ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ที่หนักหนาสาหัส จนหลายฝ่ายเชื่อกันว่าจะทำให้การเมืองลดความร้อนแรงลงไปนั้น คงไม่เป็นไปตามที่มีการวิเคราะห์หรือประเมินกันอย่างแน่นอน เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกลับมีความหนักหน่วง เพิ่มจังหวะเร่งกลองรบให้สอดคล้องกับช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.ที่จะถึงนี้
แน่นอนว่าความคาดหวังในการล้มรัฐบาลด้วยการใช้เสียงในสภาฯ นั้นคงเป็นไปได้ยาก แม้จะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่ฝ่ายค้านจะได้นำไปอภิปราย คือความผิดพลาดบกพร่องในการปล่อยปละละเลยให้ “ขบวนการเถื่อน” ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว เลยไปถึงการปล่อยให้มีการเปิดบ่อนการพนันในหลายพื้นที่ จนทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระบาดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งแม้ฝ่ายความมั่นคงโดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ แต่ผู้รับผิดชอบก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ก็ตาม
แต่การเร่งระดมนำเสนอข้อมูลเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง “ทุน-รัฐบาล-สถาบัน” ในประเด็นสำคัญ อย่างการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้ประชาชน ด้วยการตั้งข้อสังเกตในเป้าหมายของรัฐบาลพยายามทำเพื่อสถาบันหรือไม่นั้น ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ฝ่ายรัฐเริ่มขยับตามการเร่งเร้าของฝ่ายปกป้องสถาบันให้ดำเนินคดีกับผู้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวด้วยการใช้ ม.112 ประกอบกับการใช้มาตราดังกล่าวในการดำเนินคดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้กลายเป็น “ปริมาณ” คดีที่ฝ่ายเคลื่อนไหวมองว่ามีน้ำหนักพอในการใช้ไปทำกิจกรรมรณรงค์ให้เห็นถึงภัยของ ม.112 ยิ่งทำให้สถานการณ์ร้อนขึ้นไปอีก
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายรัฐเองก็มองว่ายุทธวิธีของกลุ่มการเมืองฝ่ายนี้มีเจตนาแตะที่ “สถาบัน” โดยใช้ “วัคซีน” และ ”ม.112” เป็นเครื่องมือในการกล่าวถึง โดยอ้างคำว่า “ประชาชน”
ย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 กลับมาอีกครั้งนับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวริเริ่มในช่วงที่กลุ่ม “นิติราษฎร์” มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร 2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นคนละมาตรากับการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษโดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี โดยแยกระหว่างการหมิ่นประมาททั่วไปกับการหมิ่นประมาทที่เป็นการโฆษณาออกจากกัน 5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ 7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น
ปลายปี 2554 กลุ่มนักวิชาการหลายกลุ่มและนักศึกษา นักกิจกรรมในช่วงเวลานั้น นำโดยเครือข่ายสันติประชาธรรม และคณะนิติราษฎร์ จึงประชุมร่วมกันและเห็นพ้องตรงกันที่จะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อชวนให้ประชาชนใช้สิทธิ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวบรวมเอกสารรายชื่อให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อยื่นเสนอต่อรัฐสภาให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์
มีการเปิดตัวในนามคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 และสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 39,185 รายชื่อ และเมื่อคัดแยกรายชื่อที่ซ้ำหรือเอกสารไม่ครบออกแล้ว เหลือรายชื่อที่สมบูรณ์นำมายื่นต่อรัฐสภาได้ทั้งหมด 26,968 รายชื่อ เมื่อขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารผ่านไปด้วยความเรียบร้อย และเมื่อร่างนี้เสนอเข้าสู่สภาฯ
ปลายปี 2555 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ ครก.112 นำเสนอเพื่อให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวด้วย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ประชาชนจะมีสิทธิ์เข้าชื่อกันเสนอได้ ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ 2550 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจเสนอร่างกฎหมายนี้ให้รัฐสภาพิจารณาได้
แต่ ครก.112 ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งปลายปี 2556 ก็เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ และนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 เมื่อรัฐสภาและรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก ข้อเสนอต่างๆ ที่ค้างอยู่ในสภาฯ ก็เป็นอันตกไป
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฎร และเครือข่าย เมื่อปีที่แล้วประกาศข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น จนมีการวิเคราะห์ว่าต้องการให้รัฐใช้ ม.112 เพื่อจุดไฟให้เห็นความเลวร้ายของสถาบัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้วิธี “เลียบค่าย” รอสัญญาณเพื่อบังคับใช้กฎหมาย โดยดูกระแสสังคมในการออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้คนหมิ่นสถาบันลอยนวล
"ไม่ต้องการใช้ ม.112 ปิดปากคนหรือทำร้ายใครทั้งสิ้น ต้องไปดูที่ว่าสิ่งที่เขาทำมา ทำซ้ำมากี่ครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเด็กหรือใครก็ตามก็ผ่านการให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้หลายคนอาจจะมีอยู่หลายคดี ที่ต่างกรรมต่างวาระ เช่นเดียวกับทุกคดีที่มีการดำเนินการตามกฎหมาย หากคิดว่าตัวเองถูกกฎหมายก็ต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรม และรัฐบาลไม่ต้องการที่จะเอาเรื่องนี้มาพันกับเรื่องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ตราบใดก็ตามที่มีการทำความผิดทุกคนก็ต้องได้รับการลงโทษ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุ
การดำเนินกิจกรรมของ “คณะก้าวหน้า” จึงไม่ได้มีนัยในการตรวจสอบอำนาจรัฐ แค่ความหมายแคบๆ แต่มีการเชื่อมโยงไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายโครงสร้างของประเทศที่ฝังรากลึกในการปลูกฝังค่านิยม วิถีชีวิต วิธีคิด ระบอบการปกครองของประเทศไทย ที่เคยพูดกันในตำรา หรือตามข้อเขียนในหนังสือเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “หัวก้าวหน้า”
2 ปีที่ผ่านมา ทฤษฎีทางการเมืองและข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ ถูกนำมาเผยแพร่ในวงกว้างด้วย การเอื้ออำนวยของเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ดังนั้นคนที่อยากรู้เรื่องสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมเชิงวิพากษ์สามารถดาวน์โหลดหรือหาอ่านได้ง่ายกว่าเมื่อยุค 20 ปีที่ผ่านมา คำว่า “หนังสือต้องห้าม” จึงกลายเป็นศูนย์ในยุคสมัยนี้
จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น แกนนำ เครือข่ายที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่จึง “มีลุ้น” ในชัยชนะ ด้วยชุดความคิดที่ว่าเมื่อสังคมได้เข้าถึงชุดข้อมูลที่ฝ่ายก้าวหน้าได้เผยแพร่ได้มากเท่าไหร่ การปฏิรูปก็จะเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ
การเดินหน้า “คอมมอน สคูล” ออนไลน์ ห้องเรียนการเมืองที่สามารถเข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น สร้างกระบวนการขัดเกลาทางสังคมให้ตระหนักในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นวิพากษ์อย่างที่ไม่เคยเจอในหลักสูตรปกติ ย่อมสร้างพลเมืองที่ร้อนวิชา และพร้อมออกมาต่อสู้เปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เชื่อว่า จะเป็น “อนาคตที่สวยงาม“ และเท่าเทียมอย่างที่เขียนไว้ในทฤษฎี จึงกลายเป็นหนึ่งในความฝันที่ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นจริงหรือไม่
ผ่านการวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคงว่า เมื่อถึงเวลาที่ “สุกงอม” การผลักดันให้ทำโพล เลยไปถึงการทำประชามติเพื่อแสวงหา “ฉันทามติ” ในประเด็น ม.112 เลยไปถึง “ปฏิรูปสถาบัน” จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
และแน่นอนว่าการตอกย้ำ “ด้านลบ” ของสถาบันแบบสุดขั้วยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากฝ่ายอนุรักษนิยมที่เคยวาดภาพ “ปีศาจ” คอมมิวนิสต์ ในอดีตว่าเป็นภัยความมั่นคงของชาติ
กลายเป็นภาพล้อ “ค้ำยัน-ต่อสู้” อย่างนี้มาหลายทศวรรษ โดยมีคนไทยเป็นตัวประกันจากรุ่นสู่รุ่น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |