เห็นร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธาน เมื่อวันอังคารที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ต้องบอกว่าครอบคลุมและกว้างขึ้น ซึ่งหาก ก.ตร.เข้มงวดจริงจัง ตำรวจ ทุกระดับจะได้รับความเป็นธรรม และประโยชน์จะตกไปถึงประชาชน เพราะตาม กม.กำหนดให้ ก.ตร.ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจและกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐาน การบริหารงานบุคคลของข้าราชการ ตำรวจ และจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจของผู้บังคับบัญชาทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎ ก.ตร.โดยเคร่งครัด ตลอดจนดูแลการเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการตำรวจไปให้สถานีตำรวจให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ และกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ ๐
โครงสร้างของ ก.ตร.ยังมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง ณ ปัจจุบันคือ บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รวมทั้งมี รอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการ ก.พ., อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย รวมทั้งกำหนดห้ามผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดสั่งการ ข่มขู่ หรือชักจูงด้วยประการใดๆ เพื่อให้เลือกหรือมิให้เลือกผู้ใดผู้หนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่ง ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ โดยปราศจากการครอบงำหรือการแทรกแซง ๐
ต้องยอมรับภาพพจน์ ตำรวจ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ดำดิ่งลงกว่าเดิมอีกอักโข หลังปล่อยให้มีบ่อนการพนันเกลื่อนภาคตะวันออก อันเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตำรวจ ก็เป็นทัพหน้าในการตั้งด่านร่วมกับสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง ในการป้องกันการเคลื่อนย้ายของกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้ ตำรวจ ที่ทำหน้าที่ประจำด่านโควิดก็มีความเสี่ยงไปด้วย การที่ พ.ต.อ.อชิรวิทย์ ทองจันดี ผกก.สน.แสมดำ จัดทำประกันสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 ให้ "ลูกน้อง" โรงพักแสมดำทุกนาย ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ โดย พ.ต.อ.อชิรวิทย์ บอก "สุขภาพและสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตำรวจ สน.แสมดำ ทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ จึงได้จัดทำประกันสุขภาพให้แก่ตำรวจทุกนาย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป"...ได้ยินหัวหน้าหน่วยเป็นห่วงลูกน้องแล้วชื่นใจ ๐
คดีนี้ต้องปรบมือดังๆ ให้ บิ๊กหมู-พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้การกองปราบ ที่สั่งให้ พ.ต.อ.พงศ์ปณต ชูแก้ว ผกก.6 บก.ป. พร้อม พ.ต.ท.วริศร มัจฉา สว.กก.6 บก.ป. ไปจับกุมแก๊งแต่งกายคล้ายตำรวจ แสดงตัวเป็นสารวัตร ไปบีบบังคับ ขู่เข็ญผู้ประกอบการ พ่อค้า ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้ ให้ซื้อบัตรชมกิจกรรมคอนเสิร์ตจำนวนมาก เพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี จนสร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เพราะมิจฉาชีพที่ชอบอ้างเป็นตำรวจขายบัตรการกุศลต่างๆ มีจำนวนมาก และสร้างความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง แม้การจับกุมแก๊งนี้อาจไม่สามารถทำให้พวกมิจฉาชีพเหล่านี้หมดไป แต่ก็เป็นการขู่! ว่าตำรวจเอาจริง ไม่ปล่อยให้พวกหากินบนความเดือดร้อนของชาวบ้านลอยนวล สมกับการเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ๐
การเมืองส่งสัญญาณชัดในการตรวจสอบการปฏิรูปกองทัพอย่างต่อเนื่อง ยิ่งใกล้วันอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเริ่มตั้งคำถามถึงความคืบหน้าในการสังคายนาองค์กรทหารหนาหูขึ้น อีกทั้งวันที่ 8 ก.พ. จะครบรอบเหตุการณ์กราดยิงโคราช ต้นตอการเปิดเผยขยะใต้พรมกองทัพ จนทำให้ บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ต้องออกมาขยับรับฟังกระแสสังคม และประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาในกองทัพที่หมักหมมในมุมต่างๆ จนกระทั่งวันกองทัพไทยปี 2564 ทีมโฆษกกองทัพบกแถลงผลงานในรอบ 1 ปี ก็ยังมีสื่อถามความคืบหน้าในเรื่องการปฏิรูปกองทัพอย่างเกาะติด เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวยังติดอยู่ในความทรงจำของคนในสังคม จน บิ๊กบี้-พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ได้สั่งให้รวบรวมความคืบหน้าของคณะกรรมการที่ทำงานในเรื่องดังกล่าว ให้ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะโฆษกกองทัพบก และทีมงานจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้
แต่ก่อนจะมีการแถลงเรื่องดังกล่าว ในสัปดาห์หน้าทีมงานโฆษก ทบ.จะมาแถลงรายละเอียดโครงการ รับสมัครทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อให้ ผู้ที่ต้องการรับราชการและมีความสามารถสอดคล้องตามคุณลักษณะของแต่ละหน่วยเข้ารับราชการทหารให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งหรือหน่วยที่เหมาะสม กับขีดความสามารถตน ใกล้ที่พักอาศัย (แต่ไม่ยึดติดกับภูมิลำเนาทหาร) รวมถึงการได้งานมีรายได้ที่พอเพียงในภาวะปัจจุบันที่หางานทำได้ยาก เพื่อลดยอดใบแดง หรือการเป็นทหารแบบไม่สมัครใจให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลยในอนาคตอันใกล้ โดยการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ (กลุ่มอายุ 18-20, 22-29 ปี) ที่ปรับปรุงใหม่พร้อมสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ โดยจะเปิดรับสมัครวันที่ 1-28 ก.พ.64 และจะทำการคัดเลือกที่มณฑลทหารบก (มทบ.) ทั้ง 35 แห่ง ในแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.64 และประกาศผลการคัดเลือก 6-7 มี.ค.64 และ ส่งตัวเข้าหน่วย 1 พ.ค. 64
หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ฮือฮากันไปพักใหญ่เรื่องที่ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. พลิกมุมนโยบายของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนเก่า ในเรื่องโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ แถมมีข่าวร้อนๆ ว่าเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางการวางตัว ผบ.ทอ.คนใหม่ ที่เปลี่ยนไปจากสัญญาใจเดิม ผ่านไปซักพักสถานการณ์กลับเข้าสู่ความสมานฉันท์ คลื่นลมที่ทุ่งดอนเมืองสงบลง แนวทางในการต่อยอดและพัฒนากองทัพในแบบฉบับที่ต้องวางรากฐานในการพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองก็เริ่มเดินหน้าชัดขึ้น อย่างงานวิจัยพัฒนาระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก Anti Drone Jammer ที่ "บิ๊กแอร์" ไปตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้า นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนภารกิจ ทอ.ของสายวิทยาการสรรพาวุธ และสิ่งประดิษฐ์สนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ที่กรมสรรพาวุธทหารอากาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมสั่งการให้ พล.อ.ท.เกตุไผท ศรีบุญญเกษ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และทำการขยายผลเพื่อสนับสนุนภารกิจกองทัพอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ พล.อ.อัครเดช บุญเทียม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก อดีตแม่ทัพน้อยที่ 2 ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ด้วยโรคมะเร็ง ทั้งนี้ ศพของผู้วายชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ในช่วงวันที่ 22-24 มกราคม 2564 โดยเจ้าภาพกำหนดประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก สาขากองทัพภาคที่ 2 วัดสุทธจินดาวรวิหาร อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค.64 มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เดินทางมาเป็นประธานในพิธี และวันที่ 27 ม.ค.64 เวลา 16.00 น. พิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยมี ผบ.ทบ.เป็นประธานในพิธีเช่นกัน ๐
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |