ท่องเที่ยวดีต้องใส่ใจชุมชน


เพิ่มเพื่อน    


     ช่วงเวลาที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวเมือง Hallstatt ประเทศออสเตรีย เป็นเมืองเล็กๆ สงบเงียบริมน้ำที่มีภูเขาสูงโอบโดยรอบ ทำให้เป็นเมืองที่มีวิวสวย ใครไปถึงเมืองนี้ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่มีสนามบิน แต่การเดินทางไปเมืองนี้ง่ายและเป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะนั่งรถไฟไปลงสถานีที่มีชื่อว่า Hallstatt แล้วนั่งเรือข้ามน้ำไปยังเมือง ตลอดระยะเวลาที่นั่งอยู่บนเรือ มองดูวิวก็ดูงามเหลือเกิน เมื่อถึงท่าเทียบเรือขึ้นไปเมือง Hallstatt ก็จะถึงบริเวณ Market Square ที่เป็นพื้นที่กว้างรายล้อมไปด้วยโรงแรมและร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของเมือง เป็นเรือนไม้หลายชั้น มีระเบียงปลูกต้นไม้ในแต่ละชั้น ดอกไม้ตามระเบียงดูสวยงามมาก จากท่าเทียบเรือลากกระเป๋าไปโรงแรมได้สบายๆ ประมาณ 3-5 นาทีตามแต่ว่าพักที่โรงแรมไหน ทางที่เดินจากท่าเทียบเรือไปโรงแรมก็มีความงามคุ้มกับที่จะเดินผ่านโดยไม่รู้สึกเหนื่อย
     โรงแรมที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเก่า แม้จะมีหลายหลังก็มีรูปแบบที่กลมกลืนกัน ไม่มีตึกที่ดูเป็นตึกทันสมัยให้เสียบรรยากาศ ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการเขาร่วมมือกันดีที่จะรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ ต่างจากประเทศไทยเรา เวลาพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ผู้ประกอบการที่ไปลงทุนต่างคนต่างทำ ไม่มีการวางแผนร่วมกันแบบบูรณาการ ลักษณะของโรงแรมและร้านอาหารที่อยู่บริเวณเดียวกันก็จะไม่มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน เข้าใจว่าคนในชุมชนของ Hallstatt น่าจะมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพราะนอกจากอาคารเชิงพาณิชย์ที่มีลักษณะกลมกลืนกันแล้ว บ้านพักที่อยู่อาศัยในเมืองนี้ก็เป็นอาคารไม้ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับอาคารพาณิชย์ทั้งหลายด้วย ทำให้แค่อาคารทั้งหลายในพื้นที่กลายเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีกเลย เพราะบรรยากาศของพื้นที่ที่เกิดจากแม่น้ำ ภูเขา และอาคารต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจและอยู่อาศัยกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน Hallstatt เมืองใดของไทยที่ผู้ประกอบการและชุมชนร่วมมือกันแบบบูรณาการเยี่ยงนี้บ้าง
     นอกจากความสวยงามของธรรมชาติและสถาปัตยกรรมแล้ว Hallstatt ยังเป็นเมืองที่บรรยากาศดี ทั้งด้านความสะอาด มีรถยนต์น้อย แม้จะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนเป็นจำนวนมากก็ยังมีพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการหาความสงบด้วยการนั่งริมน้ำ กินอาหาร จิบกาแฟ หรือนั่งเรือเที่ยวเล่นบนพื้นน้ำที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา มองทิวทัศน์โดยรอบก็ได้ความสงบเงียบที่ต้องการแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมีมาก ทำให้ไม่มีพื้นที่ใดที่มีนักท่องเที่ยวมากจนกลายเป็นความอึดอัด จะมีบ้างก็คือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาจากบางประเทศ (คงไม่ต้องบอกนะคะว่ามาจากประเทศไหน) ที่มักจะพูดจาเอะอะมะเทิ่งเสียงดัง ไม่มีวินัย ไม่เคารพสิทธิของคนอื่น เข้าคิวไม่เป็น อยากทำอะไรตรงไหนก็ทำขวางทางชาวบ้าน จนกระทั่งทำให้คนในชุมชนทนไม่ได้และมีพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงความไม่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว การคล้องโซ่ทางเข้าบ้านและเขียนป้ายว่าพื้นที่ส่วนบุคคลห้ามเข้า นอกจากนั้นบริเวณที่วิวสวยและมีคนไปถ่ายรูปกันจำนวนมากก็จะมีป้ายว่า Point of Silence บ้าง Quiet Zone บ้าง ต้นไม้หน้าบ้านทั้งๆ ที่เป็นไม้ยืนต้นแข็งแรงยังมีการเอารั้วเหล็กล้อมต้นไม้ และมีป้ายห้ามถ่ายรูปอีกด้วย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง (น่าจะเป็นผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว) ไม่พอใจที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน Hallstatt เป็นจำนวนมาก เพราะส่งเสียงดัง ถ่ายรูปไม่เลือกที่ และทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ทำให้เราต้องตระหนักว่าในการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับชุมชน ต้องให้พวกเขาได้เสนอแนะ ต้องมีการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม และจะต้องไม่ทำลายวิถีชีวิตของคนในชุมชน หากไม่มีการพิจารณาข้อเสนอของคนในชุมชนแล้วคนในชุมชนก็จะเป็นปรปักษ์กับนักท่องเที่ยว มีการแสดงออกที่ไม่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเหมือนอย่างป้ายต่างๆ ที่ติดอยู่ตามหน้าบ้านของคนในพื้นที่
     สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนนั้น ถ้าหากคนในชุมชนไม่ได้ประโยชน์อะไรในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรให้พวกเขาต้องเสียอะไรบางอย่างไป เช่น เสียความสงบสุขที่เคยมีเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป และมีพฤติกรรมที่ก่อกวนความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ความเป็นส่วนตัวที่หายไปเพราะนักท่องเที่ยวบุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล การจราจรที่ติดขัดเพราะจำนวนรถทัวร์และรถส่วนตัวของนักท่องเที่ยว หรือความสะอาดของพื้นที่ต้องหายไปเพราะขยะที่เกิดจากพฤติกรรมมักง่ายของนักท่องเที่ยว ความเป็นธรรมชาติที่หายไปเพราะการสร้างถนนและการพัฒนาธุรกิจที่ทำลายเสน่ห์ของความงามแห่งธรรมชาติของพื้นที่ สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ทำให้วิถีชีวิตตามรูปแบบของวัฒนธรรมที่สืบสานกันมานานต้องสูญเสียไป รวมทั้งอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในพื้นที่ควรได้รับการอนุรักษ์อย่าให้สูญเสียไป เพราะการพัฒนาโรงแรมและร้านค้าทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสูญเสียที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเพราะการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากการพัฒนาและการส่งเสริมที่ไม่ทำให้คนในชุมชนสูญเสียแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาควรต้องหาทางให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการเติบโตของการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยดุลยภาพระหว่างการเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน กับการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้องให้ความสำคัญ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวตามปรัชญาของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องบูรณาการคณะทำงานทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้าง “ประสบการณ์ที่ประทับใจ” ให้แก่นักท่องเที่ยว โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์อันทรงเสน่ห์ของพื้นที่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"