ภาพ : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามกลุ่มอายุ
องค์กรภาคประชาชน Blue Cross Blue Shield Association เสนอรายงานล่าสุดว่าชาวอเมริกันเป็นโรคซึมเศร้า (major depression) มากขึ้น ในช่วงเวลา 3 ปี (2013-2016) พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 ปัจจุบันคนอเมริกันที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีกว่า 9 ล้านคน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มวัย ที่เพิ่มมากสุดคือกลุ่มวัยรุ่น (adolescent) เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 ส่วนกลุ่ม millennials (หรือกลุ่ม Gen Me) เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 มีข้อมูลว่าคน Gen Me คือพวกที่เกิดช่วงปี 1980-2000 ปัจจุบันคือพวกที่มีอายุตั้งแต่ 18-38 ปี (เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ถึงวัยกลางคน) คนพวกนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง ในอเมริกาคนเหล่านี้มักจะมีการศึกษาค่อนข้างสูง ถนัดใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและมักเปลี่ยนงานบ่อย ไม่ยึดติดกับสถานที่ทำงาน
ในภาพรวม ผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าชายถึง 2 เท่า ในบรรดาโรคภัยทั้งหลาย จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ลำดับ 2 รองจากโรคความดันสูงเท่านั้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล อธิบายว่า “ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว”
“การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ที่จิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม”
“ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว”
การที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัจจัยทางสังคม อีกส่วนหนึ่งเพราะในระยะหลังวงการสาธารณสุขตื่นตัวเรื่องนี้ เพิ่มความสำคัญกับการตรวจคัดกรองว่าใครที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหรือไม่
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในความมืด หลายคนเป็นแต่ไม่แสดงตัว ไม่ได้รับการรักษา ปัญหาที่ตามมา เช่น อัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้น ข้อมูลจาก U.S. Centers for Disease Control and Prevention ระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนวัย 10-34 ปี
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉลี่ยปีละ 10,000 ดอลลาร์ ในขณะที่คนปกติจะเสียเพียง 4,300 ดอลลาร์ เพราะผู้ป่วยซึมเศร้ามักเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เสมอ ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักพบโรคเรื้อรังร้ายแรงอย่างน้อยหนึ่งโรค จะเห็นว่าโรคซึมเศร้ามักเกิดควบคู่กับโรคเรื้อรังร้ายแรง
นักวิชาการประเมินว่าการที่คนวัยรุ่นและวัย Gen Me ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากจะส่งผลต่ออนาคตของประเทศ โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น
ในอนาคต โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุสำคัญให้คนอายุสั้นลง
รายงานของ Blue Cross Blue Shield Association ตอกย้ำข้อสรุปของกลุ่มอื่น เช่น Cigna ที่ระบุว่าคนอเมริกันจำนวนมากรู้สึกเหงา อ้างว้าง (lonely) American Psychiatric Association รายงานว่าคนอเมริกันร้อยละ 40 เครียดกังวล (anxious) มากกว่าปีก่อน
ในขณะที่สังคมอเมริกันมีคนป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอย่างน้อย 9 ล้านคน อีกจำนวนมากยังไม่ถึงขึ้นเป็นโรคแต่มักมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง ชีวิตอยู่อย่างไร้ความหวัง แม้ไม่เป็นโรคแต่อยู่ในภาวะเป็นทุกข์ จำต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน
สังคมป่วยมานาน :
สังคมอเมริกันมีปัญหาคนเป็นโรคซึมเศร้าหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าเครียดกังวลมานานแล้ว บางคนกินยาคลายเครียด ดื่มเหล้า เสพยาเพราะปัญหาซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ฯลฯ
ความสำคัญของงานวิจัยไม่ใช่เพียงเรื่องจำนวนคนเจ็บป่วย ผลจากการเจ็บป่วยเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องรักษา ที่สำคัญกว่าคือการตระหนักและยอมรับว่า “สังคมกำลังป่วยทางจิต”
หากประเทศยังมุ่งรักษาแต่โรคทางกาย (ซึ่งสำคัญ) ละเลยโรคทางจิตใจ การมีชีวิตคือความทุกข์สาหัสที่คงอยู่ไม่จบสิ้น เป็นเหตุผลที่ยาคลายเครียด ยานอนหลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หลายคนอาศัยเหล้าเบียร์บรรเทาทุกข์ในใจอย่างน้อยช่วยให้หายเครียดสักคืนก็ยังดี ร้ายแรงกว่านั้นคือเสพยา สังคมอเมริกันมียาเสพติดทุกชนิดในโลก เป็น “สังคมติดยา” แต่ รัฐบาลไม่ค่อยเอ่ยเรื่องทำนองนี้ มัวแต่พูดเรื่องอื่นๆ ที่บางเรื่องกระตุ้นให้คนซึมเศร้าวิตกกังวลยิ่งขึ้น
ความสำเร็จของชาติ ไม่ใช่เพียงอยู่รอดปลอดภัย คนมีกินมีใช้ แต่ต้องมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย จะมีประโยชน์เพียงไรหากยังมีชีวิต อิ่มท้อง แต่ทุกข์ใจ ดำเนินชีวิตแต่ละวันด้วยความเหงา อ้างว้าง บางรายวิตกกังวล เครียด เห็นว่าชีวิตไร้ความหมาย เป็นคนไร้ค่า
การรักษาประเทศให้ปลอดภัย คนมีกินมีใช้ก็เพื่อ “ความสุข” ไม่ใช่หรือ คำว่า “อยู่ดีมีสุข” (Well-being) จะต้องวัดผลที่ความสุขใจด้วย
ถ้าจะปฏิรูปประเทศ เป้าหมายการปฏิรูปจะต้องสร้างความ “สุขใจ” ควบคู่กับ “สุขกาย” ให้ประชาชน “สุขกายสบายใจ”
พรรคการเมือง นักการเมืองที่มุ่งให้ประชาชน “สุขกายสบายใจ” จึงควรสนับสนุนอย่างยิ่ง ดีกว่าพูดถึงแต่จีดีพี (GDP) ตัวเลขส่งออกโตเท่านั้นเท่านี้ แต่ทำไมคนจำนวนมากยังยากจน ทุกข์ใจ
ดูแลครอบครัว ฉีดวัคซีนป้องกันป่วยทางจิต :
ความจริงที่ควรตระหนักคือ ถ้าคนหนึ่งในครอบครัวเจ็บป่วยจะกระทบทุกคนในบ้าน เกิดภาระค่ารักษาพยาบาล อาจต้องมีคนเสียสละแบ่งเวลาดูแลผู้ป่วย
ปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกันโรค เด็กๆ ได้รับการฉีดวัคซีนสารพัดโรค ที่ควรตระหนักและสำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างภูมิคุ้มกันโรคป่วยทางจิต
พ่อแม่ผู้ปกครองคือบุคคลสำคัญที่ต้องทำหน้าที่นี้ เริ่มจากการที่ท่านไม่เป็นผู้ป่วยทางจิต ไม่เป็นเหตุทำร้ายคนในบ้านเพราะท่านป่วย หากท่านแสดงอาการป่วยออกมาพลอยทำให้ทุกคนในบ้านมีปัญหาไปด้วย
พ่อแม่ที่สุขภาพจิตสมบูรณ์จึงสามารถนำพาครอบครัวให้ “สุขกายสบายใจ”
หากคิดว่าปากท้องสำคัญ ต้องนำพาทุกคนในครอบครัวให้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย จะมีประโยชน์อย่างไรที่เลี้ยงลูกให้โตแต่ขาดความรักความอบอุ่น สุดท้ายเด็กหลายคนกลายเป็นคนเกเร เสียอนาคต เป็นปัญหาสังคม
เหตุผลที่เด็กหลายคนมีปัญหาซึมเศร้ารู้สึกตนไร้ค่าก็ด้วยผลจากครอบครัวโดยตรง
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอดส่องลูกหลานตนเอง ให้ความรักความอบอุ่นแก่สมาชิกในครอบครัว เพราะ “ความรักความอบอุ่นคืออาหารทางใจ” ที่ไม่อาจทดแทนได้ด้วยข้าว-เนื้อ-ผัก ของเล่น
วันนี้ท่านได้รับวัคซีนหรือยัง :
ถ้าป่วยเป็นโรคจำต้องรักษาทางการแพทย์ ในอีกด้านหนึ่งควรให้ความสำคัญกับการป้องกัน ดังประโยคที่ว่า “กันไว้ย่อมดีกว่าแก้”
วัคซีนป้องกันโรคทางกายมักอยู่ได้หลายปี แต่วัคซีนป้องกันทางใจอาจไม่คงทนเช่นนั้น ปัจจุบันมีผู้แนะนำหลายวิธีที่จะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น บางวิธีได้ผลมาก บางวิธีน้อย บางวิธีต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง บางวิธีเพียงแค่เดินเล่น นอนหลับพักผ่อน รวมความแล้ว แต่ละคนจะต้องเสาะหาวิธีที่ได้ผลกับตัวเองมากที่สุด เปิดใจกว้างเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ขอคำปรึกษารับคำแนะนำจากผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ
วัคซีนป้องกันโรคทางใจมักต้องอาศัยความต่อเนื่อง บางคนอาจไปท่องเที่ยว อ่านหนังสือ เดินเล่น นอน แสวงหาสัจธรรมชีวิต แบ่งเวลาทำประโยชน์เพื่อสังคม มีจิตสาธารณะ พาตัวเองออกจากกรอบเดิม ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด คำถามคือวันนี้ท่านได้รับวัคซีนอีกครั้งหรือไม่ สุขภาพจิตของท่านยังดีอยู่หรือไม่
หากเราให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตจะไม่หยุดแสวงหาวิธีที่ดีที่สุด และกินอาหารบำรุงสุขภาพจิตไม่ขาดเหมือนกินข้าวเลย
ไม่ว่าจะในกรอบประเทศชาติ ครอบครัวหรือปัจเจก สุขภาพจิตสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |