ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี ยอมเฉือนเนื้อ 4 หมื่นล้านบาทช่วยประชาชน-ภาคธุรกิจสู้โควิด สั่งขยายเวลาหั่นภาษีที่ดิน 90% พร้อมลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง ช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ ผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมได้บ้างเล็กๆ ลดเงินสมทบ 2 เดือน ส่วนสปา-นวดสุขภาพไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ลดค่าธรรมเนียม
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือน ให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน
นายอนุชาบอกว่า มาตรการดังกล่าวทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึง มีนาคม 2564 จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น โดยการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี ให้แก่ผู้ประกอบกิจการสปาและกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยกิจการสปาเสียค่าธรรมเนียมปีละ 1,000 บาท และกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงามเสียค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19
น.ส.ไตรศุลีเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่า มีกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีประเภทกิจการสปาจำนวน 896 ร้าน กิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงามจำนวน 9,918 ร้าน ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีรวมเป็นเงิน 5,828,000 บาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเช่นกันว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 3 เรื่อง คือ 1.มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ โดยให้ลดภาษีในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 และต้องตั้งงบชดเชยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 3.5 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2565
2.มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ลงเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% ลงเหลือ 0.01% เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 โดยรัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5.6 พันล้านบาท
3.การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (การขยายเวลายื่นแบบฯ) เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการ โดยขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มี.ค.64 เป็น 30 มิ.ย.64 เฉพาะการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต และขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และการนำส่งหรือชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีของ ม.ค.-พ.ค.64 ที่ต้องยื่นแบบ นำส่ง หรือชำระ ในช่วงเดือน ก.พ.-มิ.ย.64 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ เฉพาะการยื่นแบบอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ รมว.การคลังกล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเราชนะได้ เพราะไม่มีสมาร์ตโฟน ให้เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยกระทรวงการคลังจะเปิดรับลงทะเบียน 15 ก.พ.64 โดยกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ตโฟน จะเปิดรับลงทะเบียนที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เบื้องต้นจะเป็น 3 ธนาคารหลัก คือ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย เพราะมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งจะขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยให้เข้ามาช่วยรับลงทะเบียนผู้อยู่ในกลุ่มต้องดูแลเป็นพิเศษนี้ด้วย
นายอาคมกล่าวด้วยว่า ครม.เห็นชอบให้เพิ่มบริการขนส่งสาธารณะให้เข้าร่วมโครงการเราชนะได้ โดยครอบคลุม นิติบุคคล คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, รถร่วม, รถไฟฟ้า และรถไฟ และขนส่งส่วนบุคคล เช่น แท็กซี่, สามล้อ, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งต้องมาลงทะเบียนร้านค้า มีแอปพลิเคชันถุงเงินจึงจะใช้สิทธิ์ได้ ส่วนการใช้จ่ายเราชนะ สำหรับค่าเช่าบ้าน เช่น กรณีอพาร์ตเมนต์ สามารถทำได้ถ้าเจ้าของไม่เป็นนิติบุคคล และมาลงทะเบียนร้านค้าไว้
"แต่ละคนต้องมีเงิน 2 กระเป๋า คือกระเป๋าตัวเองและแอปพลิเคชันเป๋าตัง และต้องเข้าใจวิธีการใช้เงินด้วย ทุกคนมีเงินอยู่แล้ว เราสามารถใช้เงินกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าเช่าห้อง และใช้เงินจากแอปเป๋าตังที่ได้จากมาตรการเราชนะไปใช้จ่ายค่าครองชีพก็ได้ มันก็เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายได้" นายอาคมกล่าว
ทั้งนี้ การลงทะเบียนมาตรการเราชนะจะเริ่มให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ www.เราชนะ.com จากนั้นเข้ากรอกข้อมูล ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์ กดยืนยัน และรอรับรหัส OTP จากระบบ และรอตรวจสอบสิทธิ์อีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ.64 ถ้าผ่านสิทธิ์ก็จะเริ่มรับเงินตั้งแต่ 18 ก.พ. สัปดาห์ละ 1,000 บาท โดยจะโอนเงินทุกวันพฤหัสบดี
ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ต้องลงทะเบียน รัฐบาลจะจัดสรรวงเงินรอบแรกให้เป็นรายสัปดาห์ ทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละ 675 หรือ 700 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป สะสมได้จนถึง 31 พ.ค. ส่วนกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่งและมีแอปพลิเคชันเป๋าตังเดิม ตรวจสอบสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. และระบบจะเริ่มโอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. สัปดาห์ละ 1,000 บาท โดยจะโอนเงินทุกวันพฤหัสบดี
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์เราชนะสามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะเพิ่มหัวข้อ "เราชนะ" ให้สามารถใช้สิทธิ์ได้ วิธีการใช้จ่ายเหมือนคนละครึ่ง คือเปิดแอปพลิเคชันเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ดจากร้านค้า ส่วนร้านค้าธงฟ้าจะเริ่มรับจ่ายผ่านบัตร ผ่านเครื่อง EDC ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |