เพื่อไทยร้อนรนหนัก ไม่พอใจ "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ เอาเวลาไปทำอีเวนต์ทางการเมืองที่สิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาของประเทศ อ้าง 4 ปีไม่เคยกระจายอำนาจ ขู่เลือกตั้งเมื่อไหร่เจอกัน "ภูมิธรรม" ยันก๊วนป๋าเหนาะไม่ถูกดูด ยังอยู่ครบทุกคน หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่เชื่อการเลือกตั้งปีหน้าจะเป็นการต่อสู้ของ 2 เครือข่ายใหญ่ ไม่เอากับเอา "บิ๊กตู่" คาดเงินสะพัดเป็นแสนล้าน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการลงพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อรับฟังการแก้ไขปัญหาประชาชน กำหนดประชุม ครม.สัญจรเดือนละ 1 ครั้ง และลงพื้นที่ 1 ครั้ง แต่ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองว่า การกระทำสำคัญกว่าคำพูด ประชาชนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม ท่านลงพื้นที่ถี่ยิบ เดินสายหนักขนาดนี้ เพื่อรับฟังการแก้ไขปัญหาประชาชนเท่านั้นจริงหรือ อยู่ที่ทำเนียบฯ ไม่มีกระบวนการหรือช่องทางในการรับฟังปัญหาประชาชนหรือ
"อยู่มา 4 ปี แทนที่จะกระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ท่านกลับรวบอำนาจมาไว้กับท่านหรือไม่ ทำไมเพิ่งคิด หรือมาลงพื้นที่หนักตอนนี้ ถ้าท่านมั่นใจในผลงาน ว่าสิ่งที่ทำมาประชาชนได้รับประโยชน์ ก็เลือกตั้งได้แล้ว ระยะเวลาที่ยาวนาน ไม่ใช่การการันตีว่าจะสามารถครองใจประชาชนได้ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งของประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ"
นายอนุสรณ์กล่าวว่า วันนี้ประชาชนมีคำตอบในใจหมดแล้ว รอเพียงคูหาเลือกตั้งเปิด และไม่มีใครมาชัตดาวน์ล้มการเลือกตั้ง คำตอบจากการตัดสินใจของประชาชนก็จะปรากฏชัด แทนที่จะเอาเวลาไปทำอีเวนต์ทางการเมืองที่สิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาของประเทศ หรือไม่เอาเวลามาเตรียมการนำประเทศกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากลที่สมบูรณ์ ปลดล็อกพรรคการเมืองให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ รับสมัครสมาชิกใหม่ จัดประชุม รับฟังความเห็นเพื่อการกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของประชาชนจะดีกว่าหรือไม่
"ขนาดท่านจัดรายการมา 4 ปี เป็นทีวีบังคับดู วิทยุบังคับฟัง แต่ก็ยังบ่นว่าประชาชนไม่เข้าใจ ท่านต้องสำรวจตัวเอง เกิดจากคนไม่ดู หรือดูแต่ไม่เข้าใจหรือไม่ ดังนั้นวิธีการทำอีเวนต์นำการเมือง ยึดครองพื้นที่สื่อมากๆ อาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องและตอบโจทย์ประเทศ การที่ฝ่ายการเมืองไม่ยอมให้ดูด เพราะเขาประเมินแล้วว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นถ้ารอจนกว่าจะดูดให้หมดจนหนำใจแล้วค่อยเลือกตั้ง ท่านคิดว่ามันเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่" นายอนุสรณ์กล่าว
แนะลงใต้แทน
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในหลักการว่า รัฐบาลต้องเดินทางไปได้ทุกพื้นที่ของประเทศ การประชุม ครม.สัญจรถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายบริหารเข้าถึงประชาชนและสภาพปัญหาในส่วนภูมิภาค ถ้าใช้งบประมาณสมเหตุสมผลก็ถือเป็นการฉีดเม็ดเงินเข้ากลุ่มจังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่
ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นการเดินสายดูดนักการเมืองกลุ่มต่างๆ นั้น คิดว่าถ้าจะดูดกันจริง ต้องรู้เห็นเป็นใจกันทั้งฝ่ายดูดและฝ่ายถูกดูด ตกลงกันที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไล่ทำให้เอิกเกริกเป็นรายจังหวัด เว้นแต่เป็นเจตนาทางการเมือง เช่น ฝ่ายดูดต้องการให้เห็นว่าประชาชนชื่นชอบมาต้อนรับล้นหลาม ส่วนอีกฝ่ายก็มีพื้นที่แสดงพลังทางการเมืองสร้างน้ำหนักก่อนเห็นผลเลือกตั้ง
แกนนำ นปช.กล่าวว่า โปรแกรมต่อไปถ้าไม่สะดวกที่ จ.สระแก้ว เพราะคนในฝ่ายรัฐบาลจุดพลุผิดคิว โพสต์ข้อความเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่นักการเมืองในพื้นที่ไม่ได้คิดตรงกัน ขอเสนอให้นายกฯ นำคณะลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อดูแลปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งราคาพืชผล กิจการประมง และอื่นๆ
ส่วนเรื่องการต้อนรับ เชื่อว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ นักการเมืองคนสำคัญของจังหวัดซึ่งประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก่อนใคร น่าจะจัดการได้ไม่น้อยหน้านายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่ จ.บุรีรัมย์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จะได้สัมผัสการลงพื้นที่ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง
"ผมไม่เคยเชื่อว่าแผนสืบทอดอำนาจจะสำเร็จได้ด้วยการดูด เพราะที่ขยับกันอยู่ตอนนี้ ทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจและนักการเมืองคือมือข้างเดียว จะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่มืออีกข้าง คือมือประชาชนที่หมายมั่นปั้นมือจะแสดงออกในการเลือกตั้ง ตบมือข้างเดียวยังไงก็ไม่ดัง เชื่อว่าตอนนี้ทั่วโลกก็กำลังรอฟังเสียงมือประชาชนไทย" แกนนำ นปช.กล่าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน นายกฯ ควรเอาเวลาระดมคนมาหาทางออกให้ประเทศจะดีกว่า ไม่ควรไปทำการเมืองแบบเก่าๆ ที่ท่านเคยโจมตี มันไม่มีประโยชน์ที่จะวิ่งไปตกปลาในอ่างคนอื่นเพื่อดึงคนนั้นมาคนนี้มาเพื่อสืบทอดอำนาจ สู้เอาเวลาไปแก้ปัญหาให้ประชาชนจะดีกว่า ถ้าผลงานดีเขาก็เลือกท่านเอง เอาผลงานมาสู้กันดีกว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่มีอะไรต้องกังวล คนของพรรคยังยึดกับประชาชน จะดูดอย่างไรก็ไม่สามารถดำเนินการได้
ป๋าเหนาะยังอยู่
เมื่อถามถึงกระแสดูดนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทยกลุ่มวังน้ำเย็นนั้น นายภูมิธรรมตอบว่า นายเสนาะเป็นบุคลากรอาวุโสของพรรคเพื่อไทย ดูแลเอาใจใส่และให้คำแนะนำพรรคมาตลอด แต่มีใครบางคนอยากได้ประโยชน์โดยสร้างความระแวงคลางแคลงใจภายในพรรค ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรกับพรรคเพื่อไทย ลูกชายนายเสนาะ ทั้งสองคนยังคงทำงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ในวันยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค นายเสนาะก็แสดงออกชัดเจนว่ายังอยู่กับพรรค โดยเป็นผู้ใหญ่ให้สมาชิกพรรครดน้ำขอพร จึงแปลกใจที่มีคนออกมาทำให้เป็นประเด็น
ซักว่านายเสนาะสนิทกับทางทหารบูรพาพยัคฆ์ รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทยตอบว่า นายเสนาะยังไม่แสดงท่าทีอะไรออกมาในเรื่องนี้ คงต้องไปตั้งคำถามกับคนปล่อยข่าวว่ามีความปรารถนาอะไร นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ทำงานให้ พล.อ.ประวิตร แสดงว่าพล.อ.ประวิตรกำลังทำงานให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อหรือไม่ คงต้องไปถามทั้งคู่ว่าคิดอะไรอยู่ที่ทำเช่นนี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวไม่ได้คิดอะไร และเห็นว่าใครจะทำอะไรประชาชนมองอยู่ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งใจเดินหน้าในส่วนของพรรค โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดตอนนี้คือการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ในเรื่องของนโยบายที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในอนาคต จึงไม่รู้สึกกังวลในเรื่องนี้แต่อย่างใด
เขากล่าวว่า ขณะนี้เรามองไปมากกว่าการมีการเลือกตั้ง คือเราหวังว่ามีการเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้า หากมีการเลือกตั้งแล้วกลับไปสู่ผลแบบวันเก่าๆ ในเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจต่อรอง อย่างนั้นประชาชนจะไม่ได้อะไร
ถามว่า ขณะนี้มีการดูดสมาชิกแต่ละพรรคไปจำนวนหนึ่ง จะทำให้มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตหลังการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า คนที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลยังคงเป็นประชาชน และส่วนตัวมองว่าประชาชนมีความหวังว่าหากมีการเลือกตั้งกันเกิดขึ้นจริง การเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นใครที่อยู่ในกรอบของแนวความคิดเก่าๆ ในเรื่องของการเอาผลประโยชน์มาต่อรองกัน เชื่อว่าประชาชนคงไม่ให้การสนับสนุน
ส่วนการดูแลสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ยังมีความหนักแน่นในเรื่องของอุดมการณ์ และมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่อยากมาร่วมงานกับพรรค ดังนั้นจึงไม่รู้สึกกังวลข่าวที่ว่ามีสมาชิกพรรคจะถูกดูด และหลังการเลือกตั้งแล้วการเมืองจะกลับเข้าสู่วังวนเดิม เพราะเชื่อว่าประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ
เชื่อเป็นรัฐบาลผสม
นายวันชัย สอนศิริ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า หลังเลือกตั้งสิ่งที่ไม่คาดคิดและไม่เคยเห็นจะได้เห็น เพราะการเมืองยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การเมืองแบบเก่า นำคนมาชุมนุมประท้วงแบบเดิมคงทำไม่ได้อีก เพราะประชาชนเบื่อหน่ายกับการทะเลาะเบาะแว้ง ทุกคนรู้ว่าในทางการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นักการเมืองทุกคนอยากเป็นรัฐบาล ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน
เขากล่าวว่า ถ้าดูจากข้อเท็จจริงและรัฐธรรมนูญ พอรู้อยู่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล พวกที่โจมตีคอยดูหลังเลือกตั้งอาจมาเป็นรัฐบาลร่วมกับเขา ตนจึงบอกว่าสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดอาจเกิดขึ้นได้หลังเลือกตั้ง เพราะคนที่จะมาเป็นรัฐบาลนั้น ต้องเกิดขึ้นจาก 3 ส่วน คือ 1.จากการเลือกตั้ง 2.จากการทหาร 3.จากอำนาจพิเศษที่มาจากการเห็นพ้องต้องกันของประชาชน ทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นตัวกำหนดรัฐบาล โดยเฉพาะอำนาจพิเศษที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก
"คอยดูจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ที่มองว่าใช่อาจไม่ใช่ สิ่งที่ว่าไม่ใช่อาจจะใช่ก็ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่า การเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นการประนอมอำนาจกันของฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหาร จึงต้องร่วมกันประคับ ประคองในระยะเปลี่ยนผ่าน จะดึงดันสุดโต่งเกินไปไม่ได้ ต้องร่วมมือกันให้บ้านเมืองเดินต่อไป ดังนั้นขอฟันธงว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่เหมือนเก่าแน่นอน แต่จะผสมผสานกันอย่างลงตัว เผลอๆ อาจพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินยิ่งกว่ามาเลเซียเสียอีก" นายวันชัยกล่าว
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงการเลือกตั้งปี 62 ว่า จะเป็นการต่อสู้ของ 2 พรรคใหญ่ ระหว่างพรรคทหารกับพรรคเพื่อไทย โดยจะแตกต่างจากการต่อสู้การเมืองในอดีต เพราะจะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองและเครือข่าย คือพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนทหาร และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี กับอีกหลายพรรคการเมืองที่ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะเป็นพรรคเครือข่ายพรรคเพื่อไทย
สะพัดแสนล้าน
ดังนั้น ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดที่สุด เงินอาจจะสะพัดเป็นแสนล้านบาท โดยมองจากฝ่าย นายทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทย สงครามครั้งนี้จะเป็นสงครามครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ทุ่มเต็มที่อาจจะไม่มีโอกาสกลับเข้ามาอีก ส่วนพรรคทหารมีเป้าหมายคือ ให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็จะต้องทุ่มเททุกวิถีทาง ด้านพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้จะเป็นตัวรอง แต่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด หากเข้าร่วมกับพรรคใด พรรคนั้นจะมีโอกาสเป็นรัฐบาล
เขากล่าวว่า ในการเลือกตั้งปี 54 พรรคเพื่อไทยเคยได้คะแนน ส.ส.สัดส่วนทั้งประเทศ เกือบร้อยละ 50 ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 62 พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามรักษาเป้าของตนเองไว้ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ จะมีการนับคะแนนเสียงของคะแนนส.ส.เขตแพ้ แต่คะแนนไม่หายไป แม้จะเกิดพรรคเล็ก หรือแรงกดดันจากพรรคทหาร หรือมีพลังดูดพรรคทหาร ซึ่งจะส่งผลให้คะแนนสัดส่วนพรรคเพื่อไทยลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะต้องเร่งให้ได้คะแนนส.ส.สัดส่วนเกือบร้อยละ 50 เท่าเดิม
"ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยก็จะใช้กลยุทธ์ทุ่มเต็มที่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่หลัก เช่น ภาคใต้เกือบ 50 เขตเลือกตั้ง ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทุ่มเทจริงจริงจัง เพราะถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในอดีต ทุ่มเทแค่ไหน ทุ่มไปก็ไม่ชนะพรรคประชาธิปัตย์ หากพรรคเพื่อไทยได้สัดส่วน ส.ส.ร้อยละ 48 แสดงว่าจำนวน ส.ส.ทั้งสภาจะเกือบ 250 คน นั่นคือเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยต้องทำ” นพ.ระวีกล่าว
นพ.ระวีกล่าวต่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถทำจำนวน ส.ส.สัดส่วนและเขตได้มากกว่า 230 เสียง เมื่อไปรวมกับพรรคเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย จะทำให้พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายได้ ส.ส.มากกว่า 250 คน ดังนั้นตัวเลข 230 เสียงของพรรคเพื่อไทยจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนในเท่านั้น คาดการณ์ได้เลยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนในแน่นอน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายรวมกันได้คะแนนมากกว่า 300 เสียง ผลคือโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เสียงของส.ว.มาบีบเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ยาก ไม่มีความชอบธรรม ดังนั้น ถ้าได้มากกว่า 300 เสียง จะส่งผลให้พรรคที่รอเสียบทั้งหลายมารวมกับพรรคเพื่อไทย โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ เป็นไปได้ยาก
เมื่อถามถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่จะตั้งพรรคกปปส.ขึ้นมาลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้นั้น นพ.ระวีกล่าวว่า จะเกิดการแย่งคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งประเทศ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้คะแนนเสียงต่ำกว่าร้อย แต่หลักการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแปรหลักในการจัดตั้งรัฐบาล คือหากพรรคประชาธิปัตย์เลือกอยู่ข้างพรรคใด พรรคนั้นก็มีโอกาสเป็นรัฐบาล เช่น ไปรวมพรรคทหาร หรือพรรคเครือข่ายทหาร พล.อ.ประยุทธ์ก็จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้
พรรคทหารไม่มีจริง
แต่ขณะเดียวกัน หากพรรคประชาธิปัตย์เลือกไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย คาดว่าคะแนนเสียงอาจจะได้เกิน 300 ถึง 350 เสียง แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะมีส.ว.250 เสียง และ ส.ส.150 เสียง รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของสภา แต่ความชอบธรรมสำหรับการเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างสูง ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ พรรคเพื่อไทยจะยินยอมให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดพรรคทหารก่อน ปล่อยให้ ปชป.เป็นนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทยก็จะร่วมรัฐบาลไปก่อน อนาคตเพื่อไทยก็สามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยาก ดังนั้น ตัวแปรหลักจะมีส่วนสำคัญอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ด้วย
พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย เปิดเผยว่า หลังการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคในวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนจะเดินหน้านโยบายของพรรค เพราะนโยบายของเราจะไม่เหมือนใครหรือพรรคใด เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งเป้าไว้คือมุ่งเปลี่ยนประเทศ ซึ่งตนได้รับฟังความเห็นจากอดีตนายกฯ นักการเมือง ประชาชนทุกภาคส่วน รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ถือว่าเป็นผู้ที่รู้สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศมากกว่าใคร
ทั้งนี้ เราจะส่งผู้สมัครครบทุกเขต ตั้งเป้าว่าจะต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 300 ที่นั่ง ซึ่งผู้สมัครของพรรคจะมีคนรุ่นใหม่ร้อยละ 80 และเป็นคนรุ่นเก่าร้อยละ 20 เป็นพรรคการเมืองสีขาว ไม่สาดโคลนหรือเป็นศัตรูกับพรรคใด จะเป็นมิตรกับทุกคนทุกพรรค เน้นสร้างความปรองดอง
“ยืนยันว่าพรรคทหารไม่มีจริง เพราะเมื่อเลือกตั้งก็เข้าสู่โหมดประชาธิปไตย ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเลือกว่าใครจะเป็นนายกฯ ใครที่จะมาเป็นนายกฯ หรือนายกฯ คนนอก จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน มีอุดมการณ์ทำเพื่อชาติ ดี เก่งกล้า จริงใจ ซื่อสัตย์กับประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีคุณสมบัติครบ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ประชาชน ถ้าประชาชนเลือก ผมก็ยินดี” พล.ต.ทรงกลดกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |