ผ่านพ้นอย่างราบรื่น "โจ ไบเดน" สาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐในพิธีแบบนิวนอร์มอล ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาที่สุด โดยไร้เงา "โดนัลด์ ทรัมป์" กล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งเรียกร้องความเป็นเอกภาพและเยียวยาประเทศ เริ่มงานแรกด้วยการลงนามคำสั่งแก้ไขนโยบายที่สร้างความแตกแยกของทรัมป์ ผู้นำทั่วโลกแสดงความยินดีต่อไบเดนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ขณะที่ "ประยุทธ์" เชิญไบเดนและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเยือนกรุงเทพฯ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ของโจ ไบเดน ที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อช่วงเที่ยงของวันพุธที่ 20 มกราคม 2564 ตามเวลากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้รับการจับตาและลุ้นระทึกจากทั่วโลก สถานที่แห่งเดียวกันนี้เคยถูกผู้สนับสนุนทรัมป์และม็อบขวาจัดบุกเข้ามาก่อจลาจลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และทำให้ต้องระดมทหารจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ หรือเนชั่นแนลการ์ด กว่า 25,000 นายมาคุ้มครองความปลอดภัยใจกลางกรุง
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตคนอเมริกันแล้วมากกว่า 400,000 คน จากผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 24 ล้านคน ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมชมพิธีที่เนชั่นแนลมอลล์ซึ่งถูกแทนที่ด้วยธง 200,000 ผืน และแขกร่วมพิธีถูกจำกัดจำนวน โดยมีอดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งบารัค โอบามา, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบิล คลินตัน มาร่วมงานอย่างพร้อมหน้า ยกเว้นเพียงโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่อำลาตำแหน่งคนแรกในรอบ 152 ปี ที่ไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ อย่างไรก็ดี รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ มาร่วมในพิธีนี้ด้วย
ก่อนหน้าที่ไบเดนจะสาบานตนตามคำกล่าวของประธานศาลฎีกา จอห์น โรเบิร์ตส์ โดยวางมือซ้ายบนคัมภีร์ไบเบิลของครอบครัวที่ได้รับตกทอดมากว่า 100 ปี นางคามาลา แฮร์ริส ได้สาบานตนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยมีผู้พิพากษาซอนยา โซโตมายอร์ แห่งศาลฎีกาผู้เป็นตุลาการศาลฎีกาเชื้อสายลาตินแรก ทำหน้าที่กล่าวนำ ในขณะที่ไบเดนสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดด้วยวัย 78 ปี แฮร์ริสซึ่งมีเชื้อสายจาเมกา-อินเดีย ก็สร้างประวัติศาสตร์เช่นกันว่าเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ และเป็นคนผิวสีและคนเชื้อสายเอเชียคนแรกที่รับตำแหน่งนี้
ภายหลังกล่าวคำสัตย์สาบานว่าจะพิทักษ์รักษาและปกป้องรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ไบเดนได้กล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งความยาว 21 นาที ประกาศว่า วันนี้คือวันของประชาธิปไตย วันแห่งประวัติศาสตร์ และความหวังของการเริ่มต้นใหม่และความแน่วแน่ "ประชาธิปไตยเป็นสิ่งล้ำค่า ประชาธิปไตยนั้นเปราะบาง และชั่วโมงนี้ มิตรสหายทั้งหลาย ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะแล้ว" เขากล่าว
"เราจะเดินหน้าอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน เพราะเรามีภารกิจหลายอย่างต้องทำในฤดูหนาวแห่งภยันตรายและโอกาสที่สำคัญ มีหลายสิ่งต้องซ่อมแซม ต้องฟื้นฟู ต้องเยียวยา ต้องสร้างและต้องเพิ่มพูน"
สหรัฐยังเผชิญกับความท้าทายทั้งจากการโจมตีประชาธิปไตยและความจริง การระบาดของไวรัส, ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น, การเหยียดผิวอย่างเป็นระบบ, วิกฤติสภาพภูมิอากาศ บทบาทของอเมริกาในเวทีโลก ซึ่งไบเดนชี้ว่าทั้งหมดนี้ประดังประเดมาในเวลาพร้อมกัน
ไบเดนยังร้องขอโอกาสจากชาวอเมริกันอีกมากกว่า 74 ล้านคนที่ไม่ได้เลือกเขาว่า "ผมจะเป็นประธานาธิบดีสำหรับชาวอเมริกันทุกคน และผมสัญญากับพวกคุณว่า ผมจะต่อสู้อย่างหนักเพื่อคนที่ไม่ได้สนับสนุนผมในแบบเดียวกับคนที่สนับสนุนผม"
เขากล่าวถึงปัญหาที่เกาะกุมสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะคตินิยมหัวรุนแรงสุดโต่งทางการเมือง, กลุ่มเชิดชูคนขาวเป็นใหญ่, การก่อการร้ายภายในประเทศ ที่เราต้องเผชิญและต้องเอาชนะให้ได้
พิธีในวันนี้มีศิลปินชื่อดังมาร่วมคับคั่งต่างจากพิธีของทรัมป์เมื่อ 4 ปีก่อน เลดี้ กาก้า ทำหน้าที่ร้องเพลงชาติ มีเจนนิเฟอร์ โลเปซ นักร้องลาติน และการ์ธ บรูกส์ นักร้องคันทรี มาขับร้องเพลงด้วย อีกคนที่โดดเด่นในงานคืออะแมนดา กอร์แมน กวีสาววัย 22 ปี ที่ ดร.จิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนใหม่ เชิญมาอ่านบทกวีที่มีประโยคทองว่า ประชาธิปไตยไม่มีวันพ่ายแพ้อย่างถาวร
หลังพิธีสาบานตน ไบเดนไปร่วมพิธีวางพวงมาลาที่สุสานทหารนิรนามในสุสานแห่งชาติอาร์ลิงตันที่เวอร์จิเนีย พร้อมกับโอบามา, บุช และคลินตัน หลังจากนั้นขบวนของเขาร่วมพาเหรดสั้นๆ สู่ทำเนียบขาวในช่วงบ่าย โดยไบเดนลงจากลีมูซีนที่ถนนเพนซิลเวเนียแล้วเดินระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรเข้าสู่ทำเนียบขาว
ที่นั่น เขาลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร 15 ฉบับโดยไม่ยอมให้เสียเวลา เพื่อกำหนดแนวนโยบายใหม่และแก้ไขคำสั่งและนโยบายที่สร้างความขัดแย้งของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการออกคำสั่งบังคับให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ของรัฐบาลกลาง, ระงับการถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก, กลับเข้าร่วมสนธิสัญญาโลกร้อนปารีส และยุติการห้ามเดินทางเข้าสหรัฐของประชาชนในประเทศมุสลิมบางประเทศ
ไบเดนเปิดเผยกับนักข่าวที่ห้องทำงานรูปไข่ด้วยว่า ทรัมป์ได้วาง "จดหมายที่ใจกว้างมากฉบับหนึ่ง" ถึงเขาที่โต๊ะทำงาน แต่เขาไม่เปิดเผยเนื้อหาภายใน อ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
ด้านทรัมป์ ซึ่งไม่เคยยอมรับความพ่ายแพ้และกล่าวอย่างผิดๆว่าโดนโกงชัยชนะ อำลาจากทำเนียบขาวพร้อมกับนางเมลาเนียไม่กี่ชั่วโมงก่อนพิธี โดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์มารีนวันไปยังฐานทัพอากาศแอนดรูว์สเพื่อใช้บริการเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันครั้งสุดท้ายไปยังรีสอร์ตของเขาในรัฐฟลอริดา ทรัมป์ประกาศที่ฐานทัพว่าเขาจะกลับมาอีกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
บรรดาผู้นำประเทศทั่วโลกแสดงความยินดีกับไบเดนอย่างรวดเร็ว หลายชาติที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐแสดงความโล่งใจหลังจากต้องผจญกับ 4 ปีที่คาดเดาไม่ได้ในยุคของทรัมป์ที่เน้นวาระ "อเมริกาต้องมาก่อน" อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ยุโรปพร้อมแล้วสำหรับการเริ่มต้นใหม่
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกฯ บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, นายกฯ จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ซึ่งไบเดนจะคุยโทรศัพท์ด้วยเป็นคนแรกในวันศุกร์, นายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล, นายกฯ นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย, นายกฯ โยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่น, ประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้ และผู้นำของรัฐอ่าวอีกหลายประเทศ เป็นกลุ่มแรกๆ ที่แสดงความยินดีกับไบเดน
ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน แสดงความยินดีที่ "ทรราช" ทรัมป์พ้นจากตำแหน่ง และคาดหวังว่าไบเดนจะนำสหรัฐกลับคืนสู่กฎหมายและคำมั่นสัญญา ส่วนโฆษกรัฐบาลรัสเซียคาดหวังว่าสองประเทศจะมีความสัมพันธ์ที่ดี
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ส่งหนังสือแสดงความยินดีถึงนายโจเซฟ อาร์. ไบเดน จูเนียร์ ระบุตอนหนึ่งว่า ด้วยมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีมายาวนานกว่า 200 ปี และในฐานะประเทศหุ้นส่วนคู่สนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย ไทยมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของเรา ซึ่งพัฒนาผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ความเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน และความร่วมมือระหว่างกันที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเราทุกคนคือการหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมมือ ผมมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับท่านและรัฐบาลของท่าน เพื่อเสริมสร้างพลวัตของความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลก ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ ผมขอเรียนเชิญท่านและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เยือนกรุงเทพฯ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสได้ต้อนรับท่านในอนาคตอันใกล้นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |