บรรยายภาพ : ห้องฉีดยาประหารชีวิตในเรือนจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ภาพจาก : กรมทัณฑสถานและการฟื้นฟูแคลิฟอร์เนีย / Public Doman
เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการประหารนักโทษปิดท้ายสมัยประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ถือเป็นการประหารนักโทษรายที่ 13 ภายใต้อำนาจรัฐบาลกลางในช่วงเวลาการเป็นผู้นำของทรัมป์ โดยการประหารทั้ง 13 รายเกิดขึ้นย้อนหลังไปประมาณ 6 เดือนเท่านั้น
นักโทษชาย “ดัสติน ฮิกส์” วัย 48 ปี ถูกตรวจพบเชื้อโควิด-19 ศาลจึงออกคำสั่งให้เลื่อนการประหารออกไปก่อนเนื่องจากเกรงว่าปอดของนักโทษอยู่ในสภาวะถูกทำลายและการประหารโดยการฉีดสารพิษอาจทำให้เขาทุรนทุรายคล้ายอาการสำลักน้ำ ทว่าอัยการเห็นแย้งจึงยื่นเรื่องไปยังศาลสูงสุดสหรัฐ และคณะตุลาการส่วนใหญ่ที่ทรัมป์เพิ่งแต่งตั้งเข้าไปก็ให้ไฟเขียวกับการประหาร
ฮิกส์ถูกฉีดสารพิษ “เพนโทบาร์บิทอล” เข้าสู่ร่างกาย เสียชีวิตในทัณฑสถานกลางเทอเร-โฮลต์ รัฐอินดีแอนา จากคดีฆาตกรรมสตรี 3 คนเมื่อ 25 ปีก่อนในมลรัฐแมรีแลนด์ แม้ว่ามลรัฐนี้จะยกเลิกโทษประหารไปแล้ว แต่จำเลยกระทำผิดในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตอำนาจรัฐบาลกลางซึ่งยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่
ผู้พิพากษาในคดีนี้ได้เคยกล่าวว่า คำตัดสินมีขึ้นด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อจำเลย เขาได้รับการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมแล้ว โทษประหารจากคณะลูกขุนเป็นไปอย่างเอกฉันท์จากอาชญากรรมร้ายแรงที่เขาก่อ ทั้งนี้คำพิพากษาให้ประหารชีวิตมีขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2000
ปลายเดือนมกราคม ค.ศ.1996 ในวัย 23 ปี ดัสติน ฮิกส์ และเพื่อนอีก 2 คน ชื่อวิลลิส เฮนส์ และวิคเตอร์ กลอเรีย ได้ขับรถตู้ไปรับสตรี 3 คนจากวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังอพาร์ตเมนต์ของฮิกส์ ในเมืองลอเรล มลรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งอยู่ติดกัน
ทั้ง 6 คนดื่มสุรา สูบกัญชาและฟังเพลงกันจนเกือบเช้า ก่อนสว่างฮิกส์ได้มีปากเสียงกับหนึ่งในบรรดาสตรีที่ร่วมวงเพราะฮิกส์ลวนลามเธอ สตรีผู้นั้นวิ่งเข้าครัวไปคว้ามีดมาขู่ฮิกส์ ด้านเฮนส์เห็นท่าไม่ดีก็พูดกล่อมให้เธอวางมีด ปรากฏว่าได้ผล
พวกเธอออกจากอพาร์ตเมนต์ไปพร้อมคำขู่ ฮิกส์มองจากหน้าต่างเห็นสตรีคนที่เขาลวนลามกำลังจดหมายเลขทะเบียนรถลงกระดาษสมุด เขากลัวภัยจะมาถึงตัวจึงขับรถตามพวกเธอไป เฮนส์เป็นคนบอกให้พวกเธอขึ้นรถเพื่อจะพากลับไปส่งที่วอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งพวกเธอก็ยินดี แต่ฮิกส์ขับรถเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพทักเซนต์ มลรัฐแมรีแลนด์ เมื่อถึงจุดเปลี่ยวก็จอดรถ
สตรีคนหนึ่งถามขึ้นว่า “จะให้พวกเราเดินกลับบ้านจากตรงนี้หรืออย่างไร” ฮิกส์ตอบว่า “ประมาณนั้นแหละ” พวกเธอลงจากรถ ขณะที่ฮิกส์ยื่นปืนพกขนาด .38 ให้กับเฮนส์ ฝ่ายเฮนส์ก็ลงจากรถก่อนลั่นไกปลิดชีวิตทั้ง 3 คนทันที
ตำรวจพบสมุดจดบันทึกของหนึ่งในผู้ตาย ระบุชื่อเล่นของฮิกส์ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และหมายเลขทะเบียนรถตู้ของเขา จึงไม่ง่ายที่จะตามตัวและจับกุมมาดำเนินคดี ฮิกส์ปฏิเสธข้อหาตลอดมาจวบจนวาระสุดท้ายของเขา
แม้ฮิกส์จะไม่ใช่ผู้ยิงทั้ง 3 คนเสียชีวิต แต่คณะลูกขุนมองว่าเขาเป็นคนมีบทบาทนำในการสังหาร ส่วนเฮนส์มือลั่นไกคณะลูกขุนลงคะแนนไม่เป็นเอกฉันท์สำหรับโทษประหาร โทษจึงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ด้านวิคเตอร์ กลอเรีย ยอมรับผิดตั้งแต่ต้น อีกทั้งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีในระหว่างการสืบสวนสอบสวน ได้รับโทษจำคุก 7 ปี ต่อมาได้รับการลดหย่อนเหลือ 5 ปี ออกจากคุกมานานแล้ว
แรงจูงใจในการสังหารนั้นได้รับการเปิดเผยจากนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำเดียวกับเฮนส์ ว่านอกจากเรื่องกลัวการเอาคืนจากสตรีทั้งสามแล้ว ยังมีเรื่องที่ทั้งพวกเธอติดหนี้ฮิกส์จากการซื้อขายยาเสพติด โดยนอกจากคดีฆาตกรรมแล้ว ฮิกส์ยังโดนคดีครอบครองโคเคนไว้เพื่อจำหน่าย ศาลตัดสินจำคุก 17 ปี
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ห้ามโทษประหารชีวิต ในการแก้ไขครั้งที่ 8 เมื่อปี ค.ศ.1791 ระบุไว้แต่เพียงว่ารัฐบาลกลางต้องไม่กำหนดโทษที่โหดร้ายทารุณและผิดปกติวิสัยเกินกว่าอาชญากรรมที่จำเลยได้ก่อไว้ กระทั่งปี ค.ศ.1972 คดีปล้นฆ่าของ “วิลเลียม เฟอร์แมน” ในมลรัฐจอร์เจีย มีคำพิพากษาออกมาให้ประหารชีวิตจำเลย ทว่าที่ประชุมของศาลฎีกาประจำมลรัฐมีความเห็นออกมา 5 ต่อ 4 เสียง กำหนดให้โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่โหดร้ายทารุณ เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ ทำให้จำเลยในคดีดังกล่าวไม่ต้องถูกประหาร อีกทั้งยังส่งผลไปถึงทุกมลรัฐของสหรัฐที่ไม่มีการประหารเกิดขึ้นนับจากนั้น นักโทษประหารได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตกันถ้วนหน้า
แต่แล้วในปี ค.ศ.1976 ศาลมลรัฐจอร์เจียได้ตัดสินโทษประหารชีวิต “ทรอย เกรก” ในคดีปล้นและฆ่าเจ้าทรัพย์ 2 คน การประชุมของศาลสูงสุดสหรัฐมีมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้ศาลจอร์เจียดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ทันได้มีการประหาร เกรกแหกคุกพร้อมกับนักโทษอีก 3 คน แต่หลังจากเป็นอิสระได้แค่วันเดียวเขาก็เสียชีวิต มีผู้พบศพในแม่น้ำแห่งหนึ่ง สาเหตุการตายสันนิษฐานได้ 2 ทาง คือหลังจากแหกคุกสำเร็จเขาได้ไปดื่มในบาร์แห่งหนึ่งจนเมามายและพยายามทำร้ายสาวเสิร์ฟ จนแก๊งมอเตอร์ไซค์ทนไม่ไหวทุบเขาจนตายแล้วเอาศพไปทิ้งน้ำ อีกข้อสันนิษฐานคือเขาทะเลาะและต่อสู้กับพวกที่แหกคุกไปด้วยกันจนถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้สามนักโทษที่เหลือถูกจับได้ในอีก 3 วันต่อมา แต่คดีฆ่าเกรกไม่ถูกตั้งข้อหาเพราะไร้หลักฐานสาวไปถึงพวกเขา
นักโทษที่ถูกประหารเป็นคนแรกหลังการหยุดชะงักไปคือ “แกรี กิลมอร์” ในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1977 จากคดีปล้นฆ่า 2 วันซ้อนในมลรัฐยูทาห์ เขาไม่ใช้สิทธิ์ขออภัยโทษหรืออุทธรณ์ใดๆ หนำซ้ำยังบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องการถูกประหาร จึงถูกยิงเป้าสมใจ
ในปีเดียวกันนั้น ศาลฎีกามลรัฐจอร์เจียได้มีคำตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า คดีข่มขืนสตรีที่ไม่ใช่ผู้เยาว์จะไม่ต้องโทษประหารชีวิต ต่อมาปี ค.ศ.2002 ศาลมลรัฐเวอร์จิเนียมีคำตัดสินว่าการประหารนักโทษที่พิการทางสติปัญญาขัดกับรัฐธรรมนูญ และในปี ค.ศ.2005 ศาลมลรัฐมิสซูรีตัดสินว่าโทษที่โดยทั่วไปต้องถูกประหาร แต่หากจำเลยกระทำในขณะที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีจะไม่ต้องรับโทษประหาร ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลสูงสหรัฐเห็นด้วยและให้ถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ในปี ค.ศ.2008 ศาลมลรัฐลุยเซียนามีมติ 5 ต่อ 4 ระบุว่าโทษประหารชีวิตของจำเลยในคดีที่ไม่เกี่ยวกับการฆาตกรรมผู้อื่นให้ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ข่มขืนผู้เยาว์ก็ได้ประโยชน์ในมติดังกล่าวไปด้วย
เรื่องโทษประหารชีวิตในสหรัฐเป็นประเด็นทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่าครั้งไหนเมื่อมีการดีเบตกันระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1988 ระหว่าง “จอร์จ บุช” ผู้พ่อ จากพรรครีพับลิกัน กับ “ไมเคิล ดูคาคิส” จากพรรคเดโมแครต ผู้ดำเนินรายการถามดูคาคิสว่า “หากภรรยาของท่านถูกฆ่าข่มขืน ท่านต้องการให้ประหารผู้ลงมือหรือไม่?” เขาตอบว่า “ไม่ ผมคิดว่าคุณก็รู้ ตลอดชีวิตผมไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหาร ผมไม่คิดว่าจะช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้ มันมีทางอื่นอีกมากมายที่จะจัดการกับเรื่องนี้”
เป็นที่ทราบกันดีว่า “จอร์จ บุช” ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง คนทั่วไป ฝ่ายเดโมแครต และดูคาคิสเองก็ยอมรับว่าคำพูดของเขาเกี่ยวกับเรื่องโทษประหารชีวิตในการดีเบตครั้งนั้นถือเป็นการเริ่มต้นของจุดจบในการรณรงค์หาเสียง อีก 4 ปีต่อมา “บิล คลินตัน” จากพรรคเดโมแครตได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยในระหว่างการหาเสียงเขากล่าวเห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิต
หลังคดี “วิลเลียม เฟอร์แมน” ในปี ค.ศ.1972 มี 11 มลรัฐที่จัดให้มีการทำประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับโทษประหารชีวิต ปรากฏว่าทั้ง 11 มลรัฐผลออกมาเหมือนกันคือให้คงโทษประหารชีวิตไว้
สหรัฐอเมริกาในเวลานี้มี 22 มลรัฐ รวมถึงวอชิงตัน ดี.ซี. และเปอร์โตริโก (ดินแดนของสหรัฐ) ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นรัฐทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
ระหว่างปี ค.ศ.1976 จนถึงปัจจุบัน มีการประหารนักโทษในสหรัฐไป 1,529 ราย แยกเป็นยิงเป้า 3 ราย แขวนคอ 3 ราย ให้ดมแก๊ส 11 ราย ช็อตด้วยไฟฟ้า 163 ราย และฉีดยาให้ตาย 1,349 ราย การประหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐทางใต้ มลรัฐเทกซัสมากสุดที่ 576 ราย หลังปี ค.ศ.1999 ตัวเลขการประหารลดลงอย่างมาก จนเหลือเพียงแค่ 17 รายในปีที่แล้ว
สำหรับโทษประหารที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกลางสหรัฐได้ว่างเว้นไปถึง 17 ปี กล่าวคือยังคงมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ไม่มีการกำหนดวัน กระทั่งกลางเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปลดล็อกให้นำนักโทษประหารมาขึ้นตะแลงแกง 4 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย “แดเนียล ลูวิส ลี” จากมลรัฐอาร์คันซอ มือฆ่า 3 ศพ รวมทั้งเด็ก 8 ขวบ, “เวสลีย์ เพอร์คี” จากมลรัฐแคนซัส คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 16 ปี และคุณยายวัย 80 ปี, “ดัสติน ลี ฮองเกน” มือสังหาร 5 ศพในมลรัฐไอโอวา ในนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย 2 คน และ “คีธ เนลสัน” คดีลักพาตัวเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ขณะกำลังเล่นโรลเลอร์เบลดหน้าบ้านตัวเองในมลรัฐแคนซัสไปข่มขืนในป่าหลังโบสถ์แห่งหนึ่งก่อนรัดคอเหยื่อด้วยเชือกจนเสียชีวิต
ก่อนนี้เมื่อปี ค.ศ.2014 เกิดกรณีการประหารด้วยการฉีดสารพิษที่ไม่รัดกุม หรือสร้างความทรมานให้นักโทษก่อนสิ้นใจตาย ทำให้ “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีขณะนั้นออกคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมทบทวนและปรับปรุงการประหารด้วยการฉีดสารพิษ
อัยการสูงสุดสหรัฐได้กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วว่า บัดนี้หน่วยงานของเขาได้ปรับปรุงและทดสอบตัวยาจนเสร็จสมบูรณ์ ยกเลิกการผสมตัวยา 3 ชนิด เปลี่ยนเป็นใช้ยาตัวเดียว นั่นคือ “เพนโทบาร์บิทอล” นอกจากใช้กับนักโทษประหารในคดีที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางแล้ว ก็ยังใช้ในระดับมลรัฐด้วย อาทิ จอร์เจีย มิสซูรี และเทกซัส
โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวไว้หลายครั้งเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต โดยเขาเชื่อว่าโทษประหารเป็นตัวยับยั้งอาชญากรรมร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับการก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะการกราดยิงฝูงชนและการสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีคนใหม่มีแนวคิดที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับสหพันธรัฐ หรือรัฐบาลกลาง และเคยกล่าวว่าจะทำงานกับสภาคองเกรสในเรื่องนี้
ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ “แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล” ที่ได้ประณามทางการไทยอย่างรุนแรงกรณีประหารนักโทษรายแรกในรอบ 9 ปี (เมื่อเกือบ 3 ปีก่อน) ระบุในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “...รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใดๆ ก็ตามที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง…” พวกเขาเองก็คัดค้านโทษประหารชีวิตในสหรัฐมาเป็นเวลายาวนาน
และไม่ประสบผลสำเร็จเสียที.
////
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |