ศาลรธน.วินิจฉัย 'เทพไท' สิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.


เพิ่มเพื่อน    

27 ม.ค.64 - เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) มาตรา 96(2) จากเหตุศาล จ.นครศรีธรรมราช มีคำพิพากษา ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เนื่องจากร่วมกระทำผิดทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 57 โดยศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101กำหนดให้ความเป็นสมาชิกสภาส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งตามประเด็นแห่งคดีนี้ โดยมาตรา 101ประกอบมาตรา 98(4) ตามประเด็นแห่งคดีบัญญัติให้ความเป็นสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง  เมื่อมีลักษณะต้องห้ามไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 96 (1) (2) (4)  โดย(2) บัญญัติให้บุคคลที่ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่า ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการ ที่คำพิพากษาของศาลย่อมมีผลใช้บังคับได้จนกว่าศาลสูงมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งทันที ตามมาตรา 96(2) และเป็นลักษณะของบุคคลห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ตามมาตรา 98 (4) การที่รัฐธรรมนูญนำลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มากำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุด

“เนื่องจากส.ส. เป็นบุคคลผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้ามเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ทำหน้าที่ส.ส.จะต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฏิบัติหน้าทีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์  เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร การที่ส.ส.ผู้ใดทำผิดจนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96( 2) ส.ส.ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ และไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมือง”

ข้อโต้แย้งของนายเทพไทผู้ถูกร้องที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเหตุต่างๆ ที่มีผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง แต่ไม่ได้ระบุถึงเหตุเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96(2) ไว้โดยตรงจึงไม่มีผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุด นอกจากนี้การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 96(2) จะต้องเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเท่านั้น ศาลเห็นว่า เมื่อตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) มาตรา 98 และมาตรา 96(2)  ประกอบกันแล้วหากมีเหตุตามมาตรา 96 และมาตรา 98 ระหว่างการดำรงตำแหน่งก็มีผลทำให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงได้ มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะที่นายเทพไทใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือขณะใช้สิทธิเลือกตั้ง 

ส่วนที่นายเทพไท แย้งว่า สมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงทั้งที่คำพิพากษาในคดียังไม่ถึงที่สุดเป็นผลร้ายและก่อให้เกิดความเสียหาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 9) (10) (11) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองที่ให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาเพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริงก่อนคดีถึงที่สุดเห็นว่า  ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101( 6) ประกอบมาตรามาตรา 98(4) และมาตรา 96(2) ซึ่งใช้คำว่า “ อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ “ ไม่ได้ใช้คำว่าคำพิพากษาถึงที่สุด บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรมีความชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ หมายความว่าสมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดก่อน  สำหรับที่อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองโดยให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้นั้น กรณีของนายเทพไท เป็นการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้อง สมบูรณ์ของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องพิจารณาลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อนายเทพไทเป็นส.ส. นับแต่วันเลือกตั้งต่อมาวันที่ 28 ส.ค. 63 ศาลจ.นครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาสมาชิกภาพส.ส. จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96(2)

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่าสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองบัญญัติว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไทให้สิ้นสุดลงให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่  แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้พ้นจากคำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้น สมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองนับแต่วันที่ 16 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกส.ส.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบ ตามพระราช​บัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป)​ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือวันที่27 ม.ค. 2564 อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 ) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 16 ก.ย. 2563 และถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยนั้นเป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิกส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวเป็นมติเอกฉันท์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"