 5% ก็ลดลงเหลือ 3% รวมถึงได้ปรับขนาดเบียร์กระป๋องลดจาก 350 ซีซี เหลือ 330 ซีซี เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการถูกเก็บภาษีเพิ่มเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากการเก็บภาษีจะวัดจากแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ อย่างไรก็ดีการเก็บภาษีที่ลดลงก็เป็นผลดีในเชิงสังคมและสุขภาพคนไทย ที่ดื่มเหล้าและเบียร์น้อยลง
รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การเก็บภาษีสุราและเบียร์ในเดือน เม.ย.2561 ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยภาษีเบียร์เก็บได้ 8,998 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมาย173 ล้านบาท ภาษีสุราเก็บได้5,412 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 433 ล้านบาท ขณะที่การเก็บภาษีเบียร์ 7 เดือน ปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-เม.ย.61) เก็บได้ 42,173 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,341 ล้านบาท ภาษีสุรา 7เดือน เก็บได้ 34,486 ล้านบาท น้อยกว่าประมาณการณ์ 2,000 ล้านบาท ขณะที่การเก็บภาษีสรรพสามิตภาพรวมทำได้ 322,132 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,289 ล้านบาท ส่วนภาษีที่จัดเก็บรายได้ดี มีภาษียาสูบ และรถยนต์ที่ทำได้สูงกว่าเป้าหมายมาก
ส่วนการเก็บภาษีน้ำมันที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,000 ล้านบาท สาเหตุมาจากโรงกลั่นน้ำมันมีการปิดซ่อมบำรุงนอกแผน ทำให้กรมฯ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากโรงกลั่นซึ่งเป็นฐานรายได้ใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามในเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะเก็บภาษีน้ำมันได้สูงขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาผลิตน้ำมันได้ปกติแล้วจึงทำให้การเก็บรายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ กรมฯได้จัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี โดยให้มีการตั้งด่านลอยเพื่อตรวจสอบการนำเข้าน้ำมัน ตามด่านที่ไม่มีเครื่องตรวจ เพื่อป้องกันการลักลอบนำน้ำมันที่ผิดกฎหมายเข้ามา รวมถึงการนำแล็บเคลื่อนที่เข้าไปช่วยด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปกติเฉลี่ยเดือนละ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท
“มั่นใจว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในปีนี้จะทำได้สูงกว่าปีที่แล้วแน่นอน โดยจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4-5% เป็นไปตามจีดีพี แต่จะทำได้เท่ากับเป้าหมาย 6 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น กรมฯจะพยายามทำให้ได้มากที่สุด แต่ยอมรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะเร่งทำทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ส่วนการใช้วิธีในการเก็บภาษีเพิ่มนั้น มีการศึกษาแต่ไม่ได้นำออกมาใช้ตามแผน” รายงานข่าว ระบุ
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-มี.ค.61) กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 268,965 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.1% หรือ 2,925 ล้านบาท และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,476 ล้านบาท คิดเป็น 7.1% และภาษีเบียร์เก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,168 ล้านบาท คิดเป็น11.2% เนื่องจากปริมาณน้ำมันและเบียร์ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์เก็บได้เกินเป้าหมาย 4,898 ล้านบาท คิดเป็น 9.4% และภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,579 ล้านบาท คิดเป็น 8% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |