27 ม.ค.2564 - พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงถึงแนวทางการป้องกันจากกรณีมีการจับกุมผู้ต้องหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่สื่อลามกบนโลกออนไลน์ และการใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อขายทางลามกอนาจาร ว่าในการจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับการนำภาพของผู้เสียหายมาข่มขู่เพื่อเรียกเอาทรัพย์, การล่อลวงให้เด็กและเยาวชนกระทำลามกอนาจาร และการเผยแพร่สื่อลามกบนโลกออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เสียหายในคดีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงอยากฝากข้อคิดไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต่างๆ ขอให้ใช้วิจารณญาณในการใช้สื่อออนไลน์ให้มาก เพราะท่านเองอาจจะตกเป็นเหยื่อ หรืออาจจะเป็นผู้สนับสนุนการเผยแพร่สื่อลามกโดยไม่รู้ตัว
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่ออีกว่า ขอฝากเตือนไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้นเข้า ข่ายความผิดฐาน พยายามรีดเอาทรัพย์ฯ มาตรา 338 , ทําผลิต มีไว้ นําเข้าหรือส่งออก หรือเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กด้วยวิธีใดๆ การค้า การแจกจ่าย การแสดงหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า สื่อลามกอนาจารเด็กฯ มาตรา 287/2, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ ที่มีลักษณะลามกฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 , บังคับขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรฯ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26, โฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน เรียกร้องเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 7 หรืออาจจะมีความผิดอื่นๆเพิ่มเติมอีก ส่วนคนดู โดยเฉพาะพวกที่สมัครเป็นสมาชิกเพื่อเข้าไปดูภาพลามกเด็กดังกล่าว อาจจะเป็นความผิดตาม มาตรา 287/1 ฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศของตนเองและผู้อื่น
“พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการไปยัง พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ให้ทาง บช.สอท. เร่งรัดปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิดบนโลกออกไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ทาง ผบ.ตร. และรัฐบาลให้ความสำคัญ รวมถึงให้สร้างการรับรู้ถึงพิษภัยต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมกับแนวทางการป้องกันให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป”
พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการป้องกันการขู่กรรโชกทางเพศ(Sextortion) ดังนี้ 1. ระมัดระวังเมื่อจะเลือกรับเพื่อนจากโลกออนไลน์ ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ ถึงแม้ปรากฏว่าเป็นเพื่อนของเพื่อน ก็ควรตรวจสอบว่าเป็นเพื่อนกันจริง ๆ หรือไม่ 2.การพูดคุย ส่งรูป หรือการไลฟ์สด ควรคิดให้รอบคอบ ไม่ควรส่งภาพส่วนตัวให้ใครดูทางออนไลน์ และไม่ควรหลงเชื่อการชวนให้ทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจถูกนำคลิปหรือรูปภาพส่วนตัวไปใช้ในการขู่กรรโชกเอาทรัพย์ได้ ซึ่งคนร้ายมักออกอุบายให้เหยื่อที่เป็นเด็กมาถ่ายภาพเพื่อเป็นนางแบบ หรือ ให้ส่งภาพเปลือยหน้าอกผ่านทางออนไลน์เพื่อแลกกับค่าตอบแทน แล้วใช้ภาพดังกล่าวในการข่มขู่ให้ถ่ายคลิปลามกเพิ่มเติม และ 3.หากตกเป็นเหยื่อแล้ว ไม่ควรส่งเงินหรือทำตามที่มิจฉาชีพบังคับให้ทำ เพราะจะยิ่งทำให้มิจฉาชีพได้เครื่องมือในการขู่กรรโชกเพิ่มขึ้นไปอีก โดยในเบื้องต้นควรรายงานการละเมิดนโยบายของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่คนร้ายใช้เพื่อระงับบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของคนร้าย เก็บรวบรวมข้อมูลการขู่กรรโชก และรายละเอียดของคนที่ขู่กรรโชกเราไว้เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ผู้ปกครองเองควรใส่ใจบุตรหลานรวมถึงให้คำแนะนำและควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้บุตรหลานมีทัศนคติในการใช้สื่อออนไลน์ที่ถูกต้อง, รู้จักการเลือกรับสื่อออนไลน์ที่เหมาะสม, เข้าใจถึงพิษภัยที่มีบนโลกออนไลน์และหลีกเลี่ยงป้องกันได้อย่างถูกต้อง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |