ยกเลิก 112 จะเป็นคุณ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


เพิ่มเพื่อน    

 

ปฏิรูปสถาบัน-ยกเลิก 112 ภารกิจที่ต้องเดินต่อ คณะก้าวหน้า

             ทุกก้าวย่างทางการเมืองของ "คณะก้าวหน้า" โดยการนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล สองอดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ล้วนอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากับการออกมาให้ความเห็นของธนาธรเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ที่กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดทั้งสัปดาห์ ส่วนจังหวะขยับของคณะก้าวหน้าจากนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร มาติดตามกัน

            "ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่" บอกเล่าถึงแนวทางการเมืองของคณะก้าวหน้าไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการทำงานทางความคิดในการเสนอแนวทาง "การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112" โดยเขาย้ำว่า ต่อจากนี้ไปคณะก้าวหน้าจะยังคงยืนยันเดินหน้าทำงานทางการเมืองต่อไป โดยในปีนี้จะมีงานอยู่สองเรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  แต่คณะก้าวหน้าก็ตั้งใจจะทำกันใหม่ในการเลือกตั้งระดับเทศบาลที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ แต่หากไม่ได้อีกก็ไม่เป็นไร ก็จะทำแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ โดยปี 2564 ตลอดทั้งปีคณะก้าวหน้าจะเตรียมเรื่องการเลือกตั้งระดับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะมีขึ้นต่อไป

            ส่วนที่สองผมจะเข้าไปรับผิดชอบโดยตรง คือการทำงานทางความคิด หลังจากปี 2563 ได้ทดลองเปิดลักษณะเป็นโรงเรียนการเมือง แต่เราให้ชื่อว่า common school ก็จะทำต่อ เพราะเราเชื่อว่าการทำงานการเมือง การเอาชนะกันทางการเมือง มันไม่ใช่แค่ยกมือโหวตเอาชนะกันในสภาหรือว่ามีส.ส.กันจำนวนเท่าใด แต่ต้องมีการเปลี่ยนความคิดทางการเมือง เปลี่ยนความคิดของผู้คน ตอนนี้ผมก็ยกร่างหลักสูตรไว้เพื่อบรรยายออนไลน์ประมาณ 50 ชั่วโมง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาฟังได้หมด รวมถึงต่อไปจะเดินทางไปรณรงค์ทางความคิดทั่วประเทศกับนิสิต นักศึกษา ที่จะเป็นการรณรงค์ในประเด็นสำคัญๆ เช่น เรื่องของรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เราจะทำในปี 2564 คือการเลือกตั้งท้องถิ่นและการทำงานทางความคิด

            ในบทสนทนา "ดร.ปิยบุตร" บอกว่า การทำงานเกี่ยวกับความคิดสิ่งที่จะรณรงค์จะประกอบด้วย 1.รัฐธรรมนูญ 2.การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.การปฏิรูปกองทัพ โดยเมื่อโฟกัสไปที่เรื่อง "การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ดร.ปิยบุตรพูดไว้โดยละเอียดว่า การทำความคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเมื่อมองไปที่การชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2563 มีการผลักเพดานในแง่ของการที่ทำให้เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่มันถูกวางไว้อยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ม็อบนำไปพูดแล้ว แล้วจะจัดการตรงนี้อย่างไร

            ...ประเด็นปัญหาคือ เรื่องที่แหลมคมอย่างเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงทีเพียงแค่คนออกมาชุมนุม การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ ย่อมหมายความว่าคนในสังคมต้องเอาด้วย ที่ไม่ใช่แค่ 51 กับ 49 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าต้อง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ที่ตอนนี้มันยังไปไม่ถึง คืออาจจะมีบางคนเอาด้วยแต่ก็ไม่กล้าพูด หรือบางคนเอาด้วยเล็กน้อยแต่หากแรงไปก็ไม่เอา แล้วก็อาจมีบางคนไม่เอาเลย และก็อาจมีบางคนบอกไว้ทีหลัง มันมีหลายแบบ ดังนั้นต้องเข้าไปทำความคิดให้เป็นเอกภาพมากขึ้น เพื่อให้อย่างน้อยเกิดเป็นฉันทมติร่วมกันของสังคม ว่าการที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ หากมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้น ที่ก็จะได้ทั้งสองเรื่อง คือหนึ่งได้ประชาธิปไตย สองได้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยั่งยืนอยู่ต่อเนื่องต่อไป

            ...เรื่องแบบนี้ต้องเข้าไปทำงานทางความคิด ตั้งใจว่าจะพยายามสื่อสารไปที่ทั้งกลุ่มคนกลางๆ กลุ่มที่เห็นด้วยบ้างกับการชุมนุมและรวมถึงคนที่ไม่เห็นด้วยเลย เพื่อให้เขาเห็นปัญหาและนี่คือการแก้ไขปัญหาระยะยาว แก้ไขทั้งหมดเพื่อรักษาสถาบันเอาไว้ด้วยพร้อมกับการให้มีประชาธิปไตย ผมก็เชื่อว่าคนที่เป็นรอยัลลิสต์มีเหตุมีผล เขาก็จะนำไปขบคิดมากขึ้น

            -ที่เคยบอกว่าสมัยตั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคไม่ได้มีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้พรรคเดินต่อไปได้ จนเป็นแผลในใจ ถ้าเช่นนั้นเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ไข 112 ในปีนี้จะเป็นอย่างไร และเพราะเหตุใดถึงต้องแก้ไขมาตรานี้?

            ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักวิชาการ ผมก็เห็นปัญหาของเรื่องคดีอาญาของมาตรานี้มาตลอด ยอมรับว่าตอนที่ริเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เพื่อให้พรรคได้ไปต่อ เพื่อให้พรรคได้รับการเลือกตั้ง เพื่อขจัดอุปสรรคในการเดินงานในพื้นที่ต่างๆ  และเพื่อให้คนทำงานเขาสามารถเดินหน้าทำงานได้โดยไม่ติดปัญหาจากตัวผม เลยยอมหยุดเรื่องนี้ไป แต่สถานการณ์ ณ  วันนี้มันเปลี่ยนไปจากเมื่อสองปีที่แล้วเยอะมาก แต่ขณะเดียวกันปัญหาของมาตรา 112 ยังคงมีอยู่

            ปัญหาของมาตรา 112 ก็เช่น การที่ไปอยู่ในหมวดของความมั่นคงของราชอาณาจักร ในขณะที่ฐานของเนื้อหาความผิดในมาตรานี้เป็นเรื่องการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น เป็นเรื่องความผิดต่อเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล แต่ของประเทศไทยมีการนำเรื่องการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ไปไว้ในเรื่องความมั่นคง คือดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเป็นเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง แต่ถ้าดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องความมั่นคงของราชอาณาจักร

            การวางไว้แบบนี้ทำให้กระบวนการยุติธรรมเล็งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่..พูดง่ายๆ ต้องจับ ไม่ให้ประกัน อย่างที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยหลังปี 2553 บางคนขอประกันหลายครั้งก็ไม่ได้  เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นขอประกันตัวร่วม 13  ครั้งแต่ไม่ได้รับการประกันตัวเลย เพราะมาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือหากได้ประกันก็มีเงื่อนไขเยอะ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมันไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาทสถาบัน กระทบต่อราชอาณาจักร อันนี้พอฟังได้ แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ รธน. พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท มันไม่ได้กระเทือนต่อราชอาณาจักร เพราะราชอาณาจักรยังอยู่

            ...Logic เทียบเคียงง่ายๆ หากกระทบกระเทือนต่อราชอาณาจักรจริง ที่ไปดำเนินคดีกันไม่รู้กี่คดีแล้ว แต่ราชอาณาจักรก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยเนื้อหาความผิดในมาตรานี้จึงไม่ได้กระทบกระเทือนต่อราชอาณาจักร จึงควรย้ายหมวดมันออกมา รวมถึงเรื่องอัตราโทษของมาตรา 112  ที่มันสูงมาก คือโทษจำคุก 3-15 ปี มันเป็นอัตราโทษที่สูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก เพราะสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เราบอกพระมหากษัตริย์เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐรัฐนั้น แต่โทษกลับน้อยกว่าสมัยปัจจุบัน ซึ่งโทษแบบนี้ทำให้เป็นการบีบบังคับผู้พิพากษาด้วย  เพราะถ้าเป็นความผิดฐานอื่นจะไม่มีโทษขั้นต่ำ บางทีผู้พิพากษามีเมตตาก็ให้ติดคุกสัก  7-15 วัน หรือ 1-2 เดือนก็ได้ แต่ 112 ถึงคุณจะเมตตายังไง แต่ต้องตัดสินลงโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปีเพราะเป็นโทษขั้นต่ำ  ไปแก้ไขโดยปรับโทษจำคุกลงมาก็ได้ รวมถึงไม่มีเหตุยกเว้นความผิดให้ด้วย เพราะหากหมิ่นประมาทในเรื่องอื่น แต่พูดกันแล้วมันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ติชมโดยสุจริต ก็มีเหตุยกเว้นโทษได้ ที่สำคัญมาตรา 112 ทำให้ใครก็ตามไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจได้หมด จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนนำมาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน

            ผมจึงเห็นไปไกลว่าถึงเวลาแล้วที่จะมาร่วมพูดคุยกันว่า  เสรีภาพในการแสดงออกที่มนุษย์มีเรื่องนี้ แต่เมื่อแสดงออกไปแล้วไปกระทบกับผู้อื่นทำให้เขาเสียหาย โทษของมันควรเป็นโทษอย่างไร ควรต้องคิดทั้งระบบเลยว่าตั้งแต่ประมาท ดูหมิ่นประมุขของรัฐ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ศาล เจ้าพนักงาน ทูต และประชาชนคนธรรมดา ทั้งหมดข้างต้นหากมีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกัน เอาออกจากโทษอาญาได้หรือไม่ แล้วให้ไปว่ากล่าวกันเอง ที่ก็คือไปเรื่องของทางแพ่ง ซึ่งหลายประเทศทำแล้ว แต่การให้เรียกค่าเสียหายกันเองก็ต้องมีข้อยกเว้นด้วย เช่นหากถูกฟ้องว่าหมิ่นประมาท แต่เป็นการติชมโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ แบบนี้ต้องยกเว้นความผิดให้ได้เช่นเดียวกัน 

มาตรา 112 ในวันที่เป็นกระสุนด้าน

            "ปิยบุตร" กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องมาตรา 112 ผมกังวลใจไปมากกว่านี้อีก เพราะเรื่องนี้พัวพันกับสถานการณ์การเมืองเวลานี้ คือผมกำลังมองว่าการใช้มาตรา 112 ในเวลานี้ มันกำลังอยู่ในสภาพที่จากที่ช่วงหนึ่งเคยหยุดไม่ใช้ แต่ช่วงนี้นำกลับมาใช้แล้วก็ใช้กันแบบไม่เป็นเอกภาพ ไม่เหมือนยุคก่อนที่พอเริ่มแล้ว ตำรวจ อัยการ ศาลก็ follow กันเป็นชุดๆ  เรื่องคนโดนดำเนินคดีแล้วจะขอประกันตัวอย่าไปหวัง แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามันไม่เป็นเอกภาพ คือตำรวจตั้งข้อกล่าวหาแบบกวาดเอาไว้ แล้วพอยื่นเรื่องไปที่ศาลก็จะบอกว่าให้แค่ออกหมายเรียกมา ไม่ต้องออกหมายจับ หรือพอเรื่องส่งไปถึงศาล ทางศาลก็ให้ประกันตัว ที่ไม่เหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่ตำรวจ อัยการ ศาลเป็นเอกภาพมาก เรียกได้ว่าหากโดนมาตรา 112  บางคนบอกเตรียมไปอยู่ที่อื่นได้เลย หรือไม่ก็ตัดสินใจรับสารภาพ แล้วยอมเข้าคุกเพื่อรอการอภัยโทษออกมา แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลุ่มนิสิต นักศึกษา เยาวชนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ผมไม่เห็นเขากังวลใจกันเลย เจอกันกี่คดีก็ยิ้มร่าเหมือนกับเป็นเกียรติยศด้วย แสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายที่สะเปะสะปะมั่วๆ แบบนี้ ใครจะไปคิดว่า มาตรา 112 ณ พ.ศ.2563-2564 มันเป็นกระสุนด้าน ไม่เหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วตอนปี พ.ศ.2553-2554

            ผมขอถามไปถึงคนที่จงรักภักดี คนที่เป็นรอยัลลิสต์ ผมถามว่าคุณคิดจริงๆ หรือว่าการใช้มาตรา 112 มากเท่าไหร่จะยิ่งรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มากเท่านั้น ความเห็นผมคือไม่ใช่ คุณจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร ด้วยการที่บอกว่าประเทศนี้มีคนโดนดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นร้อยเป็นพันคน นี่คือการรักษาสถาบันหรือ ผมว่าไม่ใช่แน่การรักษาสถาบัน แต่คุณไปบอกว่าประเทศนี้สถาบันทรงพระเกียรติยศ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาต่อเนื่องยาวนาน มีคุณูปการความสำคัญต่อราชอาณาจักรไทย แต่อีกด้านหนึ่งมีคนโดนมาตรา 112 เป็นร้อยเป็นพัน แล้วคนโดนรอบนี้ดันเป็นเยาวชนของชาติหมดเลย ผมว่าสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีการรักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน

            ผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย การเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคนอาจบอกว่าขนาดตอนนี้ยังมีมาตรา 112 อยู่ยังเล่นกันขนาดนี้  แล้วหากไม่มีมาตรา 112 จะขนาดไหน ในทางกลับกันก็คือ ก็ยังมีเขายังไม่กลัวเลย แต่ในทางกลับกันถ้าไม่มีแล้วเขาเข้าใจจริงๆ ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการ อยู่กันด้วยเหตุด้วยผล อยู่กันตามระบอบประชาธิปไตย

            ...ผมกำลังอธิบายว่า กฎหมายไม่ได้ทำให้คนจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดี แต่คนจงรักภักดีได้คือสังคม ตำแหน่งแห่งที่บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และสมาชิกที่อยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ละยุคแต่ละสมัย สถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการปรับตัวมาทุกยุคสมัย ไม่ได้เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นการจงรักภักดีก็ดี การนิยมในสถาบันพระมหากษัตริย์ การช่วยกันรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ต่อไปก็ดี มันไม่ใช่อาศัยกฎหมายปราบปราม ใช้พระเดชไม่ได้ ต้องใช้พระคุณ

            ...มองประเด็นการใช้มาตรา 112 รอบนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มเยาวชน ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วเริ่มแบบนี้แต่แรก หากดูจากพัฒนาการของการชุมนุม ข้อเรียกร้องในการชุมนุมจะค่อยๆ ขยับ เช่นหลังพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ปฏิกิริยามันสวิงกลับทันที แล้วจากนั้นก็มีกรณีอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นุรักษ์ มาประณีต) ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีทันที หลังจากนั้นเกิดกรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์โดนอุ้ม มีกรณีทวิตเตอร์นิรนามโดนจับ

            บรรยากาศในทวิตเตอร์ตอนนั้นผมเฝ้าติดตามมาตลอด  ก็มีการพูดเรื่องสถาบันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มาไกลขนาดนี้ มันค่อยๆ มา แต่สังเกตดูจะพบว่ามามากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐ วันที่เขานัดชุมนุมกันวันแรกก็ไม่ได้มีคนมามากขนาดนี้ เขาเรียกร้องมาสามข้อ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ แต่เริ่มมีเอกภาพมากขึ้นและไปเน้นหนักในข้อสาม  (ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์) มากขึ้นหลังมีการสลายการชุมนุม โดยรัฐบาลไม่ได้ไยดีต่อข้อเรียกร้องของเขา และชัดเจนอย่างยิ่งว่า "กลุ่มชนชั้นนำ" ไม่ได้ฟังเขา

            ประเด็นนี้เรื่องใหญ่มาก คือเราจะทำอย่างไรไม่ให้สถาบันลงมากลายเป็นคู่ขัดแย้งเอง แต่ที่ผ่านมาแทนที่รัฐบาลจะช่วยบริหารจัดการในเรื่องข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมสามข้อ ว่าข้อไหนทำได้หรือไม่ได้ และบางข้อจะเริ่มทำอย่างไรได้ แต่ไม่รู้บริหารจัดการกันอย่างไร ทำให้เขาคิดกันไปแล้วว่าเขาเป็นคู่ขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมันไม่ได้เกิดโดยทันทีแต่มาตามช่วงเวลา

            ...อย่างหากผมเป็นรัฐบาลแล้วผมเจอกลุ่มน้องๆ เหล่านี้ มาเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่ทำได้ก็เช่น รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้มันก็ใช่เวลาในการพิจารณาอยู่แล้ว ผู้ชุมนุมเขาก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้มันไม่เกิดขึ้นภายในวันเดียว แต่อย่างน้อยคุณต้องมี response อะไรกลับไปบ้าง สำหรับผมหากคุณต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ ภายใต้ศตวรรษที่ 21 ภายใต้ที่มีเยาวชนของชาติที่มีเจเนอเรชันหนึ่งเต็มๆ ที่เขามองสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนคนรุ่นผมหรือคนรุ่นก่อนแล้ว คุณจะแก้ตรงนี้ยังไง จะแก้โดยปิดตามองไม่เห็นหรือ ซึ่งแบบนั้นมันแก้ไม่ได้ หรือจะแก้แบบตอนสมัยปี พ.ศ.2517-2519 ที่ไล่เขาไปอยู่ในป่าหรือ แต่ตอนนี้มันไม่มีป่าให้เข้าไปแล้ว ยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกันที่นี่ แผ่นดินนี้แผ่นดินเดียวกันแน่ๆ

            การต้องอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน ที่ต้องยอมรับว่าเขามีทัศนคติในการมองสถาบันพระมหากษัตริย์อีกแบบหนึ่งจริงๆ  ไม่เหมือนพวกเรา ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนเรา แล้วจะจัดการตรงนี้ยังไง จะปราบเขาหรือ จะเอาพวกเขาเข้าคุกไปเรื่อยๆ หรือ  และทำแล้วพวกเขาจะเปลี่ยนทัศนคติไหม ก็ไม่เปลี่ยน แต่จะยิ่งแรงขึ้นด้วยซ้ำ หรือจะใช้วิธีการแบบโฆษณาชวนเชื่อ คนรุ่นนี้เขาก็ยิ่งไม่เชื่ออีก มันเหลือทางเดียวคือต้องยอมว่าจะแก้เรื่องนี้กันอย่างไร ผมถึงพยายามพูดสื่อสารไปยังกลุ่มอนุรักษ์นิยม รอยัลลิสต์ตลอดเวลาว่า รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ ยิ่งต้องพูดเรื่องนี้ให้มันจบว่าจะเอากันยังไง เพราะคุณต้องยอมรับแล้วว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการพูดคุยแล้ว ว่าจะ reform วางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยอย่างไร

            ข้อเสนอทั้งหมด ผมยืนยันว่าผมทำเพื่อสองข้อเลยคือ  หนึ่ง-รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ต่อให้ได้ในสังคมไทยที่มีพลวัต มีความท้าทายเกิดขึ้น กับอีกข้อหนึ่งก็คือ  รักษาประชาธิปไตย คือการออกแบบ รธน. ออกแบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่จะสามารถรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และรักษาประชาธิปไตยซึ่งสามารถทำได้ แต่อยู่ที่ว่าสังคมไทยจะยอมรับในการพูดคุยเรื่องนี้หรือยัง ผมมองไปยังทิศทางของคนที่เขามีอำนาจในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ รัฐบาล และเสียงข้างมากในสภา เขาพยายามไม่แตะเรื่องนี้เลย ซึ่งการไม่แตะมันมีหลายแบบ บางคนไม่แตะแต่ลับหลังเขาพูด  บางคนไม่แตะแต่ลับหลังนินทา บางคนไม่แตะแต่บอกเอาใจช่วยแต่ตัวเองไม่กล้าทำ บางคนไม่แตะเพราะมองว่าช่วงชีวิตของฉันเรื่องนี้ยังไงก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ขออยู่ใน comfort  zone สะดวกสบายแล้ว profit กับอำนาจ

            ทั้งหมดเหล่านี้สำหรับผมคือการไม่มองระยะยาวของประเทศ แต่อยู่ดีๆ มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งออกมากล้าที่จะทำ ซึ่งเมื่อเขาทำมาแล้วคุณจะทำเป็นมองไม่เห็นก็ไม่ได้ แล้วพอไปปราบเขาโดยใช้ข้อหา 112 ก็ยิ่งเสีย เขาก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น

            ผมก็มองว่ามันเหลือทางเดียว ต้องยอมรับแล้วว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริงๆ เรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมาเปลี่ยนมาปฏิรูปกันไหม เพื่อให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษาประชาธิปไตยให้ได้ ให้มันเป็น  constitutional monarchy จริงๆ ที่ศตวรรษที่ 21 เหลือแค่ไม่กี่ประเทศที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีอยู่สองแบบคือ หนึ่ง-เป็นประชาธิปไตยแล้วรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์  หรือเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิฯ ไปเลยแบบตะวันออกกลาง  ซึ่งผมว่าคนไทยไม่เลือกแบบหลัง เขาจะเลือกแบบแรกมากกว่า

เตือนระวังเกิด anarchy revolution

            -การแก้ไขมาตรา 112 ต้องใช้เสียงข้างมากในสภา แต่ ส.ส.พรรครัฐบาลก็ไม่เอาด้วยแน่นอน รวมถึงฝ่ายค้านอย่าง เพื่อไทยก็ไม่เคยแสดงท่าทีในเรื่องนี้?

            องค์ประกอบทางการเมืองในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเสนอเข้าไปในสภาก็ไม่ผ่าน แต่ปัญหาคือหากเราไม่ชู้ตเลย เรื่องนี้มันก็ไม่เกิด แต่อย่างน้อยที่สุดการชู้ตเข้าไปในสภา  มันเป็นช่องทางในการรณรงค์ และเท่านั้นไม่พอ อย่างน้อยทำให้การชุมนุมเขามีความรู้สึกว่ามันก็ต้องมีอะไรบางอย่าง  คือเมื่อเขาเรียกร้องมาถึงจุดหนึ่ง แต่หากสถาบันการเมืองไม่เอาไปทำอะไรเลย ผมกังวลที่สุดเลยคือ อีกไม่นานภายในปี  2564 หากสถาบันการเมืองยังเฉย ยังทำเป็นมองไม่เห็นแบบเดิม อนาคตของประเทศ เยาวชนของชาติ เขาจะไม่สนใจไยดีกับรัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมือง กลไกรัฐทั้งหมด เขาจะมองข้ามไปหมด แล้วพอมองข้ามไปหมดมันจะไปจบที่ไหน  มันก็คือ anarchy (อนาธิปไตย) มันก็คือมันอาจไปสู่  revolution ก็ได้ หรืออาจไปสู่การโดนปราบกันหมด คือมันอาจออกมาแบบบอกไม่ถูกแล้ว แต่สถาบันการเมืองในระบบจะช่วยตรงนี้ได้ แต่ตอนนี้เสียงตอบรับจากการชุมนุมมันยังน้อยเกินไป

            ผมว่าคนเขาเข้าใจประเด็นนี้เยอะขึ้น แต่ที่มันทำให้การสื่อสารการทำความคิดกับคนแล้วมันเข้าใจกันยาก คือมันมีส่วนส่วนหนึ่งที่มีความสุข แฮปปี้ และต้องการให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแบบนี้เพราะเขาได้ประโยชน์ คือหากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย  คนเหล่านี้พูดกันตรงๆ เขาไม่รู้จะอยู่กันยังไง แล้วผมถามว่าระหว่างคนกลุ่มนี้ที่ได้ประโยชน์จากสถาบันที่อยู่ในสถานะแบบนี้ กับแบบผมที่ผมพยายามเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้อยู่กันยาวๆ แบบนี้ใครรักษาสถาบันกว่ากัน คนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะได้ประโยชน์จากสถาบันภายใต้โครงสร้างแบบนี้ คนกลุ่มนี้ไม่แน่นะ ถ้าประเทศไทยไปถึงสุดลูกหูลูกตาเลย คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะมาอยู่กับอำนาจใหม่ได้อีก หรือคนกลุ่มนี้อาจคิดว่าในช่วงชีวิตของฉันก็ตักตวงผลประโยชน์กันเต็มที่จากโครงสร้างแบบนี้

            สำหรับผมคิดคนละแบบ คือโจทย์จากศตวรรษที่ 21  โจทย์จากที่มีเยาวชนตั้งคำถามกับสถาบันแบบนี้แล้ว ซึ่งพวกเขาคนหนึ่งรุ่นที่ผมตีว่าคืออายุระหว่าง 15-30 ปี แล้วรุ่นหลังที่จะมาจะแรงกว่านี้อีก แล้วคุณจะอยู่กับโครงสร้างสังคมนี้ ให้คนรุ่นหลังอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในโครงสร้างแบบนี้ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ต้องมานั่งคิด แต่บังเอิญคนจำนวนมากมันเห็นแก่ตัวมากเกินไป เพราะเขาได้ประโยชน์จากโครงสร้างแบบนี้ แล้วคนหน้าตาแบบผมกลับโดนหาว่า "ล้มเจ้า" ตลอดเวลา

            -มีการมองกันว่าช่วงก่อนหน้านี้สถาบันก็มีการปรับตัว มีการออกพบประชาชน เป็นผลที่เกิดจากม็อบตอนปีที่แล้วหรือไม่?

            มีส่วนแน่นอน ชัดเจน คือหากสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งสัญญาณบางอย่างว่าพร้อมจะรับฟังการชุมนุม รับฟังพวกเขา บรรยากาศจะดีขึ้นเยอะ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีสัญญาณแบบนี้ออกมา

            -ที่บอกพร้อมจะออกไปทำงานความคิด ไปพูดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 อาจทำให้มีกลุ่มคนที่ต่อต้านออกมาเคลื่อนไหว?

            ผมพร้อมจะอภิปรายถกเถียงกับฝ่ายอนุรักษนิยม กลุ่มรอยัลลิสต์หมดเลย ผมคิดว่าวิธีการที่จะรักษาสถาบันในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ความท้าทายของเยาวชนอีกหลายรุ่นต่อจากนี้ที่เขาตั้งคำถาม มันเหลือทางเดียวเท่านั้นคือต้องปฏิรูป อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ต้องขบคิดก็คือ เราไม่รู้ว่า "ชนชั้นนำ" เขาคิดเรื่องนี้อย่างไร ผมก็มั่นใจว่าก็คงต้องมีบางส่วนที่ต้องคิดระยะยาวเหมือนกันแต่เสียงยังดังไม่พอ แต่ถ้าเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะช่วยประคับประคองกันได้.

 

                        โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

                                                                                ศิริรัตน์ บุรินทร์กุล

 

.............................................

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"