“รมว.ทส” ขออภัยชาว กทม. โดนรมควัน PM 2.5 แจงเหตุเกิดจากเผาไหม้นอกพื้นที่ ประกอบกับกระแสลม "ปรากฏการณ์ฝาชีครอบ" ความกดอากาศต่ำมากทะลัก อธิบดีฯ คพ.เตือน ระวังค่าฝุ่นสูงจนถึงวันที่ 26 ม.ค. พร้อมดึงแอปพลิเคชันควบคุมการเผาในที่โล่ง คาดเกิดฝุ่นพีกสูงสุดอีก 2 ครั้ง
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. เวลา 09.10 น. ที่รัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีปริมาณมาก ว่า ต้องกราบขออภัยพี่น้องชาว กทม.ที่ตื่นมาแล้วพบกับสภาพอาการที่ขมุกขมัว เนื่องจากตามสภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ว่าในช่วง 4-5 วันจากนี้ไปเป็นช่วงที่ลมค่อนข้างสงบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝาชีครอบในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเหตุทำให้มีฝุ่นมากขณะนี้ ซึ่งแม้ปริมาณการใช้รถในกรุงเทพฯ จะลดลง แต่ปริมาณฝุ่น PM 2.5 กลับไม่ลด เพราะได้รับอิทธิพลจากการเผาไหม้ในพื้นที่โล่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร มาจากทางตอนเหนือและทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้สั่งการไปยังเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ พร้อมกำชับผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้เผาเศษพืช เช่น อ้อย ฟางข้าว หากไม่ได้ผลในอนาคตอาจจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น แต่จากการเผาที่เกิดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ บวกกับกระแสลม จึงทำให้เกิดสถานการณ์หมอกควันที่ค่อนข้างจะรุนแรงในวันนี้ (21 ม.ค.)
นายวราวุธกล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นหากยังมีฝุ่น PM 2.5 กระทบอยู่มากอาจจะต้องมีการปิดโรงเรียน โดยทางกระทรวงศึกษาได้มอบให้ผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละพื้นที่ พิจารณาว่าจะเลื่อนเวลาเปิดเรียน หรือหยุดเรียนชั่วคราวในช่วง 2-3 วันนี้หรือไม่ เพราะการปิดเรียนเป็นการป้องกันปัญหา ในส่วนแต่ละจังหวัดก็ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจว่าจะสั่งเกษตรกรห้ามเผา หรือจะออกเป็นนโยบายภาพรวมทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่อาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะแต่ละจังหวัดมีปัญหาจุดกำเนิด PM 2.5 และหมอกควันที่ต่างกัน บางจังหวัดเกิดจากพื้นที่การเกษตร บางจังหวัดเกิดจากพื้นที่ป่า ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่ช่วงเผาป่า จึงเป็นหมอกควันจากการเผาพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีนโยบายในการส่งเสริมเกษตรกรนำเศษพืช ทั้งซังอ้อย ซังข้าวโพด ฟางข้าว มาอัดก้อนขายแทนการเผา เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง จึงอยากให้เกษตรกรเลือกว่าจะเอาเงิน หรือจะเผาเงินทิ้ง
"ช่วงนี้นอกจากเป็นช่วงโควิด-19 แล้ว เรายังต้องใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการสูดดมเอาควันเข้าไป และลดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน ขอให้ใช้หน้ากากป้องกันในช่วง 3-4 วันนี้ และเมื่อพ้นจากช่วงนี้ไปแล้วจะมีลมพัดมาใหม่จะทำให้ปริมาณควันที่เกิดขึ้นกระจายตัวออกไป และต้องขอบคุณกรมอุตุฯ ที่พยากรณ์อากาศได้แม่นยำ ทำให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาฝุ่นที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ ทั้งนี้จากธรรมชาติบวกกับพื้นที่กรุงเทพฯ มีตึกสูงจำนวนมาก และลมที่พัดเข้ามาจากทั่วสารทิศจะมาหยุดอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ฝุ่นที่พัดมาจากต่างจังหวัดมาหยุดอยู่ที่กรุงเทพฯ และไม่ได้กระจายตัวไปไหน" นายวราวุธกล่าว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่ายังคงเฝ้าระวังค่าฝุ่น PM 2.5 และค่าฝุ่น PM 10 ปรับตัวสูงขึ้นในลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 26 ม.ค. โดยช่วงเช้าอากาศจะขมุกขมัว อากาศนิ่ง ลมสงบ และเกิดความกดอากาศในรูปแบบฝาชีครอบ โดยวันนี้อากาศกดต่ำมากถึง 2,040 เมตร จนฝุ่นเกิดการสะสมตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ จึงได้ข้อความร่วมมือประชาชนทุกคนช่วยกันลดฝุ่นละอองด้วยการงดการเผาในที่โล่ง จอดรถดับเครื่องยนต์ เฝ้าระวังและรักษาสุขภาพ และลดการใช้ยานพาหนะช่วงนี้จนถึงวันที่ 23 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่ ฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ เนื่องจากในเขตเมืองนอกจากได้รับผลกระทบจากรถยนต์แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการเผาในที่โล่งของการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมจากจังหวัดรอบนอกที่พัดพาฝุ่นเข้ามาสะสมในเขตเมืองมากขึ้นด้วย ทำให้ คพ.ได้ทำแอปพลิเคชันบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผามาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะระบุเรื่องความพร้อมของสภาพอากาศมาใช้ควบคุมและจัดระเบียบการเผาในแต่ละพื้นที่ด้วย เพื่อให้แต่ละจังหวัดตัดสินใจกำหนดพื้นที่เผาที่ไม่กระทบให้ค่าฝุ่นรุนแรงขึ้นได้
"ภาพรวมค่าฝุ่นปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 20 จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่บังคับและเข้มงวดขึ้นซึ่งเทียบจากจำนวนวันที่เกิดฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบช่วงการเกิดสะสมตัวของฝุ่นสั้นลงและความเข้มของฝุ่นลดลง (ระดับสีแดง) ด้วยความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันลดแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น กรุงเทพมหานคร ได้ควบคุมดูแลภาคการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางยกระดับรถไฟฟ้าสายต่างๆ ไซต์งานก่อสร้าง และช่วงเวลากลางคืนได้ฉีดพ่นน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการเกิดและสะสมของฝุ่น"
อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า ภาพรวมค่าเฉลี่ยฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลง ทั้งค่าเฉลี่ยรายวันและรายปี พบปีนี้ค่าเฉลี่ยรายปีลดลงอยู่ที่ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 25-26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของประชาชนและการจราจรทั่วทุกภาคของประเทศ จึงต้องแก้ปัญหาโดยไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนด้วยเช่นกันถึงจะประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้คาดการณ์ปีนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเกิดฝุ่นปรับตัวขึ้นพีกสูงสุด 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 วัน ขณะนี้เกิดไปแล้ว 4 ครั้ง ดูจากปัจจัยสภาพอากาศ ความเร็วลม อัตราการลอยตัวของอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ คาดว่าจะไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นฝุ่นจะขยับไปรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศตามทิศทางสภาพอากาศตามฤดูกาล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |