ต้องยอมรับว่าภาพรวมสถานการณ์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ดีขึ้น ถ้าวัดในแง่ของสถิติตัวเลขการก่อเหตุเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อน ซึ่งก็ต้องให้เครดิตทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่
กระนั้นปัจจัยอื่นที่ยังทำให้การแก้ไขปัญหายังจบไม่ลง นั่นคือความพยายามของกลุ่มขบวนการผู้มีผลประโยชน์ในพื้นที่ ที่ไม่ต้องการให้ "ไฟใต้ดับลง" อีกทั้งการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้เป็นช่วงๆ โดยมีตัวบุคคลเข้ามาบริหารจัดการเปลี่ยนไปตามโครงสร้าง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ปิดจ็อบไม่ได้
ฝ่ายความมั่นคงเรียกช่วงเวลานี้ว่า รอยต่อ เพื่อไปสู่ช่วงยุทธศาสตร์ของการสร้างสันติสุขที่จะเริ่มในปี 2563 โดยในพื้นที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าที่มี บิ๊กอาร์ต-พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นกลไกหลักบูรณาการทุกภาคส่วน
ในขณะที่ระดับบนมีคณะพูดคุยสันติสุข จชต.ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ขับเคลื่อนพูดคุยเพื่อรับฟังผู้มีความเห็นต่างระดับนำ
แม้จะไม่ประสานเสียงกันก่อนหน้านี้ แต่ก็ยุติลงได้ด้วยการที่ "บิ๊กตู่" ลงมาเป็นกาวใจ แยกหน้าที่ในการทำงานกันแบบ "แยกกันเดินร่วมกันตี"
แต่ระหว่างทางก็มีอุปสรรค ทำให้การเดินหน้าอาจต้องชะลอทั้งสองส่วน!!
โครงการพาคนกลับบ้าน ที่ "บิ๊กอาร์ต" ชูธงเป็นผลงานชิ้นโบแดง "เซตซีโร" เชิงปริมาณที่อดีตแม่ทัพทำไว้ให้กลับมาทำ "เชิงคุณภาพ" มีการตรวจกันถึงระดับ "ดีเอ็นเอ" ก็เจอการต่อต้านจากชาวบ้านในโครงการจุฬาภรณ์ 2 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ไม่พอใจคำสัมภาษณ์ที่ระบุในทำนองว่า "ชาวบ้าน" ที่อยู่เดิมยอมรับได้ ทำให้มีการชุมนุมแสดงพลังจน "บิ๊กอาร์ต" ต้องลงไปเคลียร์ยุติการสร้างบ้านพัก ป้องกันบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะกระแสไทยพุทธ มุสลิม รวมถึงครอบครัวผู้สูญเสียจากการก่อเหตุไม่พอใจและเริ่มเสียงดังขึ้นในพื้นที่
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงบ จากเดิมที่เคยมีการสร้างอาคารในลักษณะนี้มาแล้วที่ปัตตานีแต่ไม่มีคนอยู่
ขณะที่ การพูดคุยสันติสุข อาจจะไม่ลื่นไหลเหมือนยุค "นาจิบ ราซัค" เมื่อ มหาเธร์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะยี่ห้อ "มหาเธร์" ถ้ามาเลเซียจะเข้าไปเป็นผู้อำนวยความสะดวก จะต้องมีบทบาทที่ยกระดับการเจรจาในรูปแบบที่เป็นสากลและต้องเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่แนวทางของไทยที่อยากให้การพูดคุยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนสถานะของ ดะโต๊ะ ซัมซามิน ซึ่งเป็นคนสนิทและเพื่อนสนิทของ "นาจิบ ราซัค" ที่โตมาด้วยกันในหมู่บ้านรัฐปาหัง และถูกส่งมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกอาจจะไม่มั่นคงไปด้วย
ช่วงเปลี่ยนรัฐบาลอาจทำให้การพูดคุยสันติสุขต้องชะลอไปพลางๆ แม้การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตีโซน ได้มีการเริ่มดำเนินการแบบไม่ประกาศเป็นทางการไปแล้วก็ตาม
ส่วนแนวทางของรัฐบาลในการทุ่มงบการพัฒนา สร้างเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า หรือ คปต.ส่วนหน้า มีผู้แทนพิเศษลงไปติดตามงานในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ "งบลง แต่งานไม่เกิด" ก็ยังไม่สามารถเร่งรัดให้เร็วกว่าแผนงานที่วางไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |