24 ม.ค.64- มีความเคลื่อนไหวการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เหมืองทอง จ.เลย ภายหลังจังหวัดมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในและบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเกิดจากการผลักดันของชุมชนตำบลเขาหลวง 6 หมู่บ้าน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำมากว่าสิบปี โดยล่าสุดมีการประชุมคณะทำงานฯดังกล่าวขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดเลย
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณา (ร่าง) แผนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ประกอบด้วยทั้งหมดมี 13 คน ซึ่งมาจากหน่วยราชการส่วนกลางทั้งหมด ไม่มีคนในจังหวัดเลยเข้าร่วม พร้อมทั้งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หนึ่งคน ซึ่งชุมชนก็ไม่ยอมรับ โดยภายหลังจากนั้นทาง กพร. เองมีหนังสือขอให้เสนอชื่อเพิ่มเติมมาเป็นกรรมการอีก 3 คน แต่ทางภาคประชาชน นักวิชาการ ก็ยังเห็นว่าสัดส่วนของการมีส่วนร่วมจากฝ่ายชุมชนไม่สมสัดส่วน แต่เมื่อ กพร.มีหนังสือมาเช่นนี้ ทางจังหวัดก็ต้องมาพูดคุยกันว่า จะทำอย่างไร เพื่อให้คนที่เราเสนอได้รับการบรรจุให้เข้าไปเป็นกลไกตามคำสั่งกพร. ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ให้จัดทำแผนฟื้นฟู
ขณะที่ น.ส.กิติมา ขุนทอง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าวว่า ความเป็นมาของคณะทำงานฯนี้เกิดขึ้นจากการที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ผลักดันให้ได้มีการเสนอร่างแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนของชุมชน ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็มีแผนของหน่วยงานตัวเองเช่นกัน โดยในการประชุมก่อนนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ทำหนังสือขอให้ชะลอการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนฟื้นฟูของ กพร. ไว้ก่อน แต่ให้หันมาปรึกษาหารือแผนเริ่มจัดทำกันใหม่เพื่อให้ได้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ขณะเดียวกันในระหว่างที่มีการจัดทำแผนหรือการพูดคุยเรื่องแผนฟื้นฟู ฯเสนอให้เยียวยาเร่งด่วนสุขภาพ และป้องกันแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของสารพิษบริเวณบ่อเก็บกากแร่ และที่อื่น ๆ
น.ส.กิติมา กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือต้องหยุดกระบวนการพิจารณาแผนของ กพร.ทั้งหมดเอาไว้ก่อน เพราะที่ผ่านมาในพื้นที่มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจคือเรื่องใหญ่ รวมทั้งมีข้อเสนอว่าคนที่เป็นประธานกรรมการต้องไม่ใช่ กพร. จะต้องเป็นคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะ กพร. เป็นคนอนุมัติอนุญาตให้ทำเหมืองแร่จนทำให้เกิดผลกระทบอย่างที่เกิดขึ้น และปัจจุบันผลกระทบจากเหมืองแร่ที่เกิดขึ้น คนที่แบกรับผลกระทบปัญหา คือ ชุมชน ดังนั้น จึงควรมีสัดส่วนชาวบ้านที่มากหรือพอๆกับรัฐ แน่นอนว่าอำนาจอยู่ที่รัฐอยู่แล้ว แต่ถ้าให้จำนวนสัดส่วนชาวบ้านที่มากขึ้น กพร.ก็จะได้ภาพใหม่ในการฟื้นฟูฯ และสร้างมิติใหม่ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนตื่นตัวอย่างมากในการต่อสู้ให้ได้มีการฟื้นฟูฯในพื้นที่
ด้านน.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าวว่า ตอนที่ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ยื่นฟ้องบริษัทในคดีที่ให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทางเราก็รู้อยู่แล้วว่า กพร.เขามีแผนฟื้นฟูฯ ของเขาอยู่แล้ว ทั้งนี้การมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูจึงไม่ได้หมายความว่าเราต้องการไปพิจารณาร่างที่เขามีอยู่แล้ว แต่ศาลได้พิพากษาระบุไว้ชัดเจนเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ในที่นี้จึงเห็นว่าไม่ควรได้เป็นแค่การมีส่วนร่วมพิจารณาแผนฟื้นฟูฯที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการร่วมเป็นกรรมการยกร่างมันขึ้นมาด้วยกัน ไม่ใช่ไปเป็นตราประทับแผนที่ไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งการที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ที่เขาร่วมกันฟ้องร้องก็เพราะอยากร่วมเป็นกรรมการที่ช่วยกันเขียนแผนเพื่อพิจารณา เมื่อทำเสร็จร่วมกันแล้วจึงเสนอให้กรรมการควบคุมมลพิษพิจารณา ฉะนั้นการทำงานคือ ต้องเขียนแผนร่วมกัน การตั้งคณะกรรมการของ กพร.มันควรจะต้องเป็นอย่างนั้น
ขณะที่นางวิรอน รุจิไชยพันธุ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หากรัฐคิดแต่กฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ ก็อยากให้เปลี่ยนความคิด เพราะที่จังหวัดเลยก็ไม่อยากให้ล้มเหลวเหมือนที่คลิตี้ ชุมชนอยากพัฒนา พวกเราอยากก้าวข้ามปัญหาที่เป็นอยู่ ในพื้นที่ขณะนี้เองชาวบ้านก็ต้องออกมาปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ กลายเป็นกันชนเผชิญอันตรายระหว่างนายทุนที่จะเข้ามาซื้อทรัพย์สินของเหมือง และกลายเป็นว่าต้องเรียกร้องกรมบังคับคดีและคกก.เจ้าหนี้ เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินภายในบริเวณพื้นที่ของบริษัททุ่งคำและให้ทำการตีตราและยึดขายทอดตลาดเพิ่มเติม หลังพบกองสินแร่จำนวนมากไม่ถูกตีตราและนำยึด
นางวิรอน ระบุต่อว่า ซึ่งเป็นเหตุให้นายทุนเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อซื้อสินทรัพย์นอกบัญชีแบบผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง โดยล่าสุด พ่อค้าซื้อเกินไป 20 ตัน ชุมชนช่วยกันดูแลทักท้วง จนต้องมีการเพิ่มจำนวนการขน ซึ่งทำให้ผู้ขายต้องจ่ายค่าภาคหลวงเพิ่ม ซึ่งในที่สุดรัฐก็ได้ประโยชน์ ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นชุมชนมีความต้องการให้แก้ปัญหาถูกจุด เพราะพวกเราอยู่กับปัญหามานาน ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นพวกเราก็อยากมีส่วนร่วม ให้มีความชัดเจนตั้งแต่ต้น คือร่วมกันทำงานเพราะถ้าไม่มีส่วนร่วม มันก็จะไม่ได้เริ่ม และไม่เสร็จสักที
ด้าน น.ส.รจนา กองแสน ผู้ช่วยเลขานุการ คณะทำงานฯ ระบุว่า พวกเรายืนยันว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วม ถ้าไปร่วมพิจารณาร่างแผนที่คนอื่นเขียน เราก็ไม่เอา แต่ต้องมีการทำแผนฟื้นฟูฯร่วมกัน จนมีแผนฟื้นฟูฯที่เป็นที่ยอมรับก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |