โควิดระลอกใหม่ ซ้ำเติมวิกฤติช้างบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

ดูแลช่วยเหลือสุขภาพช้างด้วยรถโมบายคลินิก

 

     ลำบากกันทุกชีวิต เพราะโควิดระบาด ไม่เว้นแม้แต่ช้าง ควาญช้าง ปางช้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปางช้างเป็นอีกกิจการหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวปางช้างบ้านเรายอดเป็นศูนย์เพราะเดินทางมาไม่ได้ ขณะที่คนไทยจะไปปางช้างมีจำนวนไม่มาก

      ช้างจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายออกจากปางเพื่อกลับถิ่นฐาน คนเลี้ยงกลับมาทำนาทำไร่หากินเอาตัวรอด แต่โควิดระบาดระลอกใหม่ มีการติดเชื้อไวรัสกระจายไปทั่วประเทศ ดูเหมือนว่าจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ปางช้างเลวร้ายมากขึ้นไปอีก 

      ตลอดปีที่ผ่านมาต่อเนื่องปี 2564 ปางช้างและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับช้างพยายามรณรงค์รับบริจาคสนับสนุนการเลี้ยงช้างและดูแลช่วยเหลือสุขภาพช้าง ทั้งด้านอาหารช้างและเงินช่วยช้าง

      ธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีปางช้างที่หลงเหลืออยู่และมีเลี้ยงช้างอยู่ที่ปางไม่มาก ก่อนโควิดมีจำนวน 250 ปาง ขณะนี้ปางช้างส่วนใหญ่ปิดชั่วคราว เหลือแต่ปางที่ปางเป็นเจ้าของช้างเอง บางปางในเชียงใหม่บางที่ ช้าง 6 เชือก มีควาญดูแล 2 คน เพราะปางช้างไม่มีรายได้จ้างควาญ ส่วนปางที่เช่าช้างมาเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในเชียงใหม่ พัทยา และหลายจังหวัดภาคใต้ ปิดกิจการเกือบทั้งหมด ช้างที่มาอาศัยปางอยู่ เดินทางกลับบ้านเกิด เช่น จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ตาก ฯลฯ รวมแล้วกว่า 1,000 เชือก จากช้างเลี้ยง 3,000 เชือกในไทย

      “ ช้างจำนวนมากที่กลับบ้านก็น่าห่วง เพราะไม่มีความพร้อมในการรองรับ ทำให้แหล่งอาหารของช้างไม่เพียงพอ แต่คนเลี้ยงก็ใจสู้ ควาญช้างไทยมีสปิริต รักช้างก็พยายามหาอาหารมาเลี้ยง ตัดอาหารที่ต้นทุนสูงออก อย่างกล้วย อ้อย ช้างแต่ละเชือกกินวันละ 200-300 กิโลกรัม ถ้าช้างกินอาหารซ้ำๆ ก็จะอ่อนแอ แล้วก็ช้างที่ต้องเดินทางไกล จะมีความเครียด เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดการเจ็บป่วย”

 

 โควิดช้างบ้านกลับถิ่นฐาน เจ็บป่วย เข้าถึงการรักษายาก

 

     นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยระบุหลายคนมองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใช้ช้างเพื่อธุรกิจ แต่ข้อดีปางช้างมีโครงสร้างพื้นฐาน มีสวัสดิการ มีระบบยา และสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญ แต่ตอนนี้ช้างกระจายออกนอกปาง ไม่มีที่อยู่ที่ชัดเจน คนเลี้ยงจะพาช้างไปเลี้ยงตามชายป่า แล้วก็ทำเกษตร หลายเคสกว่าคนเลี้ยงจะรู้ช้างป่วย ก็ล่าช้า บวกกับพื้นที่ห่างไกล ทำให้ช้างขาดโอกาสการเข้าถึงการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ

      อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติโควิดทางสมาคมสหพันธ์ช้างไทยดำเนินโครงการร่วมด้วยช่วยช้างฝ่าวิกฤติ COVID-19 บริจาคสนับสนุนการเลี้ยงช้างและดูแลสุขภาพช้าง เป็นการขยายความช่วยเหลือไปสู่ปางช้างที่ต้องการอาหารช้างและเงินทุนเพิ่มสวัสดิภาพของช้างให้ดีขึ้น

สถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบปางช้างปิดกิจการ ช้างกลับถิ่น

 

      ธีรภัทรบอกว่า การทำงานช่วยช้างผ่านโครงการ ย้อนไปตอนล็อกดาวน์ปีที่แล้ว เป็นฤดูแล้ง ผักหญ้าริมทางและชายป่าแห้งแล้ง ขาดแคลนอาหาร ปางช้างปิด ช้างเผชิญความอดอยาก เงินที่ประชาชนบริจาคเรานำไปซื้อพืชผักอาหารส่งให้ปางช้าง คนเลี้ยงช้าง พอเข้าฤดูฝน จะมีปัญหาช้างเจ็บป่วย จะใช้เงินบริจาคเป็นงบดูแลสุขภาพช้าง จ้างหมอช้าง และค่าเดินทางไปหาช้างที่ห่างไกล ปลายปี 63 ใช้งบส่วนหนึ่งออกแบบและจัดสร้างรถโมบายคลินิก 1 คัน เพื่อเดินทางช่วยเหลือช้างในภาวะฉุกเฉิน รถคันนี้สามารถแปลงร่างเป็นคลินิกทำหัตถการให้แก่ช้างได้ ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังใช้เป็นรถเคลื่อนย้ายส่งต่อสู่โรงพยาบาลสัตว์ต่อไป   

      เขาระบุว่า ประชาชนสะดวกจะช่วยเหลือผ่านโครงการหรือจะช่วยโดยตรงกับปางช้าง คนเลี้ยงช้างที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ ก็สามารถทำได้เลย นอกจากนี้ อยากให้รัฐทำโครงการซื้อผลผลิตตกค้างจากเกษตรกรหรือเจ้าของสวนเพื่อเป็นอาหารช้างอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากช่วยช้างแล้ว จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิดได้อีก ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการสนับสนุนหรือมาตรการช่วยเหลือโดยตรงช่วยปางช้างในเหตุการณ์โควิดนี้ และตามจังหวัดต่างๆ ที่ช้างอพยพมาอยู่จะมีแนวทางสนับสนุนช่วยช้างอย่างไรได้

      แม้หลายปางในไทยปิดร้าง แต่มีเจ้าของธุรกิจปางช้างที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ธีรภัทรบอกว่า จากที่เคยเปิดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มยุโรป สหรัฐ อาเซียน และปางช้างเพื่อคนจีนโดยเฉพาะ เมื่อล็อกดาวน์ไม่มีเดินทางเข้ามา จึงปรับเปลี่ยนทำท่องเที่ยวช้างเพื่อคนไทย หารายได้ แต่คนไทยมาเที่ยวปางช้าง จะใช้เวลากับช้างสั้นกว่าต่างชาติ และเลือกทำกิจกรรมกับช้างตามที่ชอบ เช่น ขี่ช้าง, อาบน้ำช้าง, ป้อนอาหารช้าง รวมถึงมีคาเฟ่เก๋ๆ ในปางช้าง ให้ถ่ายรูปเช็กอิน ซึ่งราคาจะต่ำลง ต่างกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้เวลากับช้าง 1 วัน ทำครบทุกกิจกรรม สร้างประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต และยินดีจ่ายในราคาสูง

      “ คนเลี้ยงช้างก็ปรับตัว คนไทยเคารพนับถือช้าง ช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ ก็เพิ่มกิจกรรมลอดท้องช้างเพื่อเสริมสิริมงคล ถือเป็นนิวนอร์มอลจริงๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกอย่างหยุดชะงักจากโควิดรอบสอง ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้วิกฤติโควิดปรับปรุงการท่องเที่ยวในปางช้าง เน้นเยี่ยมชมช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องสัมผัสช้าง ไม่ให้ขี่ช้าง ผมเห็นว่า ต้องพิจารณาใช้กับช้างเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสม เพราะช้างเป็นสัตว์กระตือรือร้น ขยับร่างกายตลอดเวลา แต่ละวันช้างต้องเดินในระยะทางที่พอเหมาะ จะช่วยส่งเสริมสุขภาพ ระบบย่อยทำงานได้ดี ถ้าไม่ขยับร่างกายจะป่วยเป็นโรคท้องอืด ซึ่งโรคนี้เป็นปัญหาหลัก ส่งผลให้ไทยเสียช้างหลายสิบเชือกต่อปี" ธีรภัทรแสดงทัศนะทิ้งท้าย

กิจกรรมท่องเที่ยวปางช้าง ต้องปรับตัวรับชาวไทย

 

      ทางฝั่งองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขณะนี้เปิดให้ทุนปางช้างทั่วประเทศสู้วิกฤติโควิด โรจนา สังข์ทอง ผอ.องค์การพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ช้าง ปางช้าง ควาญช้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการขาดรายได้ เรามองว่าวิกฤติครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้หยุดคิดและพิจารณาว่าจะสามารถพลิกฟื้นและปรับปรุงการท่องเที่ยวได้อย่างไรบ้าง ให้สามารถสร้างผลกำไร ดูแลช้างเลี้ยงและควาญที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เหมาะสม และมีจริยธรรมมากขึ้น ตลอดจนยืดหยุ่นต่อวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นำมาสู่โครงการพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง เปิดให้ปางช้างเสนอแผนปรับปรุงปางช้างของตนเอง ถ้าผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินทุนไม่เกิน 500,000 บาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน 

      ฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า  องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่กำลังเติบโต นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น

 

      จากผลการสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกล่าสุด พบว่า คนไทยมองว่าช้างเลี้ยงควรได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิภาพเท่าเทียมกับช้างป่าอยู่ในระดับมาก ตลอดจนมองว่าการนำช้างมาแสดงโชว์และให้นักท่องเที่ยวขี่ สร้างความทรมานทางร่างกายและจิตใจต่อช้างอยู่ในระดับมาก นอกจากนี้ สนับสนุนการเยี่ยมชมช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติไม่ต้องสัมผัสช้างอยู่ในระดับมากเช่นกัน

      สอดรับกับการสำรวจ พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเยี่ยมชมช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น 15% เยี่ยมชมช้างในปางช้างที่ไม่มีการอาบน้ำช้างหรือขี่ช้างเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ขี่ช้างลดลง 14% โดยนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทยให้การยอมรับกิจกรรมขี่ช้างลดลง 11% สำหรับปางช้างที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/Build-Back-Better-for-Elephants

    

     ธุรกิจท่องเที่ยวปางช้าง ผจญวิกฤติโควิด โดยเฉพาะในเชียงใหม่ที่มีสัดส่วนปางช้างมากที่สุดในไทย

      กิตติพัฒน์ อังอินสมบัติ ผู้แทนปางช้าง Thai Elephent Home ในเชียงใหม่ และจัดทัวร์ขี่ช้าง บอกว่า จากโควิดระลอกใหม่ ปางช้างในเส้นแม่ตะมาน แม่แตง ส่วนหนึ่งปิดบริการตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. เหมือนปิดฝาโรงอีกที เดิมเส้นนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวปางช้างที่มีชื่อเสียง เวลานี้ใครอยู่ไม่ไหวก็ไป ปางช้างปิด ช้างและคนเลี้ยงกลับบ้าน เพราะปางไม่มีเงินเดือนจ่าย ไม่มีรายได้ซื้ออาหารเลี้ยงช้าง ส่วนที่เหลืออยู่ ก็อยู่ด้วยใจ ตอนนี้ยิ่งลำบากเข้าสู่หน้าแล้ง ทำให้พืชอาหารช้างในธรรมชาติ เชิงป่าขาดแคลน บวกกับปัญหาหมอกควันในภาคเหนือและรัฐออกกฎห้ามพาช้างไปเลี้ยงในป่า ทำให้คนเลี้ยงช้าง ช้าง อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมาก โครงการสนับสนุนช่วยเหลือจัดซื้ออาหารช้าง ช่วยพนักงานปางที่กระทบโควิดก็จำเป็น ส่วนการใช้วิกฤติโควิดสู่การยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับช้างและควาญช้างภายในปางช้างเป็นเรื่องดี.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"