การเริ่มฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชากรในหลายประเทศสร้างความหวังว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจะเริ่มคลี่คลาย ถึงกระนั้นก็ตามหลายประเทศยังประสบปัญหาการระบาดซ้ำ แม้ประเทศที่เคยได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารจัดการที่ดี ก็ไม่สามารถป้องกันการระบาดระลอกใหม่ได้ การเฝ้าระวังและมาตรการทางสาธารณสุขจะต้องดำเนินไปอีกนาน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะที่ใกล้ปกติ ดังนั้นการทบทวนประสบการณ์ ประมวลข้อสังเกตจากการบริหารจัดการของประเทศต่างๆน่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อนำมาเป็นข้อคิดและปรับปรุงแนวทางในการดำเนินนโยบายสาธารณะในการควบคุมโรคในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดทั้งในแง่สาธารณสุขและเศรษฐกิจ
สิ่งที่น่าแปลกใจในการแพร่ระบาดของโรคโควิดคือหลายประเทศที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงที่สุดของโลกเป็นประเทศจากกลุ่มพัฒนาแล้วชั้นนำของโลก รวมทั้งประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีฐานะเศรษฐกิจร่ำรวย มีทรัพยากรที่พร้อมทั้งทางสาธารณสุขและทรัพยากรมนุษย์ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยในเรื่องฐานะความร่ำรวยของประเทศ ระดับการศึกษาของประชากร ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยป้องกันการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันหลายประเทศที่ไม่ร่ำรวย หรือไม่พัฒนาเท่า กลับสามารถควบคุมโรคโควิดได้ผลดีกว่า เป็นที่น่าขบคิดว่าประเทศเหล่านี้ได้ทำอะไรที่ช่วยให้ควบคุมโรคโควิดได้ผลกว่าประเทศพัฒนาแล้ว บทความนี้จึงขอกล่าวถึงคุณสมบัติหรือปัจจัยที่คล้ายคลึงกันจากประสบการณ์ของประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี และตั้งข้อสังเกตว่าหลายปัจจัยมิได้ตั้งอยู่บนความเจริญทางวัตถุ หรือการทุ่มทุนทางงบประมาณ
ระบบจัดการสาธารณสุขที่ครบวงจรและการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ ระบบสาธารณสุขที่มีการวางแผนที่ดีจะมีระบบที่ครบวงจรตั้งแต่การให้ความรู้ต่อสาธารณชน การตรวจหาโรค การแยกผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดและผู้ที่อาจมีเชื้อโรคออกจากชุมชน การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและการควบคุมความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการดูแลประมวลผล นอกจากนี้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะทางปกครองและคมนาคมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคก็มีความสำคัญยิ่ง
ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและผู้บริหารท้องถิ่น ประเทศที่มีรัฐบาลกลางเข้มแข็งและได้รับความร่วมมือดีจากผู้บริหารท้องถิ่นจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม คือตัวอย่างดีที่รัฐบาลกลางได้รับความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากผู้บริหารท้องถิ่นในการดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน โดยรัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในด้านงบประมาณและทรัพยากรทางสาธารณสุข ความร่วมมือที่ดีช่วยให้การป้องกันโรคติดต่อมีเอกภาพ มีมาตรฐาน ไม่สับสนต่อประชาชน
วินัยของประชาชน การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมนอกเหนือจากสิทธิเสรีภาพส่วนตัว การให้ความร่วมมือของประชาชนต่อมาตรการสาธารณสุขของรัฐ และสำนึกในประโยชน์ส่วนรวมโดยการเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดี ประชาชนในหลายประเทศในเอเชียให้ความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัย และส่วนใหญ่มีวินัยในการรักษากฎที่รัฐบาลขอความร่วมมือ ซึ่งมีส่วนช่วยที่สำคัญยิ่งในการควบคุมโรคมิให้แพร่กระจาย
การวางระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่เข้าถึงชุมชน การใช้เทคโนโลยีติดตามการแพร่กระจายของโรคในวงกว้าง จากประสบการณ์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่าความพร้อมเพรียงด้านจำนวนโรงพยาบาล บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้ดี แต่ประสบการณ์จากหลายประเทศในเอเชียนั้นบ่งชี้ว่าระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงประชาชนในรากหญ้า ให้ความรู้พื้นฐานโดยตรงกับชุมชน จะมีความได้เปรียบสูงในการควบคุมโรค เครือข่ายสาธารณสุขระดับชุมชนนี้ยังสามารถช่วยติดตามการแพร่กระจายของโรคได้อย่างทันการณ์ ยิ่งถ้ามีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามผู้ติดเชื้อหรือผู้ใกล้ชิดเสริมด้วยแล้ว การขีดวงการแพร่กระจายของโรคจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการติดต่อของโรคได้อย่างเป็นระบบ
การประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส การประชาสัมพันธ์ที่มีการประสานงานกันดีของภาครัฐมีส่วนช่วยมากที่จะให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง สร้างความเข้าใจในระบาดวิทยาเบื้องต้น ข้อควรปฏิบัติ ข้อควรระมัดระวัง รวมทั้งข่าวสารเรื่องการระบาดในท้องถิ่นหรือชุมชนที่ควรหลีกเลี่ยง ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนโปร่งใสจะสร้างความมั่นใจสำหรับประชาชน เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนมีความจูงใจให้ความร่วมมือกับทางการ นอกจากนี้การสื่อสารที่แสดงความเห็นอกเห็นใจของภาครัฐต่อผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการและได้รับความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตจะช่วยให้ประชาชนมีกำลังใจที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมในยามจำเป็น
ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่มีวินัย มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆและมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ การป้องกันการระบาดของโรคก็จะไร้ประสิทธิผลได้ เพราะคนกลุ่มน้อยที่ไม่เคารพกฎหมายสามารถทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเล็ดรอดเข้าไปในชุมชนได้ ดังนั้นการบังคับกฎหมายจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าเมืองของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกิจกรรมทุกชนิดที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในชุมชนจะต้องมีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำความผิดควรได้รับการลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง มิฉะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ที่มีวินัยอาจท้อใจ ไม่อยากให้ความร่วมมือกับทางการ ตัวอย่างกรณีประเทศสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายช่วยควบคุมการระบาดได้ แม้ในเบื้องต้นมีการระบาดในหมู่คนงานต่างชาติมากมาย การควบคุมการข้ามแดนและมาตรการควบคุมชุมชนที่เข้มงวดสามารถชะลอการระบาดได้ผลดี
ประเทศไทยนั้นมีคุณสมบัติดีหลายประการ แม้ว่าทรัพยากรทางสาธารณสุขของเราจะไม่พร้อมเท่าประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว แต่คุณสมบัติทางนามธรรมและระบบสาธารณสุขที่ยึดชุมชนเป็นที่ตั้งได้ช่วยให้ไทยผ่านพ้นระลอกแรกของการระบาดมาได้โดยไม่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงมาก การระบาดในระลอกใหม่นี้เกิดจากจุดอ่อนทางความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ภาครัฐควรตระหนักว่าศรัทธาที่ประชาชนมีต่อความน่าเชื่อถือในกลไกของรัฐมีความสำคัญยิ่ง หากประชาชนไร้ศรัทธา ไม่ให้ความร่วมมือ การควบคุมโรคจะเป็นไปโดยยากลำบาก ดังตัวอย่างของประเทศที่มีทรัพยากรทางสาธารณสุขพร้อมเพรียงแต่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ นำไปสู่การเจ็บป่วยและการสูญเสียชีวิตประชากรและผลเสียทางเศรษฐกิจที่ตามมามากมาย ประสบการณ์จากนานาประเทศเป็นอุทาหรณ์ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ขาดไม่ได้
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
สายธาร หงสกุล
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |