คกก.เฉพาะกิจฯ เตรียมชง "ศบค.ชุดใหญ่" 29 ม.ค.เคาะจัดโซนพื้นที่แพร่ระบาดโควิดใหม่หลังสถานการณ์ดีขึ้น ลดจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือแค่ "สมุทรสาคร" พร้อมคลายล็อกพื้นที่อื่นนั่งดื่ม-กินได้ถึง 5 ทุ่ม เปิดเรียนทุกแห่ง 1 ก.พ.แต่ต้องยึดมาตรการป้องกันเข้ม "หมอทวีศิลป์" เผยติดเชื้อราว 819 ราย เสียชีวิต 1 ราย "อนุทิน" ขึ้น! ผู้ติดเชื้อปาร์ตี้มะตูมปกปิดไทม์ไลน์ ชี้มีความผิดตาม กม. ลั่นไม่มีใครใหญ่กว่าหมอ "ผู้ว่าฯสมุทรสาคร" อาการดีขึ้น เปิดให้ครอบครัวเยี่ยมลดความกังวล
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 27 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 819 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 808 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 92 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 716 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกที่ จ.สมุทรสาคร 714 ราย, ระยอง 1 ราย และสมุทรปราการ 1 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 15,465 ราย หายป่วยสะสม 11,054 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 4,335 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีโรคเลือดสมองตีบ ป่วยติดเตียง มีอาการเหนื่อยหอบ มีเสมหะมากตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. จากนั้นไปโรงพยาบาลกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ วันที่ 23 ม.ค. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 25 ม.ค. อาการไม่ดีขึ้น มีเสมหะมาก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 76 ราย ตรงนี้ทำให้เห็นว่าผู้ป่วยติดเตียงมีความเสี่ยง ใครเป็นลูกหลานเมื่อกลับบ้านควรรีบชำระร่างกายให้เรียบร้อย รักษาระยะห่างจะดีที่สุด ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 100,822,401 ราย เสียชีวิตสะสม 2,166,950 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อเช้าวันที่ 27 ม.ค. มีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการปรับพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยใช้รูปแบบจังหวัดกันชน กับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการกระจายไปพื้นที่อื่น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 ระดับเหมือนเดิม ใช้เกณฑ์จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อหรือจำนวนน้อยและรายอำเภอเช่นเดิม
"เกณฑ์ปรับพื้นที่จะดูจากสถานการณ์การระบาดของโรคในช่วง 7 วัน 14 วัน และ 28 วัน การมีแหล่งรังโรคที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจาย จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเป็นแนวชายแดน และมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน จะเห็นว่าช่วงวันที่ 15 ธ.ค.63-21 ม.ค.64 มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่าช่วงวันที่ 21-27 ม.ค. ทำให้มีการปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมมี 5 จังหวัด ให้เหลือเพียง 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร พื้นที่ควบคุมสูงสุดจากเดิมมี 23 จังหวัด เหลือเพียง 4 จังหวัดคือ กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ส่วนพื้นที่ควบคุม จากเดิมมี 11 จังหวัด เพิ่มขึ้นเป็น 20 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลดมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังสูง จากเดิมมี 38 จังหวัด เหลือเพียง 17 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง ปรับให้มี 35 จังหวัด" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สธ.ยังได้เสนอมาตรการผ่อนคลายต่อที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ให้พิจารณาก่อนจะเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 29 ม.ค. เช่น จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สิ่งที่ปิดยังปิดเหมือนเดิม ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้เปิดได้บ้างคือ ตลาดนัด ร้านอาหารที่ให้เปิดแบบซื้อกลับไปบริโภค ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. โรงงานที่มีมาตรการป้องกันและติดตามโรค อย่างไรก็ตาม จากเดิมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่สีแดงเข้มทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงแล้วที่ อ.บ้านแพ้ว ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ จึงจะให้อำนาจจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสำหรับโอกาสในการเปิดกิจการและกิจกรรมลงเป็นรายอำเภอ
ชง ศบค.คลายล็อกโซนพื้นที่
"ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดยังคงให้ปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ขณะที่ร้านอาหารให้นั่งรับประทานได้แบบเว้นระยะห่าง เปิดได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. และจำกัดเวลาการจำหน่ายแอลกอฮอล์ไม่เกินเวลา 23.00 น. แสดงดนตรีได้ แต่งดการเต้นรำ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะมีการผ่อนคลายไปตามลำดับ สำหรับการประชุมสัมมนาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม จำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 100 คน งดการดื่มสุราและแสดงดนตรี ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง จำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 300 คน งดการดื่มสุราและแสดงดนตรี โดยรายละเอียดทั้งหมดขณะนี้ คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ยังประชุมอยู่ สธ.คงจะมีการชี้แจงในการแถลงข่าว" โฆษก ศบค.กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในเรื่องการเปิดการเรียนการสอนทุกพื้นที่เปิดได้เกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับ กทม.และปริมณฑลที่เปิดได้ แต่ต้องคำนึงถึงมาตรการในการป้องกันโรค เช่น การสลับเวลาเรียน การเว้นระยะห่าง หรือการสอนออนไลน์ ยกเว้น จ.สมุทรสาคร ที่ยังให้ปิดอยู่ ตรงนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นอกจากนี้ในส่วนบ่อนการพนันปิดทุกพื้นที่ ขณะที่สถานบริการ อาบน้ำ อาบอบนวด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมให้ปิดสถานที่และงดบริการนอกสถานที่ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดใช้บริการได้ โดยจำกัดผู้ใช้บริการ ส่วนการแข่งขันชกมวยของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมสามารถแข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม แต่พื้นที่เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสามารถจัดการแข่งขันและมีผู้ชมตามเกณฑ์ที่กำหนดได้
"ในที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้หารือกันถึงทิศทางการสื่อสารกับประชาชน เนื่องจากการเปิดกิจการและกิจกรรม กับการควบคุมโรคต้องมีน้ำหนักไปด้วยกัน เช่น การเปิดการเรียนการสอน เราอยากให้เด็กได้เข้าเรียน แต่บางพื้นที่อย่าง จ.สมุทรสาคร แม้มีพื้นที่ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่พอเปิดการเรียนการสอนจะมีการเคลื่อนย้ายประชากร การแออัดในขนส่งสาธารณะ ความเสี่ยงจะตามมา บางเรื่องตัดสินใจยากและละเอียดอ่อน ต้องพึ่งนักวิชาการ พึ่งวิธีการที่หลากหลาย และสถิติ ดังนั้นการตัดสินใจแต่ละเรื่องที่มีผลกระทบกับประชาชนเป็นความละเอียดอ่อน อย่างครั้งที่แล้วมีการประชุมและมีรูปแบบออกมา แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลง จึงขอความเห็นใจในการทำงาน ทั้งนี้ ขอให้ติดตามผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 ม.ค.นี้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในภาพรวมสถานการณ์โควิดประเทศไทยลดลงอย่างมากในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดส่วนใหญ่ควบคุมการระบาดได้แล้ว ยกเว้น จ.สมุทรสาครและกรุงเทพฯ และยังจำเป็นต้องควบคุมมาตรการที่เหมาะสม โดยข้อเสนอการปรับพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ได้สรุปเป็นข้อเสนอดังนี้ 1.ใช้รูปแบบจังหวัดแนวกันชนกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะมีการกระจายโรคไปพื้นที่อื่นๆ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ควบคุมสูงสุด ควบคุม เฝ้าระวังสูงสุด และเฝ้าระวัง
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า สำหรับมาตรการปิด-เปิดสถานที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน จ.สมุทรสาคร สถานที่ให้ปิดและเข้มงวดการควบคุมกำกับ ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ, สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ยิม ฟิตเนส, สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน สนามพระ เครื่อง, กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย, โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สถาบันการศึกษา, สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่นเด็ก ตู้เกม ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต, การประชุม งานเลี้ยง กิจกรรมประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดงานแสดงสินค้า และสถานีขนส่งสาธารณะ ส่วนการเปิดสถานที่ เข้มงวด มาตรการป้องกันโรค ได้แก่ ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และกำกับการเว้นระยะห่าง, ร้านอาหารให้ซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น และเปิดไม่เกิน 21.00 น., ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น., ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัย เฉพาะเข้าพักเป็นการประจำ, สถานประกอบการ โรงงาน พร้อมกำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้า-ออกทุกคน
ศธ.พร้อมเปิดเรียน1ก.พ.
"ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ทั้งพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการที่กำหนด งดจัดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขณะที่ศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุม จัดนิทรรศการ เปิดให้บริการได้ตาม เวลาปกติภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม./คน ซึ่งทั้งหมดเป็นฉบับร่างที่จะนำเสนอในการพิจารณาผ่อน คลายมาตรการในวันศุกร์ที่ 29 ม.ค.นี้" นพ.เฉวตสรรกล่าว
ส่วน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงข้อเสนอแนวปฏิบัติและการเตรียมความพร้อมการเปิดเรียนรองรับการระบาดระลอกใหม่ว่า ข้อปฏิบัติที่เราเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายฯ ในกรณีสถานศึกษาที่ต้องเปิดเรียน ต้องเคร่งและเข้มในมาตรการ เตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียนตามมาตรการ 6 มิติ คือ 1.ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ 2.การเรียนรู้ 3.การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส 4.สวัสดิภาพและการคุ้มครอง 5.นโยบาย และ 6.การบริหารทรัพยากร ซึ่งทั้งหมดนี้เราได้ออกเป็นแบบประเมินของกรมอนามัย ซึ่งตอนนี้สถานศึกษาทุกสังกัดได้ประเมินตนเองผ่านเข้ามาแล้ว มีความพร้อมส่วนใหญ่อยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์
"ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กยังมีแนวทางเห็นพ้องต้องกันว่าจะให้มีการเปิดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ โดยสถานศึกษาของรัฐบาล หรือเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนตามปกติ แต่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดคือ จ.สมุทรสาคร อาจให้ปิดการเรียนการสอนอยู่ แต่ระหว่างที่ปิดให้สถานศึกษากำหนดแนวทางการเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษากำหนด เพื่อไม่ให้เด็กขาดเรื่องการเรียนรู้ ส่วนใน กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี ให้เปิดการเรียนการสอนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข" รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศบค.ชุดเล็กได้อนุมัติให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดเปิดเรียนวันที่ 1 ก.พ. ยกเว้น จ.สมุทรสาคร ที่ยังไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ ยังต้องให้เรียนออนไลน์หรือเรียนรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นให้ใบงาน และให้แบบฝึกหัด เป็นต้น ส่วนโรงเรียนจังหวัดพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ แต่การเรียนการสอนจะต้องจำกัดจำนวนนักเรียน โดยให้ 1 ห้องเรียน มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน หากโรงเรียนไหนไม่สามารถทำได้ ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน เช่น เรียนสลับเวลา หรือสลับวันมาเรียน หรือสลับสัปดาห์เรียน เป็นต้น โดยใน 4 จังหวัดดังกล่าว จะใช้เวลา 15 วัน สำหรับในการเรียนการสอนรูปแบบนี้ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้น จะให้กลับไปเรียนตามปกติเหมือนจังหวัดอื่นๆ
"นักเรียนที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร ที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถให้มาเรียนได้ เพราะมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งโรงเรียนจะทราบดีว่าต้องจัดการเรียนรูปแบบไหนให้กับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร หากโรงเรียนเปิดสอนตามปกติแล้ว แต่ผู้ปกครองบางส่วนอาจยังไม่สะดวกใจให้ลูกมาเรียนที่โรงเรียนเนื่องจากกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ โรงเรียนก็ต้องบริหารจัดการให้ตามความเหมาะสม” นายณัฏฐพลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศเรื่อง การเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ 28 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 เป็นต้นไป แต่ปิดการเรียนการสอนในจังหวัดสมุทรสาครต่อไป ส่วน กทม.และปริมณฑล (นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐมและปทุมธานี) ให้แต่ละห้องเรียนให้มีนักเรียนได้ไม่เกิน 25 คน กรณีห้องเรียนไม่เพียงพอให้จัดการเรียนการสอนด้วยการสลับวันเรียน
งัดกม.เอาผิดปกปิดไทม์ไลน์
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ใน กทม. ซึ่งได้สอบสวนโรคแล้วเสร็จเพิ่มอีก 15 ราย ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ป่วย 3 ราย ไม่ให้ข้อมูลในบางช่วงเวลา มีทั้งนักร้อง นักแสดง และเจ้าหน้าที่รัฐ
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แจ้งเคสปกปิดข้อมูล ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคของ กทม.กำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม หากได้ข้อมูลจะอัพเดตไทม์ไลน์ทันที แต่หากยังปกปิดข้อมูล เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะแจ้งความกับทางตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งระหว่างออกรายการโหนกระแส ช่อง 3 ถึงกรณีผู้ติดโควิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ปกปิดไทม์ไลน์กับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าปกปิดถือเป็นการให้การเท็จ โดยจะผิดกฎหมายในลักษณะให้การเท็จกับเจ้าพนักงานต้องดำเนินคดี ไม่มีใครใหญ่กว่าหมอ ถ้าไม่บอกก็ต้องใช้กฎหมายฐานให้การเท็จกับเจ้าพนักงาน
พิธีกรถามถึงไทม์ไลน์ของนักร้องอีกคนที่ปกปิดข้อมูลเช่นกัน นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ ถ้าปกปิดข้อมูลถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งดูจากไทม์ไลน์แล้วจะเห็นว่าไปงานเดียวกัน อาจไปทำอะไรที่ไม่อยากบอก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องไปสอบสวนกัน
พิธีกรยังยกตัวอย่างถึงกรณีที่ผู้ติดเชื้อบางคนอาจไปในสถานที่ไม่อยากบอก เช่นไปกับเมียน้อย นายอนุทินกล่าวว่า ในเรื่องนี้ขอให้มั่นใจเจ้าหน้าที่ เพียงบอกแค่ว่าไปทำอะไร ที่ไหน แต่ไม่ต้องบอกความสัมพันธ์ก็ได้ ยืนยันหมอมีจรรยาบรรณอยู่แล้ว
ต่อมานายอนุทินให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์อีกครั้งเพื่อย้ำถึงกรณีมีผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคในการให้ไทม์ไลน์ ซึ่งเชื่อมโยงกับกรณีดีเจมะตูมว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องสถานประกอบการว่ามีการเปิดให้บริการเกินเวลา 21.00 น.หรือไม่ มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ตรวจสอบด้วยว่าผู้ที่ติดเชื้อ โควิด-19 ได้ปกปิดไทม์ไลน์จริงหรือไม่ และหากมีความผิดจริงให้ดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที
ส่วน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดโควิดแล้วปกปิดข้อมูลว่า เรื่องนี้มีการกวดขันผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเป็นคนตรวจสอบและรายงานขึ้นมา ถ้าเขาไปทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือแนวนโยบายของรัฐ ก็มีมาตรฐานการพิจารณาเรื่องความผิดอยู่แล้ว เป็นผู้ที่ปฏิบัติตัวเคร่งครัด ตามมารยาท แบบแผนอันดีงามหรือไม่ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
"ขั้นตอนการสอบสวนโรคไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา การเปิดเผยข้อมูลก็จำกัดด้วยข้อกฎหมาย เป็นเรื่องข้อมูลของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นการเปิดเผยที่ออกมาสู่สาธารณะเขาจะเปิดเผยเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล บางครั้งเขาอาจให้ข้อมูลหมดก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าสมควรเปิดเผยแค่นี้ก็เปิดเผยแค่นี้ แต่ถ้าถามว่าคนที่เป็นลูกน้องเราเป็นตำรวจ เราก็ต้องดำเนินการในส่วนของเราเขาได้ฝ่าฝืนกฎกติการะเบียบหรือคำสั่งของราชการหรือไม่ ถ้าเขาทำก็ต้องว่ากันไปตามความผิดต้องแยกกัน" ผบ.ตร.ระบุ
ส่วนความคืบหน้าอาการป่วยของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ทาง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า อาการล่าสุดในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา หลังจากที่เจาะคอยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่ ยาที่ให้อยู่ตอนนี้ใช้ขนาดเท่าเดิมเกือบจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมากแล้ว ยาที่ลดการอักเสบให้ไปแล้ว 2 วัน วันนี้จะครบกำหนดซึ่งตามหลักจะดูผล 3 วัน ผลเอกซเรย์ปอดเมื่อเย็นวันที่ 26 ม.ค. ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นบ้าง วันนี้ดูแล้วไม่แย่กว่าเดิมแน่ แต่บางคนบอกว่าดูดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลเลือดที่ประเมินการทำงานของปอดยังเป็นตัวเลขใกล้เคียงเดิม ในส่วนนี้ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจ ยาที่ให้ไปอย่างน้อยจะต้องครบ 3 วัน จึงจะประเมินว่าลดการอักเสบลงได้ดีมากน้อยแค่ไหน
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า หากรักษาแบบประคับประคองและปอดทำงานดีขึ้น จากการตรวจ 3 ครั้ง เชื้อโควิด-19 ในร่างกายไม่มีแล้ว ครั้งสุดท้ายคือดูดน้ำใกล้ปอดไปตรวจก็ยังไม่พบเชื้อ มีแนวโน้มว่าอาจจะย้ายผู้ว่าฯ ออกจากห้องความดันลบได้แล้ว โดยในวันนี้และพรุ่งนี้จะประเมินทุกอย่างอีกครั้งก็ย้ายออกจากข้างนอกได้
"ข้อดีก็คือครอบครัวก็จะได้มาเยี่ยมได้บ้าง แต่ให้เฉพาะครอบครัว เพราะเกรงว่าคนอื่นจะนำเชื้อโควิด-19 มาให้ใหม่อีก อย่างน้อยเชื่อว่าทางครอบครัวเข้ามาได้มีโอกาสพูด และผู้ว่าฯ ได้ยิน ก็จะช่วยลดความกังวลและความเครียดลงได้ในระดับหนึ่ง ถือเป็นองค์ประกอบในการรักษาโดยไม่ได้ใช้ยา แต่ใช้การสื่อสารโดยตรง" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |