มันเจ็บอยู่ในอก! 85 กระชังปลาน้ำตาตกใน 30 ล้านหายวับ ประมงแจงเลี้ยงในเขตอุทยานฯ ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้ หมดทางช่วยเหลือเยียวยา ด้านหน.อุทยานฯเขาแหลม นำจนท.เร่งช่วยฝังกลบซากปลากว่า 200 ตันป้องกันโรค อาจารย์มหิดลชี้เกิดปรากฎการณ์เพราะน้ำใต้ดินรอบอ่างลดน้อยมาก ทำให้ไหลลงขอบอ่างเร็ว แรงดันน้ำใต้ดินจึงมาก
27 ม.ค.64 - จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฎการณ์ "การพลิกกลับของชั้นน้ำในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ" เป็นเหตุให้น้ำในอ่างฯเกิดสีขุ่นแดง รวมทั้งส่งกลิ่นเหม็น ต่อมาอีก 2 วันปลากดคังในกระชังเลี้ยงของชาวประมง 85 กระชังตายจนหมดเสียหายกว่า 30 ล้าน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่เลี้ยง เนื่องจากแทบหมดเนื้อหมดตัว ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้ว
นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานฯเขาแหลม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุปลากดคังที่เลี้ยงในกระชัง บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ บ้านโบอ่อง หมู่ 2 ต.ปิล็อค อ.ทองภูมิ จ.กาญจนบุรี เกิดตายเป็นจำนวนมาก จึงพร้อมด้วยนายโชคชัย อู่โภคิน ปลัดอำเภอทองผาภูมิ นายวรรณนัฑ หิรัญชุฬหะ ประมงจังหวัดกาญจนบุรี นางสาวธิดาวรรณ โพธิ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการ ด้านการประมง นายจิระพงษ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอาชีพด้านการประมง นายณรงค์ เทศธรรม ประมงอำเภอทองผาภูมิ นางสาวนันทภัค โพธิสาร นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ศูนย์วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาญจนบุรี ร่วมกับนายไพศาล รัตนา หัวหน้าหน่วยป้องกัน และ ปราบปราม ประมงน้ำจืดเขื่อนวชิราลงกรณ ผู้แทนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี นายอภิรักษ์ ทองโต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เดินทางโดยใช้เรือเป็นยานพาหนะ ไปยังพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียด เพื่อหาทางช่วยเหลือ
เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ไปถึงบริเวณริมอ่างฯ พบชาวประมงผู้เลี้ยงปลากดคังในกระชัง กำลังช่วยกันขุดหลุมฝังซากปลา ที่กองยาวเหยียดอยู่บนพื้นริมฝั่ง บ้างก็นั่งมองซากปลาด้วยสีหน้าหมองเศร้า ที่ทรัพย์สินต้องสูญสลายหายไปในพริบตา กำลังจนท.อุทยานฯจึงเข้าช่วยชาวบ้าน ขุดหลุมฝังกลบซากปลาจำนวนมหาศาล โดยเทปูนขาวทับ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ก่อนจะทำการกลบดิน
ตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า พันธุ์ปลาที่ตายเป็นปลากดคัง ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจราคาสูง ที่ตลาดต้องการ มีขนาดเฉลี่ย 1-5 กิโลกรัม รวมซากปลาที่ตายน้ำหนักประมาณ 200 ตัน จำนวนผู้เลี้ยงปลากระชังที่เสียหาย ทั้งสิ้น 22 ราย จำนวน 85 กระชัง มูลค่าความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท
จนท.ได้ร่วมกันตรวจสอบสาเหตุที่ปลาตายเนื่องจากเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังที่ตั้งอยู่ในอ่าวซึ่งเป็นพื้นที่วงแคบ ทำให้น้ำหมุนเวียนได้น้อย และปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้มี 60% ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำในทุกปี ที่ผ่านมา และเกิดมี plankton bloom จำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำเสีย กระแสลมรุนแรงพัดเข้าหาอ่าว สีน้ำเข้มขุ่น ทำให้เกิดน้ำเปลี่ยนสี จากผลการวิเคราะห์น้ำจุดที่ปลาตาย พบว่าปริมาณอ็อกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน (2.7 มิลลิกรัมต่อลิตร) ค่า pH ต่ำกว่ามาตรฐาน(6.27) แอมโมเนีย 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร อุณหภูมิ 26.5 องศาเซลเซียส ค่าไนไตรท์ 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความกระด้างของน้ำ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ความโปร่งแสง 1.8 เมตร และค่าความเป็นด่าง 50 มิลลิกรัมต่อลิตร
ต่อมาคณะจนท.ได้เชิญชาวบ้านที่เลี้ยงปลากระชัง ทั้งผู้เสียหายทั้งหมดและผู้เลี้ยงที่เสียหายบางกระชัง มาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า เกษตรกรที่ได้ความเสียหาย มีการเลี้ยงปลาในเขตอุทยานฯ จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับกรมประมงได้ เป็นเหตุทำให้ไม่สามารถ ทำเรื่องช่วยเหลือเยียวยาได้ พร้อมเสนอแนะให้เกษตรกรลากกระชังปลาไปเลี้ยงบริเวณที่เหมาะสมมีน้ำไหลเวียนสะดวก และให้ลดจำนวนปลาเลี้ยงลดความหนาแน่น ควรเลือกจับปลาขนาดใหญ่ขึ้นจำหน่าย รวมทั้งให้งดอาหาร ใช้เครื่องเพิ่มอ็อกซิเจน จนกว่าคุณภาพน้ำจะเป็นปกติ
ด้าน ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เผยถึงสาเหตุนี้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระดับน้ำบาดาลหรือ น้ำใต้ดินรอบอ่างเก็บน้ำช่วงเข้าฤดูแล้งนี้ น่าจะลดลงมาก ทำให้ความลาดชัน ของชั้นน้ำบาดาลรอบอ่างฯ และในตัวอ่างต่างกันมากขึ้นๆ น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลไหลจากชั้นน้ำที่สูงกว่าลงไปในอ่างฯ น้ำใต้ดินจึงไหลลงมาจากขอบอ่างเร็วขึ้นมาก ตามแรงดันน้ำใต้ดินที่เพิ่มขึ้นจากระดับที่ต่างกันนั้น นี่คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขุ่นได้ในธรรมชาติ
ส่วนกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดจากการใช้น้ำรอบอ่าง น้ำที่ไหลกลับลงอ่างก็ทำให้เกิดน้ำขุ่นได้ตามระดับการใช้น้ำ ผนวกกับสาเหตุอื่นๆ กล่าวคือ ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ มีซากต้นไม้ใบไม้ฝังกลบอยู่มากมายตั้งแต่เริ่มกักเก็บน้ำ บวกกับซากต้นไม้และซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกพัดพามาสมทบภายหลัง เมื่อน้ำที่เคยกดทับลดลง ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และก๊าซไข่เน่าก็ละลายในน้ำเพิ่มขึ้น และลอยระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเป็นปรกติ
อาจารย์ปริญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพราะ ปริมาณสัดส่วนของก๊าซอ็อกซิเจนในน้ำลดลงมาก เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มก๊าซที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญคือก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ข้างต้น ซึ่งพบมากขึ้นในสภาพแวดล้อม ที่พร่องอ็อกซิเจนในน้ำ ต้องตรวจสอบระดับน้ำในอ่าง ปริมาณน้ำในอ่างแต่ละช่วงที่ผ่านมา ว่าคุณภาพน้ำในช่วงต่างๆเหล่านั้นและปัจจุบัน รวมถึงสภาพตะกอน และสิ่งแปลกปลอมใต้ท้องน้ำ รวมถึงเศษอาหารปลา และมูลปลาตกค้างในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ปัจจัยทั้งหมด เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในธรรมชาติเป็นปกติอยู่แล้ว ยิ่งน้ำนิ่งยิ่งเพิ่มความรุนแรง เพราะขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อม ยา ปุ๋ย และสารตกค้างที่เกิดจากกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ทั้งหมด ก็ต้องนำมาพิจารณาถึงสาเหตุการตายของปลาด้วย
สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียของเกษตรกรเลี้ยงปลาในอ่าง คือการประเมินศักยภาพ ทรัพยากรน้ำในอ่างในแต่ละฤดูกาล มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ เพื่อให้เกิดสมดุลทางสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
นางนิ่มนภา ตุมรสุนทร ผู้ได้รับความเสียหาย กล่าวด้วยใบหน้าเศร้าหมองน้ำตาคลอเบ้าว่า มีกระชังเลี้ยงปลากดคังจำนวน 40 กระชัง ตายไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ล้าน คาดหวังว่าเมื่อขายปลาชุดนี้หมด จะรวบรวมนำเงินไปซื้ออาคารพาณิชย์สัก 1 ห้อง เพื่อทำร้านขายขนมเบเกอร์รี่ ที่ทำขายอยู่ปัจจุบันด้วย แต่ก็หมดหวังเพราะไม่เหลือปลาแม้แต่ตัวเดียว
ส่วนปลากดคังที่ตาย ก็ไม่สามารถเอามาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว หรือปลาร้าได้เลยแม้แต่ตัวเดียว เสียดายก็ได้แต่นั่งมอง เนื่องจากปลาที่ตายเมื่อลอยขึ้นมาก็มีสภาพเหม็น เกรงว่าถ้านำไปแปรรูปแล้ว อาจจะเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภคได้ ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายหลังทราบว่าภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาในความสูญเสียครั้งนี้ได้ ด้วยเสียงสะอึกสะอื้นสั่นเครือ ว่า “มันเจ็บอยู่ในอก”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |