เรียกว่าชัดเจนที่สุดแล้ว สำหรับ “โครงการเราชนะ” ซึ่งเป็นโครงการน้องใหม่ล่าสุด ที่รัฐบาลเข็นออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบในรายละเอียดของโครงการ โดยทุ่มงบกว่า 2.1 แสนล้านบาท ในการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือแก่ประชาชน จำนวน 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.2564) แต่สามารถใช้จ่ายได้ถึงเดือน พ.ค.2564 ซึ่งรัฐบาลเองก็มุ่งหวังว่า วงเงินที่สนับสนุนไปดังกล่าวจะก่อให้เกิดการนำเพื่อไปใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปด้วยในคราวเดียวกัน
โดยอาทิตย์เอกเขนกสัปดาห์นี้ จะมาเปิดขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ตาม “โครงการเราชนะ” เริ่มต้นที่คุณสมบัติของประชาชนที่จะลงทะเบียน จะต้อง 1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ 2.ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ
3.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ โดยหน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561, 4.ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ
5.ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ 6.ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด และข้อ 7.ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด ทำความเข้าใจง่ายๆ คือ หากมีคุณสมบัติตามที่ทั้ง 7 ข้อกำหนด ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อให้ระบบตรวจคัดกรองคุณสมบัติอีกครั้ง
มาถึงไฮไลต์สำคัญ ที่ต้องทำความเข้าใจก่อนลงทะเบียน นั่นคือ ภาครัฐจะคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลกลุ่มที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วเป็นอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่นๆ ของรัฐได้ ตรงนี้หมายความว่า ประชาชนที่อยู่ใน 2 กลุ่มนี้ จะมีสิทธิ์ได้รับการตรวจสอบคุณบัติเพื่อรับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือนได้ทันที โดยไม่ต้องลงทะเบียน
(สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
แต่! ประชาชนที่อยู่นอกเหนือ 2 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งหมายถึงไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของรัฐตามโครงการข้างต้น สามารถมาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วม “โครงการเราชนะ” ได้ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ. 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.
อีกหนึ่งคำถามที่คนมักสงสัย คือ แล้วจะได้รับวงเงินเยียวยาเมื่อไหร่ และผ่านช่องทางไหนบ้าง ย้อนไปตรงที่ก่อนหน้านี้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า “ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการ จะได้รับเป็นวงเงินสำหรับใช้จ่ายกับร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ได้รับเป็นเงินสด เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนสัมผัสตัวเงิน เพราะอาจจะมีเชื้อโควิด-19 ปะปนมาได้ และรัฐบาลอยากให้ประชาชนมีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสดและสามารถใช้สิทธิ์ผ่านวงเงินเสมือนหนึ่งเป็นเงินสดได้ รวมถึงยังสามารถจำกัดการใช้จ่าย ไม่ให้เงินหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น แอลกอฮอล์ หรือใช้จ่ายกับห้างร้านขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช้วัตถุประสงค์ของรัฐบาล”
นั่นจึงเป็นที่มาของคำตอบว่า ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ภาครัฐจะดำเนินการจ่ายเงินในรูปแบบวงเงินช่วยเหลือผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือตลอดระยะโครงการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ จำนวน 5,400 บาท และกลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ จำนวน 5,600 บาท โดยวงเงินจะถูกโอนเข้ามาทุกๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
2.กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ผ่านการคัดกรองและได้รับสิทธิ์ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่าน g-Wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 64) จำนวน 7,000 บาท โดยกลุ่มนี้สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.นี้ และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
3.กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องยืนยันตัวตนผ่าน g-Wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก่อน จึงจะได้รับวงเงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.64) จำนวน 7,000 บาท โดยกลุ่มนี้สามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุกๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
ต้องบอกว่า “โครงการเราชนะ” มีทั้งความเหมือนและไม่เหมือนกับ “โครงการคนละครึ่ง” โดยในส่วนที่เหมือนกัน คือ ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ส่วนตรงที่ไม่เหมือนกันคือ โครงการคนละครึ่ง จะกำหนดวงเงินที่รัฐบาลจะร่วมจ่าย (Co-pay) สูงสุดไม่เกินวันละ 150 บาท ขณะที่โครงการเราชนะนั้น รัฐบาลยืนยันว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสะสมวงเงินช่วยเหลือและสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2564 ทำให้รูปแบบการจ่ายเงินจากภาครัฐจึงมีลักษณะเป็นการจ่ายรายสัปดาห์เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลาได้
อีกหนึ่งข้อสงสัย คือ แล้ววงเงินที่ได้รับจากรัฐบาลตาม “โครงการเราชนะ” ที่ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” นั้น จะนำไปใช้กับที่ไหนได้บ้าง? โดยผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราชนะ สามารถใช้วงเงินช่วยเหลือได้ที่ 1.ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 2.ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และ 3.ร้านค้าและผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเราชนะ แต่ที่พิเศษกว่า “โครงการคนละครึ่ง” คือ สามารถจำมาจ่ายค่ารถเมล์ของ ขสมก. รถร่วมฯ รถไฟฟ้า แท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซค์ได้ด้วย โดยร้านค้าและผู้ให้บริการที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-31 มี.ค.2564 เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” สำหรับใช้ในการรับ-จ่ายค่าบริการจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |