คลอดพ.ร.ก.คุมบิตคอยน์! ภาษีหักณที่จ่ายอัตรา15%


เพิ่มเพื่อน    

 

     คลอดแล้วกฎหมายคุมบิตคอยน์หรือธุรกรรมดิจิทัล มอบ “ก.ล.ต.” เป็นโต้โผใหญ่ควบคุมดูแล พร้อมกำหนดให้อยู่ในข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย บทกำหนดโทษเพียบ พ่วงเคาะอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% หากมีกำไร 

    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

    โดยเนื้อหาของ พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งสิ้น 100 มาตรา ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับหรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในไทย ทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อกำหนดให้มีการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ มีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
สำหรับกฎหมายดังกล่าวในหมวด 1 คือ หมวดทั่วไป เริ่มตั้งแต่มาตรา 5-9 ซึ่งเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ที่ มาตรา 7 ที่กำหนดผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หมวด 2 การกำกับและควบคุม ตั้งแต่มาตรา 10-15 ซึ่งเป็นเรื่องการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับและควบคุม หมวด 3 การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ตั้งแต่มาตรา 16-25 หมวด 4 ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่มาตรา 26-31 หมวด 5 การเลิกประกอบธุรกิจ การเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจและการห้ามการทำธุรกรรม ตั้งแต่มาตรา 32-37 หมวด 6 การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่มาตรา 38-50 หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่มาตรา 51-56 หมวด 8 โทษทางอาญา ซึ่งถือเป็นหมวดที่มากที่สุด ตั้งแต่มาตรา 57-95 โดยมีการกำหนดโทษตั้งแต่ปรับและจำคุก ซึ่งมีการกำหนดค่อนข้างละเอียดในทุกรูปแบบ หมวด 9 มาตรการลงโทษทางแพ่ง ตั้งแต่มาตรา 96-99 และบทเฉพาะกาล มาตรา 100 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับและเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.ก.นี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ก.นี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต
ส่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 มีเนื้อหาเพียง 4 มาตรา โดยเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ในมาตรา 3 ที่ให้เพิ่มความในมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร หรือเพิ่มเติมเงินได้พึงประเมิน  ประกอบด้วย เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ
ครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน และมาตรา 4 ที่กำหนดให้เงินได้พึงประเมินทั้งสองกรณีนั้นให้คำนวณหักในอัตรา 15% ของเงินได้

    ขณะเดียวกันยังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พ.ศ.2561 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค.เช่นกัน โดยกฎหมายมีทั้งสิ้น 49 มาตรา ซึ่งเป็นการยกเลิกสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) แล้วเปลี่ยนมาเป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) แทน โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน ตลอดจนปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 เพื่อให้การบริหารงานและการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น 
ทั้งนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้ง และกรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน ได้แก่ ปลัดดีอี, เลขาธิการ ก.พ.ร., ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง โดยประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระคราวละ 4 ปี และอยู่ติดต่อกันสองวาระไม่ได้
และในบทเฉพาะกาลได้ให้คณะกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นคณะกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้ และให้นับอายุตามวาระตามพระราชกฤษฎีกานี้ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"