โยนชวนชี้ญัตติซักฟอก


เพิ่มเพื่อน    

 

“ประธานชวน” ไม่ขอวิจารณ์ญัตติฝ่ายค้าน อ้างต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนจึงตัดสินได้ โดยเฉพาะประเด็นแก้ไขญัตติ “วิษณุ” รับเป็นครั้งแรกที่พาดพิงโดยตรงไม่เฉี่ยว เตือนผู้อภิปรายและผู้ตอบระมัดระวัง สิระถามยังจงรักภักดีอยู่ไหม “เพื่อไทย” ลั่นไม่กังวล ชี้พุ่งเป้าที่ “ประยุทธ์” ไม่ใช่สถาบัน “ก้าวไกล” ออกตัวไม่ได้รับงาน “ก้าวหน้า” แต่ทำในฐานะประชาชน
    เมื่อวันพุธที่ 27 ม.ค. ยังคงมีความต่อเนื่องจากญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เรียกร้องให้แก้ไขญัตติเนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบัน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ว่า ต้องรอรายงานจากฝ่ายผู้ตรวจสอบรายละเอียดญัตติก่อน จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ในตอนนี้ ทั้งนี้ คาดว่าเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องมาให้ภายใน 1-2 วันนี้
    ถามว่าตามหลักการสามารถเสนอญัตติที่เกี่ยวกับสถาบันได้หรือไม่ นายชวนย้ำว่า ยังไม่อยากวิจารณ์อะไร ขอให้รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและส่งเรื่องมาก่อนจึงให้ความเห็นได้ เมื่อถามย้ำว่าในอดีตเคยมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจและเชื่อมโยงไปถึงสถาบันหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ตามข้อบังคับมีเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำหนดไว้ว่าสามารถอภิปรายอะไรได้บ้าง
    ซักว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมาก็มีการห้ามพูดถึงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี นายชวนกล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน  
    ถามย้ำว่า นายวิรัชจะประสานมาเพื่อให้แก้ไขญัตติ นายชวนกล่าวว่า ตอนนี้เรื่องยังมาไม่ถึง ถ้าเรื่องมาถึงแล้วจะพิจารณาและประสานไปอีกครั้ง
    ถามอีกว่า ต้องหารือกันอีกครั้งหรือไม่ เพราะวิปรัฐบาลระบุว่าหากปล่อยญัตตินี้ออกไปอาจประท้วงตั้งแต่เริ่มต้น นายชวนกล่าวว่า ต้องรอเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบญัตติส่งรายละเอียดมา
    เมื่อถามว่า หากต้องแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ต้องยื่นญัตติใหม่ภายในเวลาเท่าไหร่จึงจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาสมัยนี้ได้ทัน นายชวนกล่าวว่า ถือว่ายื่นมาเรียบร้อยแล้วตามขั้นตอน หากจะแก้ไขก็จะประสานไปอีกครั้ง
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวผ่านพอดแคสต์ เพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเราจำเป็นต้องร่วมมือกัน ว่าทำอย่างไรจะทำให้ประเทศชาติของเราปลอดภัย ประชาชนมีความสุข มีทางออกให้กับประเทศของเรา วันนี้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมีอยู่มาก และทุกปัญหาเราต้องแก้ไข รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดภายใต้กฎหมายและกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งกฎระเบียบ ในส่วนของการปฏิบัติ ก็ขอร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมาย เคารพกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและเป็นธรรม
    “ผมยืนยันหลักการและเจตนารมณ์ของผม ว่าผมไม่ใช่ศัตรูของใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนจะรักและสามัคคีกัน นำพาประเทศชาติของเราไปสู่ความก้าวหน้า สู่ความหวังในสิ่งที่เป็นอนาคตที่ดีกว่าวันนี้” นายกฯ กล่าว
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในประเด็นนี้ว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกล่าวหานายกฯ และรัฐมนตรีรวม 10 คน ข้อหาแตกต่างกันไป บางเรื่องก็ซ้ำซ้อนกัน แต่ถือเป็นญัตติ เนื้อหาจริงๆ ต้องไปว่ากันที่ตอนอภิปราย การดูแค่ญัตติอย่างเดียวไม่เพียงพอ คนที่เตรียมตัวไม่สามารถเตรียมได้ครบถ้วน เพราะไม่รู้เนื้อหาการอภิปรายทั้งหมด
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ญัตติมีการกล่าวอ้างถึงสถาบัน นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ในส่วนคำกล่าวหานายกฯ 3 ประเด็นคือ ใช้สถาบันแบ่งแยกประชาชน ใช้อ้างอิงเพื่อนำมาปกปิดการกระทำที่บกพร่องของรัฐบาล และกล่าวหาว่านำสถาบันไปหาประโยชน์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคืออะไร อาจเกี่ยวกับการตั้งข้อหามาตรา 112 เป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องเตรียมตัว คงอธิบายอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร
ชี้พาดพิงโดยตรงครั้งแรก
     เมื่อถามว่าที่ผ่านมาคือมีการตั้งญัตติเกี่ยวกับสถาบันบ้างหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เคยมีแบบเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา แต่ตรงๆ เช่นนี้ไม่มี แต่เมื่อถึงเวลาในสภา ใครที่จะอภิปรายหรือแม้แต่ผู้ที่จะตอบต้องระมัดระวัง ไม่ได้แปลว่าพูดไม่ได้ แต่หมายถึงต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะเจอข้อบังคับการประชุมสภา จนมีการประท้วงและคัดค้านได้ ซึ่งการอภิปรายเรื่องสถาบัน เส้นแบ่งมันมีอยู่แล้ว คนที่อยู่ในสภาชำนาญการอยู่แล้ว คงต้องระวัง โดยประธานสภาฯ คงต้องควบคุมในส่วนนี้ ย้ำว่าไม่ได้หมายความว่าพูดไม่ได้ พูดได้แต่พูดให้เป็นเรื่องของรัฐมนตรี อย่าไปพูดให้เป็นเรื่องของสถาบัน  
        เมื่อถามว่าจะต้องประชุมลับหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่เนื้อหา อย่าตั้งหลักว่าจะประชุมลับ ถ้าเป็นเช่นนั้นผิด แต่เมื่อถึงเวลาพูดกันจะได้รู้ ถ้ามีการกล่าวหาขึ้นมาแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องตอบเพื่อให้ชัดเจน แต่ถ้าการตอบไม่สมควรเปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถขอให้ประชุมลับได้เฉพาะเรื่องนั้น ซึ่งการอภิปรายโดยไม่ลงมติครั้งที่ผ่านมาก็เคยมีเนื้อหาที่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ซึ่งประธานสภาสามารถควบคุมได้ดี  
    ถามอีกว่า ส.ส.ที่อภิปรายมีเอกสิทธิ์คุ้มครองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การพูดในสภา ผู้ใดจะนำไปกล่าวหาฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ แต่ถ้าถ่ายทอดสดไปสู่บุคคลภายนอก จะไม่มีเอกสิทธิ์ตรงนี้ ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องกันหลายคดี   
    เมื่อถามว่า มีใครมาปรึกษาหรือให้ช่วยเป็นติวเตอร์ให้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีๆ จะมาหาทำไม แต่ละคนก็ชำนาญการทั้งนั้น รัฐมนตรีแต่ละคนชำนาญเวทีอยู่แล้ว ส่วนนายกฯ ได้เจอกันในที่ประชุม ครม. ซึ่งนายกฯ บอกว่าได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (พีม็อก) ทำการบ้านในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ ก็รับทราบตามนั้น และไม่จำเป็นว่าจะต้องไปประจำการเพื่อคอยช่วยชี้แจง แต่ต้องเข้าใจว่าบางเรื่องที่ถูกอภิปราย ไปเกี่ยวพันกับคนอื่น นายกฯ ถูกอภิปรายใน 2 ฐานะ คือในฐานะนายกฯ และในฐานะ รมว.กลาโหม ซึ่งในฐานะ รมว.กลาโหมนั้น กห.ต้องเตรียมข้อมูลให้นายกฯ เอง แต่ในฐานะนายกฯ นายกฯ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้ที่ดูแลกระทรวงทั้ง 20 กระทรวง เพราะฉะนั้น 20 กระทรวงจะต้องเตรียมข้อมูลให้นายกฯ เพราะกระทรวงใดก็ตามไปทำอะไร นายกฯ อาจถูกอภิปรายและถูกพาดพิงได้หมด
    “ยกตัวอย่างข้อกล่าวหาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ไปแต่งตั้งใครมาเป็นอะไร ข้อหานี้ไปโดนที่ ร.อ.ธรรมนัส แต่เอาเข้าจริงอาจโดนนายกฯ ก็ได้ แต่นายกฯ จะตอบได้อย่างไร นายกฯ ตอบได้แค่ว่าไม่ใช่คู่สมรสของตนเอง ทำไมตั้งไม่ได้ แต่ถ้าไปอภิปราย ร.อ.ธรรมนัสประเด็นนี้ ร.อ.ธรรมนัสก็บอกได้ว่าแม้เป็นคู่สมรสตนเองก็จริง แต่ไม่ได้เป็นคนตั้ง นี่คือตัวอย่างว่าเกี่ยวพันกับใครก็ต้องลุกขึ้นตอบเอง สำหรับนายกฯ มีสิทธิตามข้อบังคับให้คนอื่นตอบได้” นายวิษณุกล่าว
    เมื่อถามว่า ได้เตรียมตัวชี้แจงข้อกฎหมายให้บ้างหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับตนเอง ส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่เป็นข้อเท็จจริง ส่วนจะมีประเด็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติหรือไม่นั้น ยังไม่เห็น และถ้าเห็นจะไปบอกพวกคุณทำไม เดี๋ยวพวกคุณก็ไปบอกฝ่ายค้าน
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวว่าประชาชนจำนวนมากรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีในเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง แต่สิ่งที่ความรู้สึกวิตกกังวลและอึดอัดใจมากที่สุด คือการที่พรรคฝ่ายค้านได้เขียนญัตติในประเด็นที่เชื่อมโยงกับสถาบัน ทั้งที่ประชาชนในประเทศไทยทราบดีว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความจงรักภักดีปกป้องสถาบันมาโดยตลอด
ข้องใจจงรักภักดีหรือไม่
     “มีประชาชนฝากถึงฝ่ายค้านต้องการให้ฝ่ายค้านถอนญัตติออกเสีย และยื่นเข้ามาใหม่ให้มีเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง และอย่าได้เอาสถาบันมาเกี่ยวข้องเด็ดขาด เพราะในการอภิปรายอาจมี ส.ส.พรรคฝ่ายบางคนที่รับงานมาจากคนที่คิดล้มล้างสถาบัน อภิปรายพาดพิงเอาเรื่องสถาบันมาโจมตี จาบจ้วง ก้าวล่วง ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นประชาชนที่ปกป้องสถาบันอาจออกมาชุมนุมหน้าสภาประท้วงฝ่ายค้านขึ้นมาอีก ฝ่ายค้านควรฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ควรทบทวนญัตติดังกล่าว” นายสุภรณ์กล่าว
    นายสุภรณ์ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า ทีมงานของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ จะจัดตั้งทีมงานวอร์รูมนอกสภาประมาณ 15 คน มีทั้งอดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส. ตลอดจนมือกฎหมายอาชีพ คาดว่าจะเชิญทั้ง 15 คนมาร่วมประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมภายในสัปดาห์หน้า
     นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. กล่าวเช่นกันว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ สมควรหรือไม่ที่ฝ่ายค้านนำเรื่องสถาบันมาเกี่ยวข้อง เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีสภา อยากถามว่า ส.ส.ที่ลงชื่อครั้งนี้ยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ประชาชนรับได้หรือไม่กับญัตติดังกล่าว เพราะญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติไม่ไว้วางใจสถาบัน เรื่องนี้ฝ่ายค้านมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ หากยืนยันว่าจะไม่แก้ญัตติ จะประท้วงจนไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 4 วัน
“การแก้ไขญัตติไม่มีความเสียหาย และการอภิปรายก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่หากฝ่ายค้านมีหลักฐานเรื่องการทุจริตชัดเจน ผมพร้อมยกมือไม่ไว้วางใจ ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ”นายสิระกล่าว   
         ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขาธิการพรรคยืนยันว่า มั่นใจว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ยื่นไปถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม ส่วนประเด็นที่รัฐบาลไม่สบายใจว่าญัตติที่ยื่นไปเกี่ยวโยงกับสถาบันนั้น ถ้าดูญัตติให้ดีเรื่องนี้เป็นประเด็นที่กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่การพาดพิงสถาบันแต่อย่างใด ข้อบังคับการประชุมก็มีอยู่ว่า ห้ามพูดถึงสถาบันโดยไม่จำเป็น ฝ่ายค้านทราบดี และได้หารือกัน ขอให้ระวังการพูดตามข้อบังคับการประชุมให้ดี
    “จะแก้ไขญัตติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายชวนจะพิจารณาว่าญัตติมีความถูกต้องหรือไม่ ถ้าเรื่องนี้ยังไม่บรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุม จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของนายชวน แต่ถ้าบรรจุเข้าวาระประชุมไปแล้ว การจะแก้ไขต้องเป็นความเห็นของที่ประชุมสภา เรื่องนี้ฝ่ายค้านไม่หนักใจ” นายประเสริฐกล่าว
ก.ก.ลั่นไม่ได้รับงานก้าวหน้า
    ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า พรรคมีความเห็น 3 ข้อ 1.ยืนยันว่าพฤติการณ์ของรัฐบาลที่ถูกกล่าวในญัตติการอภิปรายนั้น เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไม่ใช่การอภิปรายสถาบัน หรืออภิปรายส่งผลเสียหายแก่สถาบัน 2.ยืนยันว่าการเสนอญัตติไม่มีเนื้อหาใดที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หากประธานสภาฯ เห็นว่าฝ่ายค้านต้องแก้ไขถ้อยคำในญัตติ ก็ต้องอธิบายให้ชัดว่าข้อความในญัตติดังกล่าวขัดต่อระเบียบข้อบังคับตรงไหน ซึ่งเรายังเชื่อว่าประธานสภาฯ ยังมีความเป็นกลางและยึดมั่นในข้อบังคับอยู่แล้ว และ 3.พรรคจะทำหน้าที่อภิปรายรัฐบาลอย่างดีที่สุด ทำหน้าที่อย่างมีวุฒิภาวะ โดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน
        “รัฐบาลควรหยุดนำเรื่องสถาบันมาใช้โจมตีพรรคร่วมฝ่ายค้านได้แล้ว เพราะเป็นพฤติกรรมของรัฐบาลที่เป็นปัญหามาโดยตลอด และไม่ได้กังวล แต่ขอรัฐบาลอย่าใช้เรื่องนี้มาตีรวนในสภา ขอให้ฟังเนื้อหาการอภิปรายให้จบ แล้วจะเข้าใจว่าเราอภิปรายรัฐบาล ไม่ได้อภิปรายสถาบัน”
         เมื่อถามถึงการถูกตั้งข้อสังเกตว่าสอดรับกับการเคลื่อนไหวในเรื่องสถาบันของคณะก้าวหน้านั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้เราเตรียมการมาสักพักหนึ่งแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับคณะก้าวหน้า เพราะเราให้ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และปัญหาของรัฐบาลที่ใช้ประเด็นสถาบันในทางการเมือง มีการดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะก้าวหน้าหรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
    หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยกล่าวเรื่องนี้ว่า การเขียนญัตติต้องไปถามผู้นำฝ่ายค้าน เพราะได้รวบรวมข้อมูลจากทุกพรรคมาเขียนญัตติ แต่ในส่วนของพรรคไม่มีเรื่องสถาบันมาเกี่ยวข้อง โดยญัตติที่ยื่นไปแล้วไม่ควรและไม่จำเป็นที่ต้องแก้ไข ขอให้รอดูตอนอภิปราย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"