บุกคลังขอเยียวยา ลูกจ้างตาม‘ม.33’ โอดรัฐไม่เคยดูแล


เพิ่มเพื่อน    

 ลูกจ้างประกันสังคมบุกคลัง ยื่นหนังสือเรียกร้องหลังไม่ได้รับเงินเยียวยาเราชนะ แจง 11 ล้านคนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดือดร้อนถูกลดชั่วโมง-วันทำงาน รายได้ทรุด สวนทางหนี้-ค่าครองชีพพุ่ง โวยจ่ายภาษีให้รัฐ แต่พอมีปัญหากลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ

    เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2564 นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยสมาชิก เดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เพื่อขอให้เร่งเยียวยาลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 11 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ของรัฐบาลเป็นกรณีเร่งด่วน โดยมีตัวแทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังลงมารับมอบหนังสือ
    รองประธาน คสรท.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยกว่า 31.1 ล้านคน โดยให้เงินช่วยเหลือรายละ 3,500 บาท 2 เดือน รวม 7,000 บาท แต่ไม่ครอบคลุมถึงแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 กว่า 11 ล้านคน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 4 ล้านคน ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน บางรายถูกลดชั่วโมงและวันทำงาน ทำให้รายได้ลด แต่หนี้สินไม่ลด ค่าครองชีพสูงขึ้นต่อเนื่อง  
    “ผู้มีประกันสังคมกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย ทั้งๆ ที่จ่ายภาษีให้รัฐบาลทุกปี แต่พอมีปัญหารัฐบาลก็ไม่เคยช่วยเหลืออะไรเลย เพราะมองว่าเป็นผู้มีรายได้ประจำ และไม่ได้ตกงาน ขณะที่กระทรวงแรงงานรวมทั้งสำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ นอกจากปรับลดเงินสมทบ และจ่ายคืนในกรณีที่ตกงานเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรม”
    นายชาลีกล่าวว่า ขอให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือโดยเร่งด่วน 2 ข้อ คือ 1.กรณีลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ได้รับเงินเยียวยาตามมาตรการของรัฐบาล เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือนอย่างถ้วนหน้า และ 2.ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาด
      เขากล่าวว่า หากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะเริ่มแจกเงินเยียวยาในมาตรการเราชนะตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.นี้ ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมตัวไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือทั้ง ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามแนวนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลได้รับ ทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการกลุ่มผู้ส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการนำเข้าและส่งออก ว่าขณะนี้ได้รับผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะจากปริมาณการค้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ผู้ส่งออกเองก็ประสบปัญหาค่าระวางของการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในระยะยาว
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า เมื่อทราบปัญหาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณา กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบการประกอบกิจการในช่วงภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแนวทางช่วยเหลืออย่างเช่น การอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้เดิมสามารถเข้าเทียบท่าได้เพื่อขนส่งสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น การผ่อนปรนการเรียกเก็บค่าบริการท่าเทียบเรือ
    “กระทรวงพาณิชย์ได้สะท้อนปัญหาของผู้ส่งสินค้าทางเรือและผู้ส่งออกต่อที่ประชุม ครม. ล่าสุดนายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับติดตามการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” น.ส.ไตรศุลีกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"