แกนนำพรรคเพื่อไทยซัดรัฐบาลปล่อย ปชช.ถูกไวรัสโควิดรุมตามยถากรรม แถมฝุ่นพิษซ้ำเติม โวย "นายกฯ-ครม." ไม่ให้ความสำคัญมาตอบกระทู้เงินเยียวยา-กู้โควิด ชงเร่งปรับวงเงินทั้ง 9 แสนล้าน ช่วย SMEs ก่อนเจ๊งหมด "ลูกสาวชูวิทย์" ร่วมทีม "สร้างไทย" ลงพื้นที่ย่านลาดพร้าวช่วยชาวบ้าน "สุดารัตน์" วอนรัฐบาลเยียวยาผู้ยากไร้ทุกครอบครัว "จตุพร" ลั่นหาก "ประยุทธ์" แก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องออกไป เชื่ออีกไม่นาน ปชช.จะขับไล่
เมื่อวันอาทิตย์ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีค่าฝุ่นพิษทั่ว กทม.และปริมณฑล 33 พื้นที่อยู่ในขั้นวิกฤติหนักทะลุ 121 มคก./ลบ.ม.ว่า นอกจากรัฐบาลจะปล่อยให้ประชาชนเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มหันตภัยโรคร้ายตามยถากรรม ในขณะที่ประชากรของประเทศเพื่อนบ้านทยอยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ในประเทศไทยยังคงต้องรอต่อไป ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.62 จนบัดนี้ล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีเต็มแล้ว กลับไม่เห็นการแก้ไขอะไรที่เป็นรูปธรรม นอกจากปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จะไม่ได้หายไปแล้ว กลับมีปริมาณสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนเหมือนตายผ่อนส่งเพราะต้องจำใจสูดอากาศพิษเข้าไปทุกวัน
"หากยังปล่อยให้ฝุ่นพิษมีปริมาณวิกฤติแบบนี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่แน่ใจว่าระหว่างการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กรณีใดจะมากกว่ากัน รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเป็นรูปธรรมและรายงานผลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง คุณภาพชีวิตของคนไทยทุกวันนี้ถูกโควิดรุม ฝุ่นพิษสุม หลายปัญหา ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแนะนำให้ประชาชนอยู่บ้านเฉยๆ สองสัปดาห์ และหากทำได้แค่นั้นร้อยนายกฯ ก็แก้ไม่ได้" นายอนุสรณ์กล่าว
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาว่า จากการตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ในสภา นายกฯ ไม่มาตอบ ทั้งยังไม่ได้มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดมาตอบ ซึ่งเรื่องที่อยากถามคือ ทำไมครั้งนี้จึงจ่ายเพียง 3,500 จำนวน 2 เดือน ขณะที่ครั้งที่แล้วให้ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน นอกจากนี้เรารู้สึกว่าการจ่ายเงินเหตุใดจึงมีความยากลำบาก ต้องจ่ายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ และไม่จ่ายเป็นเงินสด คนไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือจะทำอย่างไร แล้วเหตุใดเงินประกันสังคมตามมาตรา 33 จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ รวมถึงข้าราชการก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ที่ผ่านมาเงินกู้ที่ ครม.กู้มาเพื่อแก้ปัญหาโควิด ท่านเอาไปใช้อะไรบ้าง แล้วหมดหรือยัง เพราะยังไม่เห็นความคืบหน้าจากส่วนใด
นายครูมานิตย์กล่าวว่า การเยียวยาครั้งนี้ค่อนข้างสับสนพันกันไปมากับกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้รับการดูแลอีก เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้ตนรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การอภิปรายต่อไป เมื่อนายกฯ และรัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญกับสภา ตนจึงเสนอผ่านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ... ว่าขอให้เพิ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 6 เรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี อย่างน้อยต้องเคยผ่านการเป็น ส.ส.มา 1 สมัย เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญและเข้าใจการทำงานของสภา
ปรับวงเงิน 9 แสนล้านช่วย SME
นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาช่วยเหลือ SMEs ยังไม่เพียงพอ วงเงิน 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ สามารถปล่อยกู้ได้เพียงกว่าแสนล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ยังมี ธุรกิจ SMEs เดือดร้อนอีกเป็นจำนวนมาก โดยถือว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเพิ่งจะคิดแก้กฎระเบียบเพื่อผ่อนคลายการปล่อยกู้ให้ง่ายและสะดวกขึ้น เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs ให้รอดได้ก่อนที่จะเจ๊งกันหมด ซึ่งต้องดูว่าจะช่วยธุรกิจใดบ้าง ต้องพิจารณาว่าธุรกิจใดจะไปรอดหลังวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดผ่านพ้นไปแล้ว อยากให้ปรึกษากับ ธปท.ในการปรับวงเงิน 4 แสนล้านบาทที่ ธปท.ตั้งไว้เพื่อซื้อพันธบัตรของเอกชน ให้มาปล่อยกู้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้น รวมเป็น 9 แสนล้านบาท เพราะวงเงิน 4 แสนล้านที่ตั้งใจซื้อพันธบัตรของเอกชนคงไม่ได้นำไปใช้ซื้อพันธบัตรของเอกชนแล้ว เพราะจะเป็นการช่วยเจ้าสัวและน่าจะผิดหลักการของ ธปท.เอง
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า อยากให้มีมาตรการช่วยการจ้างงานเพื่อแก้ไขเรื่องการว่างงานที่จะเป็นปัญหาใหญ่ การเร่งให้มีการฉีดวัคซีนประชาชนให้ครบโดยเร็ว เพื่อาภาคธุรกิจจะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเป็นเรื่องสำคัญ การดูแลค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างมาก การเจรจาเขตการค้าเสรีทั้งทวิภาคีและพหุภาคียังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยเฉพาะกับประเทศหลักหลายประเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มของระบบราชการ หรือ digitalization ระบบรายการ ก็ต้องเร่งทำเช่นกัน เป็นต้น
วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสร้างไทย นายบำรุง รัตนะ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นำทีมคนรุ่นใหม่ อาสาสมัครกลุ่มสร้างไทยลงพื้นที่ชุมชนจันทราสุข ลาดพร้าว 87 เพื่อรับฟัง ปัญหาจากประชาชนคนตัวเล็ก และร่วมคิดร่วมแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้ประชาชน โดยที่มาในวันนี้ประกอบด้วย 1.นายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2.น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ นักวางแผนนโยบายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 3.นายรณกาจ ชินสำราญ นักธุรกิจเจ้าของภัตตาคารมากุโระ 4.น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (บุตรสาวนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์) 5.น.ส.เกณิกา ตาปสนันทน์ เจ้าของธุรกิจ Bambinista Salon 6.น.ส.ณิชกมล บัวงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
สำหรับในการออกเยี่ยมชุมชนครั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์พร้อมทีมอาสาได้ช่วยกันแจกข้าวสารที่กลุ่มสร้างไทยซื้อมาจากชาวนาที่ถูกกดราคาข้าวเปลือกเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6-7 บาท เป็นการช่วยชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาแพงขึ้น และนำข้าวนั้นมาช่วยผู้ที่เดือดร้อนจากพิษโควิดในกรุงเทพฯ
แก้ปัญหาไม่ได้ ปชช.จะขับไล่
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ปัญหาที่ประชาชนในชุมชนจันทราสุขร้องเรียนก็คือปัญหาปากท้อง ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ก่อนโควิด จนมาถึงการระบาดรอบ 2 การเยียวยาไม่ทั่วถึง คนที่ยากลำบากกลับไม่ได้รับการเยียวยา หลายรายถึงกับบ่นว่ากำลังจะอดตาย บางครอบครัวตกงานทั้งบ้าน ทีมอาสาของกลุ่มสร้างไทยจะได้เข้ามาช่วยทำเรื่องการพัฒนาสินค้าชุมชน ทั้งด้านคุณภาพ การดีไซน์ ตลอดจนการขายออนไลน์
"อยากเอาใจช่วยรัฐบาลให้บริหารเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมาสร้างเศรษฐกิจ ให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ได้ และให้ไปถึงคนที่เดือดร้อนจริงๆ และขอเสนอให้เยียวยาผู้ยากไร้ทุกครอบครัว โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานเขตหรือชุมชน ที่มีข้อมูลผู้มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อปีอยู่แล้ว ไม่ได้ให้เงินจำนวนมาก แต่จะทำให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ทันที จึงอยากให้รัฐมีโครงการที่จะใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริง เพราะหากใช้ไม่ถูกจุดจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมแย่ลง" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวในรายการพีซทอล์ก หัวข้อ "เมืองท่องเที่ยวร้าง เยียวยาเหลว อยู่ไปทำไม?" โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด 19 ในรอบที่ 2 นั้นกระทบมากกว่ารอบแรกทวีคูณ เพราะในรอบแรกพอจะมีเงินติดตัวกันอยู่บ้าง แต่ในรอบที่ 2 นั้นแทบไม่ทันตั้งหลัก ตนได้พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งที่ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และอีกหลายๆ แห่ง ก็มีการอธิบายชัดเจนว่าคนไทยทยอยมาใช้บริการ กำลังที่จะลุกขึ้นยืนได้แม้จะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ทันทีที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรอบที่ 2 นั้น พังพินาศย่อยยับไปกับตา หลายโรงเเรมขึ้นป้ายปิดกิจการ บางแห่งติดป้ายขายกิจการ ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ ท้ายที่สุดก็อยู่ในมือของนายทุนต่างชาติ ยกตัวอย่างถนนข้าวสาร สภาพปัจจุบันเหมือนกับป่าช้า
"หากไม่สามารถฟื้นเมืองท่องเที่ยวที่ร้างอยู่ในขณะนี้ให้กลับมาสู่สถานการณ์ครึ่งหนึ่งของปกติ หรือ 30% ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ จะต้องทบทวนการจ่ายเยียวยาเป็นเงินสดให้ประชาชน เพื่อสร้างความสะดวกเกี่ยวกับการยังชีพ แต่ความที่รัฐไม่เข้าใจและไม่ยอมปรับตัว ขอเตือนไปยังรัฐบาลว่าความหายนะของแต่ละรัฐบาลไม่เคยพังด้วยเรื่องใหญ่ๆ และหากยังดึงดันก็เสมือนหาเรื่องฆ่าตัวตายเสียเอง เมื่อทุกอย่างล้มเหลวตามลำดับ คำถามคือจะอยู่ต่อไปทำอะไร ความเป็นรัฐบาลหากแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ได้ ก็สิ้นสภาพความเป็นรัฐบาล หากมาเป็นผู้ปกครองประเทศนี้แล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ คุณควรออกไปเสีย ถ้าไม่ออก ประชาชนก็จะต้องลุกขึ้นมาขับไล่ และผมเชื่อว่าอีกไม่นาน" นายจตุพรกล่าว
ขณะที่สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณี "10 ความสุข ในยุคโควิด-19" จำนวน 1,136 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 15-22 ม.ค. พบว่าอันดับ 1 การมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ 86.92% อันดับ 2 ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ทำกับข้าวกินเอง 75.22% อันดับ 3 ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเร่งรีบ 56.10% อันดับ 4 ได้ออกกำลังกาย หันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น 29.81% อันดับ 5 ปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ ได้พัฒนาทักษะเทคโนโลยี 13.46% อันดับ 6 ยังมีงานทำ ยังไม่ถูกเลิกจ้าง 13.08% อันดับ 7 รถไม่ค่อยติด เดินทางสะดวก 10.44% อันดับ 8 บุคลากรทางการแพทย์ของไทยทำงานได้ดี 8.18% อันดับ 9 ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย 5.03% อันดับ 10 ทรัพยากรธรรมชาติได้พัก เป็นการฟื้นฟู 1.89%.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |