27 ม.ค.64 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงข้อเสนอแนวปฏิบัติและการเตรียมความพร้อมการเปิดเรียนรองรับการระบาดระลอกใหม่ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุดเล็ก ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการพิจารณาจากสถานการณ์การระบาดในเด็กอายุ 0-18 ปี เปรียบเทียบรอบแรกกับระลอกใหม่ รวมมีเด็กติดเชื้อ 278 ราย เรายังไม่พบว่าเด็กในกลุ่มนี้ถึงแก่ชีวิตหรือมีภาวะรุนแรงจากการติดเชื้อ และพบว่าส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อรอบแรกมาจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ส่วนรอบใหม่มาจากกลุ่มประเทศไทยเอง และติดจากคนในครอบครัว สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ยังไม่พบข้อมูลที่เป็นคุณครู หรือผู้สอนติดเชื้อหรือไม่แพร่ให้นักเรียน จึงเป็นข้อมูลสำคัญนำมาสู่การเสนอ ศบค.ในเรื่องเปิดเรียน
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ส่วนผลกระทบจากการปิดเรียนนานพบว่าเด็กขาดการเรียนรู้ การเรียนรู้ถูกระงับ เด็กอนุบาลเรียนออนไลน์ไม่ได้ พัฒนาการเด็กล่าช้า ติดเกมมากขึ้น เด็กในเมืองสั่งอาหาร fast food เพิ่มมากขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสี่ยงกับภาวะอ้วนและเริ่มอ้วนมากขึ้น ขณะที่น่าห่วงเด็กในชนบทกลุ่มที่ห่างไกลเมื่อโรงเรียนปิดไม่ได้รับอาหารกลางวัน เด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มที่จะไม่เรียนต่อและหยุดเรียนถาวร ส่วนผู้ปกครองพบว่าไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้เต็มที่ ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ บางพื้นที่เข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต ปัญหากลุ่มคนยากจนค่าใช้จ่ายมากขึ้น และผลกระทบต่อครูต้องมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ ระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับข้อปฏิบัติที่เราเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายฯในกรณีสถานศึกษาที่ต้องเปิดเรียน ต้องเคร่งและเข้มในมาตรการ เตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียนตามมาตรการ 6 มิติ คือ 1.ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ 2.การเรียนรู้ 3.การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส 4.สวัสดิภาพและการคุ้มครอง 5.นโยบาย และ6.การบริหารทรัพยากร
ทั้งหมดนี้เราได้ออกเป็นแบบประเมินของกรมอนามัย ซึ่งตอนนี้สถานศึกษาทุกสังกัดได้ประเมินตนเองผ่านเข้ามาแล้ว มีความพร้อมส่วนใหญ่อยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังต้องยกระดับความปลอดภัยมั่นใจไร้โควิด-19 ซึ่งสถานที่การเรียนการสอนต้องจัดสถานที่ให้ปลอดภัย มีมาตรการเสริมเฝ้าระวัง มีการตรวจเช็คคุณครู ผู้ปกครองเองว่ามีความเสี่ยงไปในพื้นที่เสี่ยงมาหรือเปล่า มีอาการที่เข้าได้กับการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
นอกจากนั้นยังมีเรื่องการกำกับ ติดตาม และประเมินผล โดยมีคณะกรรมการร่วมกันในการประเมินผลในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ดูความพร้อมในการเปิดโรงเรียนหรือไม่ และระหว่างเปิดเรียนจะมีการกำกับว่าเปิดแล้วจะส่งผลต่อการระบาดของเชื้อหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีจิตอาสา ผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียนที่มีทุกจังหวัดทำหน้าที่ช่วยดูแล
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กยังมีแนวทางเห็นพร้องต้องกันว่า จะให้มีการเปิดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ โดยสถานศึกษาของรัฐบาลหรือเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนตามปกติ แต่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จ.สมุทรสาคร อาจให้ปิดการเรียนการสอนอยู่ แต่ระหว่างที่ปิดให้สถานศึกษากำหนดแนวทางการเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษากำหนด เพื่อไม่ให้เด็กขาดเรื่องการเรียนรู้
ส่วนใน จ.กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี ให้เปิดการเรียนการสอนได้แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของต้นสังกัดหรือหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ซึ่งเรามีแนวทางออกมาเป็นคู่มือส่งให้ในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมการเรียนการสอน
นพ.สราวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการจัดการเรียนการสอนนักเรียนกลุ่ม G หรือกลุ่มเปราะบาง หากเป็นกลุ่มที่พักในประเทศไทยให้อยู่ระยะยาว ไม่ให้เดินทางไป-กลับ ส่วนผู้ที่เดินทางไปกลับให้ใช้ระบบ On Hand (เรียนรู้ผ่านใบงาน) โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานของต้นสังกัดในพื้นที่ ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าถึงข้อกังวลของผู้ปกครองที่เกรงว่าในห้องเรียนจะแออัด จะสามารถจัดสลับวันเรียนได้หรือไม่ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นนี้กันพอสมควร โดยในพื้นที่สีเขียวที่ไม่มีการระบาดสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามนั้น แต่พื้นที่มีความเสี่ยงสีแดงเข้ม และสีแดง ต้องดูจำนวนของนักเรียนไม่ให้มากเกินไป มีระบบการจัดเว้นระยะห่าง มีระบบระบบระบายอากาศ เป็นต้น
เมื่อถามอีกว่า การรับประทานอาหารร่วมกันมีความเสี่ยงหากนักเรียนทานร่วมกันในโรงอาหารจะมีมาตรการอย่างไร นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ตรงนี้มีคู่มือออกมาให้สถานศึกษานำไปปฏิบัติ โดยเน้นแหล่งที่มาของอาหารต้องมั่นใจว่าปลอดเชื้อ ทำให้สุก ส่วนผู้สัมผัสอาหารอย่างแม่ครัวต้องเช็คตัวเองหากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต้องหยุดทำอาหารให้นักเรียน ส่วนนักเรียนยังเน้น หากเป็นพื้นที่ระบาดมีความเสี่ยงสูงให้เว้นระยะห่าง มีการทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสร่วมบ่อยๆ ใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |