จบกัน ปฏิรูป 4 ปี คสช.ส่อเสียของ คนกันเองที่รัฐบาลตั้งไปทำงาน "บวรศักดิ์-ปธ.ปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย" ยอมรับเอง ไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่! แต่ยกเครื่องสีกากี เดินหน้ารื้อใหญ่ หวังสกัดซื้อขายตำแหน่ง-ไม่ให้เอาตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในฐานะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... กล่าวว่า คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาจริงกับการปฏิรูปตำรวจ ส่วนตัวหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเอาจริงกับการปฏิรูปตำรวจ หลังจากตั้งกรรมการร่างกฎหมาย ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายนี้ จะแตกต่างกับแนวทางการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานอย่างมาก โดยคณะกรรมการฯ จะต้องเขียนโครงสร้างการปฏิรูปที่ไม่ใช่แค่การขึ้นเงินเดือน แต่ต้องปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการดูความอาวุโส วัดผลงาน เพื่อป้องกันการซื้อขายตำแหน่งและเลือกพวกพ้อง ลดการใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้ง
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจต้องเปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนเติบโตในตำแหน่งหน้าที่จนถึงขั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่ง ผบ.ตร.ก็จะไม่มีอำนาจสั่งพนักงานสอบสวนได้ ที่สำคัญจะต้องแยกออกการทำงานของหน่วยปราบปรามกับพนักงานสอบสวนออกจากกัน อาจมีผู้กำกับการสถานีตำรวจที่อยู่ในสายพนักงานสอบสวน ควบคู่กับผู้กำกับฯ ฝ่ายปราบปรามด้วย ทั้งยังต้องมีกองทุนสำหรับพนักงานสอบสวน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
"เห็นว่าการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงนั้น จะไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าผิดอาญา และกฎหมายยังกำหนดว่าผู้ต้องหาจะมีความผิดก็ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้ว" นายบวรศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ที่เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ หรือกรรมการปฏิรูป 11 คณะ กล่าวถึงแผนการปฏิรูปว่า แนวทางการปฏิรูปกฎหมาย 1.ต้องมีกฎหมายที่ดี 2.มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น 3.ลดกฎหมายที่ล้าหลังเป็นภาระต่อประชาชน นอกจากนี้ยังต้องออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ เพื่อติดตามการออกกฎหมายต่างๆ และกฎหมายฉบับใดที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ใน 2 ปี จะต้องถูกยกเลิก พร้อมเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ นอกจากนี้ ยังต้องตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูประยะเร่งด่วนขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณากฎหมายล้าสมัย มีวิธีการ 1.ตั้งคณะผู้ทบทวนกฎหมาย 20 กระทรวง เอากฎหมายก่อนปี 2500 มาดู 2.ส่งคนไปหาข้อมูล คุยกับองค์กรอื่นๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ และไปดูว่าศูนย์ดำรงธรรมมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไรบ้าง และยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น
เมื่อถามถึงการปฏิรูปในภาพรวม นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกเหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร ก่อนหน้านี้มีการตั้งองค์การอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนยุบตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วยุบตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 คณะ ซึ่งทุกคณะมีแต่แผน แล้วให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ แต่คิดว่าการใช้ส่วนราชการเป็นฝ่ายปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ เพราะเหมือนกับให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง นอกจากนี้ระบบราชการยังคิดแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ต่างจากกรรมการปฏิรูปที่ต้องการลงมือทำในทันที
"ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเหมือนกับให้ผู้รับเหมามาทำหน้าที่ตรวจงานตัวเอง ดังนั้นจึงอยากมีข้อเสนอแนะให้กรรมการปฏิรูปมีอำนาจในการเสนอกฎหมายด้วย ไม่ใช่ให้ส่วนราชการเป็นผู้เสนอกฎหมายอย่างเช่นเวลานี้" นายบวรศักดิ์ระบุ
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และตอบไม่ถูกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ในบทถาวร ซึ่งหมายความว่าจะต้องปฏิรูปต่อไป ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ แต่ในความเห็นจริงแล้ว เราจะปฏิรูปไปตลอดชาติไม่ได้
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า 4 ปี ของรัฐบาล คสช. รูปธรรมของการปฏิรูปในระดับนโยบายยังไม่เห็นผลงานที่รัฐบาลพอจะอ้างเป็นชิ้นโบแดงกับประชาชนได้ว่าการปฏิรูปได้ทำไปแล้วหรือทำสำเร็จแล้ว ช่วงเวลาของรัฐบาลที่เหลืออยู่ราว 10 เดือนตามโรดแมปเลือกตั้งนั้น ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะเริ่มตรงไหน อย่างไร และจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะการวางเป้าหมายปฏิรูป 5 เรื่องใหญ่ ภายใน 8 เดือนของรัฐบาลนั้น ก็ยังเป็นเพียงถ้อยแถลงและแผนการเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นแผนการครั้งที่เท่าไหร่ไปแล้ว ในขณะเดียวกันปี่กลองเลือกตั้งก็เริ่มดังขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็พุ่งความสนใจไปที่การเตรียมการเลือกตั้ง เริ่มมองการเมืองหลังการเลือกตั้งกันไปหมดแล้ว ทำให้เจ้าภาพที่จะมาดูแผนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่รู้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของใคร อารมณ์ทางการเมืองของนายกฯ ในระยะหลังๆ ก็เริ่มถูกดูดไปอยู่ในเกมของ นักการเมืองมากขึ้น จนทำให้ขาดคนนั่งหัวโต๊ะที่จะกำกับและบัญชาการแผนการปฏิรูปให้ถึงฝั่ง
" 4 ปี คสช. ถ้าจะเรียกว่าการปฏิรูปค้างเติ่ง ก็คงได้ เพราะมีแต่แผนการ มีวาระ มีพิมพ์เขียว แต่ยังขาดการปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปในระดับโครงสร้างซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ โมเมนตัมและแรงส่งของการปฏิรูปจึงถดถอยลง ในขณะที่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ก็ยังไม่เห็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มก้อนทางการเมืองใดที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศกลับมาเป็นวาระเป็นความหวังได้อีกครั้งหนึ่ง" นายสุริยะใสกล่าวย้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |