"ไก่อู" แจง "ประยุทธ์" ยกเลิกลงพื้นที่สระแก้ว เหตุ "ฮุน เซน" ติดภารกิจ วอนอย่าบิดเบือนว่าไปเพื่อดูด ส.ส. รับรู้จัก "เสนาะ" มานาน แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ขณะที่ "พท.-ปชป." รุมยำนายกฯ ตัดพ้อถูกโยงการเมืองเพราะทำตัวเองทั้งนั้น "อ๋อย" ซัดอย่าทำไขสือ ชี้ถ้าทำดีก็ไม่โดนสงสัย เลื่อนไปสระแก้ว การดูดไม่เป็นไปตามแผน "องอาจ" ตอกต้องบอกตัวเองให้เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ โพลระบุส่วนใหญ่อยากได้พรรคการเมืองใหม่ๆ เป็นรัฐบาลหนุน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ แต่อยากให้เพื่อไทยได้คะแนนมากสุด ย้ำต้องแก้ปัญหาปากท้อง ไม่เชื่อจะมีการเลือกตั้ง ก.พ.62
เมื่อวันอาทิตย์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.สระแก้ว ว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการไปพบใคร หรือไปดูด ส.ส.ในพื้นที่หรือไปพบปะประชาชน และไม่ใช่เกรงว่าจะถูกมองเชื่อมโยงทางการเมือง จึงได้ยกเลิกภารกิจไป เพราะแต่เดิมนั้นได้กำหนดว่าจะเดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดด่านชายแดนร่วมกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่เนื่องจากนายกฯ กัมพูชาติดภารกิจ จึงต้องยกเลิกกำหนดการ
"นายกฯ ไม่ต้องการให้สื่อมวลชนหรือนักการเมืองนำประเด็นนี้ไปบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ส่วนการย้ายพรรคหรือรวมพรรคก็ไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันว่าผู้นั้นจะได้เป็น ส.ส.หากไม่มีผลงานหรือไม่ได้รับความไว้วางใจ ประชาชนก็ไม่เลือกอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้กังวลจนมากเกินไป และต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนด้วย" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
โฆษกสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า แม้ขณะนี้ยังไม่เข้าสู่การเลือกตั้ง แต่มีการยุยงปลุกปั่นให้ร้ายเช่นนี้ และเมื่อเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ส่วนกรณีนายเสนาะ เทียนทองนั้น นายกฯ เคยรู้จักมานานแล้ว แต่ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมหรือเกี่ยวข้องใดๆ กัน
ที่ จ.สระแก้ว จากกระแสข่าวนายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย เตรียมระดมมวลชน 50,000 คน ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะ ที่จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวร บ้านเขาดิน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว โดยมีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระแก้วเตรียมต้อนรับ แต่ต่อมามีการยกเลิกโครงการ เนื่องจากนายกฯ ไม่เดินทางไป จ.สระแก้ว แล้วทำให้ชาวสระแก้วต่างสงสัยสาเหตุ
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีกำหนดการเดินทางไปเยือนชาวสระแก้ว วันที่ 17 พ.ค.2561 เพื่อมอบถังน้ำกับหมู่บ้านโนนหมากมุ่น ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง, บ้านรัตนะ ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา และบ้านแซร์ออ ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาภัยแล้ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวบ้านว่าการมาเยือนครั้งนี้ อาจเป็นการมาหาติดตามข่าวกระการดูด ส.ส. และวัดกระแสทางการเมืองความนิยมของชาวสระแก้วที่มีต่อคนชื่อนายเสนาะ เทียนทอง
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการดูดกลุ่มการเมืองเป็นวิธีโบราณ เป็นวิธีเก่า ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่เราไปบังคับผู้มีอำนาจไม่ได้ ท่านใช้วิธีการนี้เพื่อเข้าสู่อำนาจต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจเลือก แต่อย่างไรท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ
ซัดประยุทธ์อย่าทำไขสือ
เมื่อถามว่า นายเสนาะ เทียนทอง จะยังยืนเคียงพรรคเพื่อไทยหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า คนที่ทำงานเป็นตัวแทนของประชาชน ต่างคนต่างมีจุดยืนมีอุดมการณ์ และมีความรับผิดชอบต่อประชาชน คิดว่าน้อยคนที่จะกล้าทรยศต่ออุดมการณ์และประชาชน ไม่สามารถรับรองใครได้ แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะไปเพราะคนส่วนใหญ่ยังรักษาอุดมการณ์ รักษาความซื่อสัตย์ต่อประชาชน ส่วนคนที่ตัดสินใจไป ก็แล้วแต่แต่ละคน บางคนคิดว่าไปกับผู้มีอำนาจอาจจะเป็นเส้นทางที่ง่าย แต่หลายคนไม่ได้คิดถึงแค่เรื่องเงิน ทุกคนไม่ได้เห็นแก่อำนาจ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึง พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า" ทุกครั้งที่ทำอะไรลงไปมักจะถูกตีเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด" ว่าท่านไม่ต้องทำเป็นไขสือ เรื่องแบบนี้ ‘กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง’ ทุกวันนี้ท่านทำอะไรก็เป็นเรื่องการเมืองเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของท่านทั้งนั้น ท่านไปตัดพ้อกับเกษตรกร ก็เพื่อจะลดความรู้สึกไม่พอใจที่เกษตรกรมีต่อรัฐบาล แต่แทนที่ท่านจะพยายามทำอะไรดีๆ หรืออย่างน้อยอธิบายอะไรให้ดี ท่านกลับไปอบรมต่อว่าเกษตรกร แล้วยังบอกว่าท่านจะขอพูดเรื่องการเมืองบ้าง การที่ท่านไม่ให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาของเกษตรกรนั่นแหละคือเรื่องการเมืองของพวกที่มาจากการยึดอำนาจที่ไม่ต้องสนใจไยดีกับความเดือดร้อนของประชาชนคนยากคนจน
"ส่วนที่ท่านตัดพ้อว่าโดนทุกวันนั้น อย่าได้น้อยอกน้อยใจอะไรไปเลย ถ้าทำดี ไม่โดนทุกวันหรอก ควรจะสำรวจตรวจสอบว่าทำอะไรไม่ดีไว้บ้าง คนเขารู้สึกว่าท่านล้มเหลวในการแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะการปัญหาปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและยังเห็นว่า ท่านไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง นอกจากพยายามที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด โดยเฉพาะการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะได้มีอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมใดๆ แล้วจะไม่ให้โดนทุกวันได้ยังไง" นายจาตุรนต์ระบุ
นายจาตุรนต์ยังถามถึงการเลื่อนไปประชุมและทำกิจกรรมที่ จ.สระแก้วออกไปนั้น เป็นเพราะการดูดของท่านไม่เป็นไปตามแผนใช่หรือไม่ และต่อจากนี้จะมีหลักเกณฑ์อย่างไรที่จะเลือกไปประชุม ครม.ที่จังหวัดไหน และจะให้งบลงพื้นที่ต้องดูก่อนว่าจะสามารถไปดูดนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมาสนับสนุนท่านให้ได้เสียก่อน ใช่หรือไม่
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นี่คือผลสำเร็จของการปฏิรูปการเมืองตามพิมพ์เขียวของ กปปส.หรือไม่ ทัศนคติวิธีคิดจากวันยึดอำนาจถึงวันนี้ มันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือยังคงดำรงเป้าหมายแบบเดิม ต้องมองให้ดีว่าผลพวงจากการดูดหรือถูกดูด ใครเป็นตัวตลกหรือใครเป็นตัวโกงหรือไม่ ทั้งกุข่าว ปั่นราคา สร้างสถานการณ์ฉายภาพให้เห็นว่ากลุ่มก๊วนต่างๆ ทางการเมืองต้องรีบกระโดดขึ้นรถ ถ้าไม่อยากตกรถเที่ยวสำคัญ จนจุดพลุผิดคิว ที่ทำไปเพื่อกดดันให้เอื้อต่อการดูดหรือไม่
"ถ้าการเดินสายลงพื้นที่อย่างหนักของรัฐบาลคสช.เป็นการหาเสียงล่วงหน้า จะเท่ากับเอางบประมาณแผ่นดินมาทำอีเวนต์ทางการเมืองมาหาเสียงหรือไม่ คสช.ทำถูกต้องหรือไม่ คุ้มค่าและประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ปกติช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลในช่วงรักษาการ จะห้ามอนุมัติงบประมาณหรือโครงการที่มีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้า หรืออนุมัติไปเพื่อชิงความได้เปรียบ ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่เตรียมการจะใช้เป็นมือเป็นไม้ในการเลือกตั้ง แต่ยุคนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถทำได้หมด" นายอนุสรณ์กล่าว
ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดหลักของ คสช.ตั้งแต่ยึดอำนาจเข้ามาคือต้องการทำการเมืองแบบใหม่ปฏิรูปการเมืองโจมตีนักการเมืองเป็นคนไม่ดีมาตลอด แต่เพิ่งมาเปลี่ยนท่าทีช่วงหลังนี้ที่เดินสายหานักการเมืองแบบเก่า กลุ่มคนเหล่านี้เหมือนสาวสวยที่เขาต้องการจีบ แต่วันหนึ่งหากเขาแข็งแรงพอโดยไม่ต้องพึ่งคนเหล่านี้แล้ว หรือได้สาวสวยคนใหม่ตรงตามสเปก เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่เหมาะสมกับแนวทางปฏิรูปที่วางไว้ ก็จะจัดการกลุ่มคนเหล่านี้ให้ออกไปจากฐานอำนาจของแน่นอน
นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะครบรอบ 4 ปีการยึดอำนาจของคสช. ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นความล้มเหลว ไม่ได้แก้ปัญหาตามที่ คสช.อ้าง เรื่องแรกคือความแตกแยกของสังคม วันนี้ คสช.ไม่ได้ขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง 2.ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลงมาก อันมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำยาวนาน 3.การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีการผูกเงื่อนไขมากมาย 4.ทุจริตคอร์รัปชัน วันนี้มีการทุจริตจากภาคส่วนต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งแกนนำ คสช.บางท่านก็ถูกกล่าวหา ก็ได้แต่ภาวนาให้คสช.รีบวางมือกลับบ้านไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน อย่าพยายามที่จะสืบทอดอำนาจอีกเลย 4 ปีเป็นเวลาที่เพียงพอที่ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำไม่ได้
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ตัดพ้อถูกโยงทุกเรื่องเป็นการเมืองว่า การจะถูกโยงเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการกระทำของนายกฯ และคนในรัฐบาลเองมากกว่า อยากให้นายกฯ ยอมรับความจริงว่า นับตั้งแต่ประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่มาจากทหาร การแสดงออกของนายกฯ และคนในรัฐบาลก็มีนัยทางการเมืองมาโดยตลอด จึงยากที่จะปฏิเสธว่าไม่โยงการเมือง ถ้าไม่อยากให้คนมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองท่านนายกฯ ก็ต้องบอกตัวเอง และคนในรัฐบาลให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ อย่าทำอะไรให้ถูกมองได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องลงมือปฏิบัติทำให้เห็นชัดๆ ว่าทำเรื่องการบ้านมากกว่าเรื่องการเมือง
"ถ้าท่านนายกฯ ตั้งใจมุ่งเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างจริงจัง ผู้คนก็จะมองเห็นว่าอยากทำเรื่องการบ้านมากกว่าเรื่องการเมืองได้เอง แต่ถ้าท่านและคนในรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังเคลื่อนไหวที่มีนัยทางการเมือง ก็ช่วยไม่ได้ว่าจะถูกโยงเป็นการเมือง ซึ่งไม่ต้องไปตัดพ้อต่อว่าใคร เพราะท่านทำตัวเองทั้งนั้น ขณะนี้มีเวลาอีกเกือบหนึ่งปีกว่าจะมีเลือกตั้ง ควรเอาเวลาที่เหลืออยู่มาทำการบ้านแก้ปัญหาชาวบ้านให้เห็นเป็นรูปธรรม มากกว่าที่จะเอาเวลาไปสาละวนอยู่กับกลเกมทางการเมือง" นายองอาจกล่าว
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ก็ต้องบอกว่าขอต้อนรับสู่การเมืองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้านายกฯ เริ่มรู้สึกอย่างนี้ ก็แปลว่าสิ่งที่นายกฯ ทำนี้แหละ เพราะเริ่มเข้าใจการเมืองมากขึ้นแล้ว จากนี้ยิ่งใกล้เข้าสู่สนามเลือกตั้งมากเท่าไหร่ นายกฯ ก็ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะมากขึ้นๆ การแสดงความคิดเห็นต่างๆ จากฝ่ายต่างๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้น อยากให้นายกฯ มีความหนักแน่นเข้าไว้ หูหนักเข้าไว้ ใครจะพูดอย่างไรเขาก็จะพูด ไม่ว่านายกฯ ทำอะไรเขาก็จับพูด ดังนั้นเลือกฟังในสิ่งที่ฟังแล้วมีกำลังใจ และทำงานให้ประเทศชาติดีกว่า
โพลหนุน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ
เมื่อถามถึงกรณีเสียงวิจารณ์ว่าการใช้งบประมาณลงพื้นที่นั้น อาจมีวาระการเมืองซ่อนเร้น นายวราวุธกล่าวว่า เชื่อว่าการพิจารณาลงพื้นที่แต่ละแห่งนั้น คงคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับแรก แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะนำงบประมาณไปใช้อะไรก็แล้ว แต่ถ้าคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ตอนนี้เข้าหน้าฝน อยากให้รัฐบาลเลิกคิดเรื่องการเมืองสักชั่วครู่ แล้วหันมาดูปัญหาที่มีอยู่ในตอนนี้ว่าเมื่อเข้าหน้าฝนแล้ว เรื่องการปลูกข้าว เรื่องการบริหารจัดการน้ำ จะเป็นอย่างไร ขอให้รัฐบาลแบ่งเวลามาดูตรงนี้ด้วย
"เรื่องดูดเป็นเรื่องที่เราเห็นกันมาช้านาน 30-40 ปีแล้ว แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่ เราก็ไม่อยากเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ อยากเห็นเครื่องมือใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ในการทำงานทางการเมือง แต่ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะคิด" นายวราวุธกล่าว
วันเดียวกัน มีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 3 สำนัก โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 2)” ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค.2561 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.52 ระบุว่าอยากให้พรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองเก่า
ร้อยละ 37.36 ระบุว่า พรรคการเมือง พรรคเก่า เพราะมีประสบการณ์ ทำงานอย่างมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน มีความคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่ และร้อยละ 5.12 ระบุว่าไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ 10 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.24 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 17.44 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, อันดับ 3 ร้อยละ 14.24 ระบุว่าเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อันดับ 4 ร้อยละ 10.08 ระบุว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, อันดับ 5 ร้อยละ 7.92 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, อันดับ 6 ร้อยละ 6.24 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, อันดับ 7 ร้อยละ 3.44 ระบุว่าเป็นนายชวน หลีกภัย, อันดับ 8 ร้อยละ 2.08 ระบุว่าเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อันดับ 9 ร้อยละ 0.72 ระบุว่าเป็นนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในสัดส่วนที่เท่ากัน และอันดับ 10 ร้อยละ 0.64 ระบุว่าเป็น พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลพบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.16 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 25.12 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ (หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ), อันดับ 3 ร้อยละ 19.20 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 4 ร้อยละ 11.60 ระบุว่าเป็นพรรคอนาคตใหม่, อันดับ 5 ร้อยละ 2.32 ระบุว่าเป็นพรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคเสรีรวมไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน, อันดับ 6 ร้อยละ 2.08 ระบุว่าเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา, อันดับ 7 ร้อยละ 1.92 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย, อันดับ 8 ร้อยละ 1.28 ระบุว่าเป็นพรรคพลังชาติไทย (พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์), อันดับ 9 ร้อยละ 0.72 ระบุว่าเป็นพรรคเกรียน และอันดับ 10 ร้อยละ 0.08 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธรรมไทย
สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกฯ คนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.04 ระบุว่า ปัญหาปากท้อง หนี้สินของประชาชน ปัญหาการว่างงาน และราคาพืชผลตกต่ำ รองลงมา ร้อยละ 13.84 ระบุว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล, ร้อยละ 6.40 ระบุว่าปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ, ร้อยละ 4.64 ระบุว่า ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ในปัจจุบัน, ร้อยละ 2.72 ระบุว่าปัญหาด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค
ไม่เชื่อมีเลือกตั้ง ก.พ.62
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.76 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น เพราะยังไม่มีความพร้อม สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง เลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่าเชื่อมั่น เพราะบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง โพลเลือกตั้ง จากประชาชนทุกสาขาอาชีพ 1,105 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ค.2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.1 ระบุการเลือกตั้งจะมีผลดี เพราะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต่างชาติเข้ามาลงทุน ประชาธิปไตยมีการพัฒนาให้ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25.9 ระบุมีผลเสีย ในเรื่องอาจจะมีเหตุการณ์วุ่นวาย เกิดการโกงการเลือกตั้ง เสียงบประมาณแผ่นดิน เกิดความขัดแย้ง นโยบายไม่ต่อเนื่อง ประชาชนไม่พร้อม อาจเกิดการคอร์รัปชันอีก เป็นต้น
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งทำให้คุณได้เรียนรู้เรื่องอะไรในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ พบว่า คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 23.0 ระบุการซื้อสิทธิขายเสียง, ร้อยละ 17.7 ระบุความวุ่นวาย ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย, ร้อยละ 17.1 ระบุคนไทยรักประชาธิปไตย, ร้อยละ 14.6 ระบุความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง, ร้อยละ 13.3 ระบุการโกงการเลือกตั้ง, ร้อยละ 11.0 ระบุอำนาจของภาคประชาชน
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 ระบุ ไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ในขณะที่ร้อยละ 38.4 ระบุเชื่อมั่น เมื่อถามว่าถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง คุณจะไปใช้สิทธิหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 ระบุจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีเพียงร้อยละ 4.3 ระบุไม่ไป และร้อยละ 11.2 ยังไม่แน่ใจ
ขณะที่สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการประท้วงของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ของประชาชนทั่วประเทศ 1,163 คน ระหว่างวันที่ 8-12 พ.ค.2561 สรุปผลได้ดังนี้ อันดับ 1 การประท้วงเป็นสิทธิสามารถทำได้ ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม 49.43%, อันดับ 2 เรียกร้องอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว 24.33%, อันดับ 3 ต้องไม่สร้างความวุ่นวาย ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น 22.43%
ส่วนข้อเรียกร้องที่อยากให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 อันดับ 1 ระบุเป็นไปไม่ได้ 37.66% เพราะ นายกฯ ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ยังไม่ได้ปลดล็อกพรรคการเมือง อาจเตรียมการเลือกตั้งไม่ทัน, อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 33.71% เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ต้องรอดูผลการเจรจา, อันดับ 3 เป็นไปได้ 28.63% เพราะมีการประท้วงเป็นระยะ สร้างความกดดันต่อรัฐบาล นายกฯ เคยประกาศว่าจะมีเลือกตั้งในปี 61 ฯลฯ
เมื่อถามว่า การประท้วงครั้งนี้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ อันดับ 1 ระบุไม่วุ่นวาย 43.94% เพราะ รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ไม่รุนแรง อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด, อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 34.05% เพราะยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ความเคลื่อนไหว, อันดับ 3 วุ่นวาย 22.01% เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดี มือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ เป็นประเด็นที่กำลังร้อนแรง อาจเกิดการโจมตีกันไปมา
ถามว่าเห็นด้วยกับการประท้วงครั้งนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย 52.01% เพราะควรใช้วิธีการที่สันติ อาจได้ไม่คุ้มเสีย รัฐบาลต้องดำเนินการตามโรดแมป กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศชาติ เห็นด้วย 47.99% เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้ใช้สิทธิของตนเอง
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่อยากให้ชุมนุมอย่างสงบ อยู่ในขอบเขต มีสติ 55.78% เห็นแก่ส่วนรวม ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 31.16% และควรใช้วิธีการเจรจา ยื่นหนังสือ ส่งตัวแทนพูดคุย 21.61% และอยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ ฟังเสียงของประชาชน เปิดกว้าง ให้อิสระทางความคิด 44.35% กำหนดการเลือกตั้งให้ชัดเจน ทำตามโรดแมปที่ประกาศไว้ 34.35% และเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว ยึดหลักความถูกต้อง เป็นธรรม 27.39%.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |