หน้าฝนมาเร็วอย่างนี้ การให้ความเอาใจใส่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งการเลินเล่อหรือการไม่ระวัง เพียงแค่ผู้สูงอายุสะดุดแอ่งน้ำท่วมขังและลื่นล้ม ก็อาจทำให้กระดูกหัก บางรายอาจทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน ถึงขั้นที่สามารถเสียชีวิตได้จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นการเตือนภัยเกี่ยวกับอันตรายที่มาพร้อมกับช่วงฝนชุก
(นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์)
นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลดูแลสุขภาพคนวัยเกษียณไว้น่าสนใจว่า “ในช่วงหน้าฝน โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือ “โรคหวัด” ที่เกิดจากการโดนละอองฝน เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุพึงระวัง หากอยู่ในที่โล่งแจ้งและเปียกฝน ก็ควรรีบเช็ดศีรษะให้แห้งสนิทอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพบ “โรคไข้หวัดใหญ่” ได้เช่นเดียวกัน การป้องกันที่ดีที่สุด ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนป้องกันโรคตามสถานพยาบาลภายใต้กระทรวงสาธารณสุขปีละ 1 เข็ม นอกจากนี้ ช่วงหน้าฝนที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและชื้น ผู้สูงวัยควรใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น ใส่ถุงเท้า เวลานอนก็ต้องห่มผ้า และพยายามปรับแอร์ไม่ให้ลงที่ตัวมากเกินไป อีกทั้งต้องหมั่นรับประทานอาหารอุ่นๆ หรือปรุงสุกใหม่ อีกทั้งต้องงดการบริโภคน้ำแข็ง เพื่อป้องกันอาการเป็นหวัดด้วยเช่นกัน
(ผู้สูงอายุที่ล้างรถช่วงหน้าฝนอาจเสี่ยงต่อการลื่นหกล้มจากรองเท้าเก่าที่ไม่มีดอกยาง ควรหมั่นเช็กรองเท้าว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่)
ที่ลืมไม่ได้คือ “การลื่นหกล้ม” ในขณะช่วงฝนตก ก็ค่อนข้างพบได้บ่อยเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้สูงวัยบางรายจะเกิดความขยันเป็นพิเศษในช่วงนี้ เช่น การออกไปล้างรถขณะที่ฝนพรำ ประกอบกับพื้นรองเท้าที่ไม่มีดอกยาง จึงทำให้ท่านลื่นหรือสะดุดหกล้มได้ง่าย สิ่งสำคัญลูกหลานต้องหมั่นตรวจสภาพของรองเท้าที่ไม่มีดอกยาง หรือเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่แทนที่คู่เก่าที่เสี่ยงต่อการหกล้มให้กับท่าน
สิ่งสำคัญอีกอย่างในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะบางพื้นที่ใน กทม.หรือต่างจังหวัดที่น้ำท่วมขัง การที่ผู้สูงอายุมักต้องเดินลุยน้ำก็อาจทำเกิด “โรคเท้าเปื่อย” ได้ ตรงนี้อยากให้คนชราที่ป่วยโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อลุกลาม หากว่าเท้าเป็นแผลอยู่แล้ว ตรงนี้หมอแนะนำว่าให้รีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง หรือหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรลงไปเดินหรือย่ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง
ในช่วงฝนตกชุกและมีน้ำแช่ขังรอบๆ บ้าน ก็สามารถทำให้คุณตาคุณยายเป็น “โรคไข้เลือดออก” ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยการคว่ำกระถางแตก โอ่งน้ำแตก หรือแม้แต่ที่รองตู้กับข้าว ที่จำเป็นต้องหาทรายอะเบทมาโรย เพื่อป้องกันยุงลายมาไข่ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก
(ช่วงหน้าฝน ผู้สูงอายุควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก และการคันเกาแผลเรื้อรัง)
นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนมักจะมียุงค่อนข้างเยอะและไปกัดผู้สูงอายุ ก็จะทำให้ “คันและเกา” จนกระทั่ง “ผิวหนังเป็นแผลติดเชื้อ” ได้ ตรงนี้ลูกหลานควรหายาสเตียรอยด์มาทาให้ท่านเพื่อช่วยยับยั้งอาการจากผื่นคัน เป็นต้น ปิดท้ายกันที่ไม่สวมเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกไปนอกบ้าน เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าในช่วงฝนตกคะนองเช่นเดียวกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |